รายงานพิเศษ : ดูแลผู้พิการ
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้พิการกว่า 1,800,000 คน หรือร้อยละ 2 ของประชากรทั้งประเทศ การผลักดันให้ผู้พิการได้รับสิทธิ์ด้านการประกอบอาชีพ และการศึกษา คือสิ่งที่ภาครัฐพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้พิการทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่เท่าเทียมกับคนปกติทั่วไป
ท่ามกลางวัฎจักรสังคมที่ต่างคนต่างทำงานหาเลี้ยงชีพ ศึกษาหาความรู้ เพื่อความสุขสบายของชีวิต สำหรับคนปกติทั่วไป อาจดูเป็นเรื่องที่ต้องไขว่คว้าด้วยความยากลำบาก แต่หากเราทราบถึงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้พิการหลายๆ คนแล้ว ความเหนื่อยยากเหล่านั้น น่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยขึ้นมาทันที จากข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตกลางคนพิการรายงานการฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนผู้พิการล่าสุดมีจำนวนกว่า 1,800,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 2 ของประชากรทั้งประเทศ และยังมีอีกมากที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน และในกลุ่มผู้ขึ้นทะเบียนกว่า 8 แสนคน พิการทางการเคลื่อนไหว นั่นหมายถึงพวกเขา ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการใช้ชีวิต นายกิตติพงษ์ หาดทวายการญจน์ กรรมการบริหารสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการผลักดันให้ผู้พิการ มีสิทธิ์เท่าเทียมคนปกติทั่วประเทศว่า
“ปัญหาคือ เรื่องการศึกษา เพราะส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้เรียนสูงเนื่องจากสถานที่ บุคลากร ครู ที่ไม่ได้เตรียมความพร้อมไว้ บางส่วนที่ได้รับการศึกษาเข้าไปเรียนตามระบบ อีกส่วนหนึ่งประกอบอาชีพอิสระ เรามีเบี้ยคนพิการ 800 บาท แต่ไม่พอกับค่าใช้จ่าย เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจ จึงหันไปการค้าสลากก็ประสบปัญหาไม่ให้ขายเกินราคา ส่วนด้านสุขภาพ ภาพรวมยังใช้สิทธิ์แค่บัตรทอง และ สปสช. บางรายการเบิกอุปกรณ์ไม่ได้ ประสบปัญหาพอสมควร นอกจากคนทำงานจะมีเงินประกันสังคม”
นอกจากการศึกษาและการดูแลสุขภาพ ที่ภาครัฐต้องจัดมาตรการรองรับแล้ว สิ่งสำคัญคือการอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการใช้บริการระบบการเดินทางสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นรถประจำทาง รถไฟฟ้า ที่จอดรถ หรือแม้แต่การเข้าไปยังอาคารสถานที่ต่างๆ ยังไม่มีระบบการรองรับที่เพียงพอ ซึ่งเรื่องดังกล่าว ทราบว่า ภาครัฐอยู่ระหว่างการดำเนินงาน
“ภาครัฐอยากให้เน้นเรื่องอำนวยความสะดวกที่เข้าไม่ถึง กรณีทางลาด ฟุตบาทของน้ำสาธารณะ ตู้โทรศัพท์ ที่จอดรถ รถสาธารณะ แทบไปใช้บริการไม่ได้ มีรถไฟฟ้าที่สามารถใช้ได้ แต่ไม่ได้ทั้งหมด บางสถานีไม่มีลิฟต์ลง แท็กซี่เกิดปัญหานั่งวิลแชร์ไม่มีที่เก็บ”
การส่งเสริมให้ผู้พิการได้ใช้ชีวิตอย่างภาคภูมิเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ เพราะที่ผ่านมา มีผู้พิการจำนวนหนึ่งที่มีความสามารถพิเศษเฉพาะด้าน โดยเฉพาะด้านกีฬา ซึ่งการชิงชัยในกีฬาในสนามพาราลิมปิกเกมส์นั้น นักกีฬาผู้พิการของไทยคว้าเหรียญทองครองหลายประเภท จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาส่งเสริมความสามารถเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง
“วันคนพิการนี้ เป็นคนพิการที่อยู่ร่วมกับสังคมทั่วไปแต่แตกต่างที่เราไม่สามารถใช้อวัยวะได้ แต่การดำรงชีวิตได้เหมือนทุกๆ คนอยากให้สังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมทำกิจกรรมให้โอกาสแสดงความสามารถที่เขามี อยากให้ทุกคนทั่วประเทศ ให้โอกาสคนพิการได้มีส่วนร่วม อยากให้สังคมช่วยจัดสิ่งแวดล้อมให้เข้าถึงได้”
การให้เกียรติ และหยิบยื่นโอกาสจากสังคม น่าจะเป็นกำลังใจที่ดีสำหรับผู้พิการทุกคน และในโอกาสวันคนพิการที่จะมาถึงในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ ประชาชน และทุกภาคส่วนสามารถร่วมซื้อดอกแก้วกัลยา ที่เป็นสัญลักษณ์ของการส่งกำลังใจและความปราถนาดีให้กับผู้พิการทุกๆ คนด้วย