ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

การพัฒนาคุณภาพที่อยู่อาศัยของคนจนในชนบท

วันที่ลงข่าว: 20/07/15

ทีดีอาร์ไอเสนอลดช่องว่างการพัฒนาที่อยู่อาศัยของคนจนในชนบท หลังพบผู้มีรายได้น้อยในภูมิภาคต่างๆ ยังประสบกับปัญหาเกี่ยวเนื่อง ทั้งปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยและปัญหาที่ดินทำกิน ชูการเคหะแห่งชาติรับบทบาทหลักเป็นศูนย์กลางและประสานความร่วมมือหน่วยงานเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการมีแบบบ้านมาตรฐานที่มั่นคง ถูกสุขลักษณะ สอดคล้องกับวิถีชีวิต จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และตอบโจทย์ความยั่งยืนด้านที่อยู่อาศัยของคนจนได้

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า จากการศึกษาปัญหาความยากจนในเชิงลึกของผู้ที่ยากจนในพื้นที่ชนบททั่วประเทศ โดยพิจารณาแยกความยากจนออกเป็น 8 มิติ ได้แก่ มิติทางด้านตัวเงิน มิติทางด้านการขาดแคลนที่อยู่อาศัย มิติทางด้านที่ทำกิน มิติทางด้านสภาพที่อยู่อาศัย มิติทางด้านปัญหาเศรษฐกิจ มิติทางด้านปัญหาสังคม มิติทางด้านปัญหาสาธารณูปโภค/สาธารณูปการ และมิติทางด้านปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการและสภาพแวดล้อม ซึ่งพบว่ายังมีผู้ที่ประสบกับปัญหาในมิติต่างๆ จำนวนมากกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ 

 

ในเชิงพื้นที่ พบว่าปัญหาหลักของภาคกลาง คือ ปัญหาการไม่มีที่ดินทำกิน (ร้อยละ 25.9) รองลงมาเป็นปัญหาไม่มีที่อยู่อาศัยของตนเอง โดยมีสัดส่วนครัวเรือนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยร้อยละ 20.8 และมีสัดส่วนผู้ยากจนทางด้านตัวเงินร้อยละ 8.1 ปัญหาหลักของภาคเหนือ คือ ปัญหาไม่มีที่ดินทำกิน (ร้อยละ 27.6) รองลงมาเป็นปัญหาความยากจนตัวเงิน โดยมีสัดส่วนผู้ยากจนตัวเงินร้อยละ 23.8 ส่วนปัญหาไม่มีที่อยู่อาศัยของตนเองในภาคเหนือไม่ค่อยสูงมากนัก โดยมีสัดส่วนครัวเรือนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยร้อยละ 7.2

 

ปัญหาหลักของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ ปัญหาความยากจนตัวเงิน โดยมีสัดส่วนผู้ยากจนตัวเงินร้อยละ 18.8 รองลงมาปัญหาสาธารณูปโภค โดยเฉพาะการมีน้ำดื่มที่สะอาด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภูมิภาคที่มีปัญหาการไม่มีที่อยู่อาศัยของตนเองน้อยที่สุด กล่าวคือ มีสัดส่วนครัวเรือนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเพียงร้อยละ 2.9 ปัญหาหลักของภาคใต้ คือ ปัญหาอื่นๆ (ร้อยละ 14.7) โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงความช่วยเหลือทางการเงินของรัฐ รองลงมาเป็นปัญหาความยากจนด้านตัวเงิน โดยมีสัดส่วนผู้ยากจนตัวเงินร้อยละ 12.8 และปัญหาไม่มีที่อยู่อาศัยของตนเอง โดยมีสัดส่วนครัวเรือนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยร้อยละ 12.1

เมื่อจำแนกมิติของปัญหาโดยมุ่งเน้นถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย อันได้แก่ ปัญหาด้านที่อยู่อาศัย สภาพที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน จะสามารถจำแนกกลุ่มปัญหาในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ 1.กลุ่มที่มีปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยร่วมกับปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกิน 2.กลุ่มที่มีปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยร่วมกับปัญหาความยากจน 3.กลุ่มที่มีปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว 

 

ทั้งนี้ ในแต่ละกลุ่มจะประกอบไปด้วยกลุ่มปัญหาย่อยที่แตกต่างกันอีกระดับหนึ่ง เช่น ในกลุ่มที่มีปัญหาที่อยู่อาศัยร่วมกับปัญหาที่ดินทำกิน จะสามารถแยกได้เป็นกลุ่มที่ขาดแคลนที่ดินเพื่ออยู่อาศัย ซึ่งต้องการตัวกลางประสานเรื่องของปัญหาที่ดินทำกิน และการทำกระบวนการทางสังคม กลุ่มที่สภาพที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง ไม่ยั่งยืน ต้องการหน่วยงานที่มาดูแลทางด้านมาตรฐานของ “บ้าน” เพื่อให้ความรู้เรื่องการสร้างที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและยั่งยืน และกลุ่มที่ขาดแคลนที่ดินทำกินอย่างเดียว ที่ต้องการตัวกลางประสานในเรื่องปัญหาที่ดินทำกิน การเข้าถึงแหล่งเงินทุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น 

 

ขณะที่กลุ่มที่มีปัญหาที่อยู่อาศัยร่วมกับปัญหาความยากจน จะสามารถแยกย่อยออกได้เป็น ครัวเรือนที่มีที่ดินทำกินแต่ขาดความรู้ที่เพียงพอ กลุ่มที่ไม่ได้อาศัยที่ดินเพื่อประกอบอาชีพแต่ทำอาชีพอื่นที่ให้รายได้ที่ไม่มั่นคง กลุ่มที่มีความยากจนเรื้อรัง เช่น ผู้สูงอายุที่ขาดคนดูแล คนพิการ รวมถึงกลุ่มที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมซึ่งต้องได้รับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ส่วนกลุ่มที่มีปัญหาที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว ก็มีทั้งคนที่ขาดแคลนที่อยู่อาศัยในพื้นที่เฉพาะ และคนที่ขาดแคลนแหล่งเงินทุน ดังนั้นบทบาทในการจัดการที่อยู่อาศัยสำหรับคนจนในชนบทจึงต้องร่วมกันทำหลายหน่วยงาน ทั้งหน่วยงานที่เป็นภารกิจโดยตรงและบทบาทในการสนับสนุน 

 

ผลการศึกษาได้นำเสนอฐานข้อมูลสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปกำหนดแนวทางในการแก้ไขได้ทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับจังหวัด ซึ่งจากข้อมูลปัจจุบันพบว่ายังมีบทบาทที่เป็น “ช่องว่าง” ของการแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดเนื่องจากยังขาดหน่วยงานที่ทำหน้าที่บทบาทเหล่านี้โดยตรง อย่างไรก็ตาม ในการพัฒนาบ้านหรือที่อยู่อาศัยสำหรับคนจนในชนบทนั้น ผลการศึกษาบ่งชี้ว่า การเคหะแห่งชาติสามารถมีบทบาทหลักและบทบาทสนับสนุนอย่างสำคัญรวมทั้งสิ้น 6 ประการ ได้แก่ 1.การพัฒนาแบบบ้านมาตรฐานที่เหมาะสมกับผู้ยากจนในชนบท ซึ่งมีเรื่องที่ต้องพิจารณาหลายประการ อาทิ แบบบ้านที่เข้ากับการใช้ชีวิตที่เหมาะสม คงทน รูปแบบห้องสุขาที่เหมาะสมและยั่งยืน เป็นต้น 2.ให้ความรู้และคำปรึกษาในเชิงวิชาการด้านการพัฒนาเมือง สำหรับพื้นที่ที่กำลังจะพัฒนาเป็นเมืองหรือพื้นที่เมืองกึ่งชนบท เพื่อทำให้เขาสามารถรับมือกับการเข้ามาของเมืองได้ดีขึ้น เช่น การไม่รีบขายที่ให้กับนายทุน 3.การจัดหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่พิเศษ ที่มีความต้องการสูงแต่ยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐ หรือเอกชนอื่นๆ เข้าไปดำเนินการ 4.สำหรับกลุ่มที่ยังต้องการความช่วยเหลือในลักษณะสงเคราะห์ เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ ที่ต้องการความช่วยเหลือในรูปแบบของการประชาสงเคราะห์ โดยการเคหะฯ สามารถเข้ามาทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการติดต่อกับภาคธุรกิจ เพื่อขอรับบริจาคและจัดหาวัสดุก่อสร้าง ซึ่งจะช่วยทำให้การช่วยเหลือจากภาคเอกชนเข้าถึงเป้าหมายที่ต้องการได้อย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น

 

นอกจากนี้การเคหะแห่งชาติยังสามารถเข้าไปมีบทบาทสนับสนุนเพิ่มเติม 5.เป็นผู้ให้คำปรึกษาทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับการออกแบบบ้านที่ถูกสุขลักษณะและมีความเหมาะสมต่อการอยู่ร่วมกันในชุมชน และ 6.การเป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยอย่างบูรณาการ 

 

 

สิ่งสำคัญก็คือ คำว่า “บ้าน” สำหรับคนจนนั้น การสร้างบ้านครั้งหนึ่งเขาคิดที่จะใช้อยู่อาศัยไปตลอดชีวิต จึงควรที่จะมีแบบบ้านมาตรฐานที่สามารถตอบโจทย์ความยั่งยืนในการสร้างที่อยู่อาศัยด้วย

 

 

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์บ้านเมืองออนไลน์ วันที่ 20 กรกฎาคม 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก