ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

“วราวุธ” เผย กรมบัญชีกลางไฟเขียว เพิ่มเกณฑ์ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติมากขึ้น-เร็วขึ้น จ่อเวิร์คช็อปที่ภาคอีสานสิ้นเดือน มี.ค.นี้

วันที่ลงข่าว: 10/03/25

          นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมกระทรวง พม. ประจำเดือนมีนาคม 2568 ว่า กระทรวง พม. ได้ตั้งศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ (ศบปภ.) เพื่อเป็นกลไกการขับเคลื่อนงานเชิงรุกในการบริหารจัดการดูแล ช่วยเหลือ และเยียวยากลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ อีกทั้งได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมพร้อมรับมือในสถานการณ์ภัยพิบัติได้อย่างทันท่วงที ตั้งแต่ก่อนเกิดภัย ระหว่างเกิดภัย และหลังเกิดภัย ให้กับทีม พม. หนึ่งเดียว ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 67 ที่จังหวัดสงขลา ก่อนเกิดอุทกภัยในพื้นที่ 11 จังหวัดภาคใต้ ในช่วงปลายปี 2567 ที่ผ่านมา (ระหว่างวันที่ 15 พฤศจิกายน – 23 ธันวาคม 2567)

          จากการติดตามผลการดำเนินงานด้วยระบบปฏิบัติการออนไลน์ (Online Operate System) หรือที่เรียกว่า OOS ของ ศบปภ. พบข้อจำกัดในการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง จึงได้มีการหารือกรมบัญชีกลางเพื่อขอปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 ในเบื้องต้นกรมบัญชีกลางมีมติเห็นชอบ ดังนี้

          1. ขอเพิ่มหลักเกณฑ์การใช้เงินทดรองราชการ 10 ล้านบาท สำหรับจัดซื้อสิ่งของจำเป็นให้แก่กลุ่มเปราะบาง เช่น ผ้าอ้อม, นมผง, นมกล่อง, ผ้าอนามัย, กายอุปกรณ์, เสื้อผ้า, เครื่องนอน, ผ้าห่ม เป็นต้น โดยกรมบัญชีกลางเห็นชอบให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) เพิ่มค่าถุงยังชีพ จากชุดละไม่เกิน 700 บาทต่อครอบครัว เป็นชุดละไม่เกิน 1,000 บาท ต่อครอบครัว และในกรณีที่ผู้ประสบภัยเป็นกลุ่มเปราะบาง ให้พิจารณาช่วยเหลือค่าถุงยังชีพเพิ่มเติมได้อีก ชุดละไม่เกิน 1,000 บาทต่อคน โดยขอให้มีรายการจัดซื้อสิ่งของจำเป็นกรณีพิเศษ ตามกลุ่มเป้าหมายที่กระทรวง พม. เสนอ ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มเด็กเล็ก (อายุไม่เกิน 7 ปี), กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มคนพิการ

          2. ขอปรับหลักเกณฑ์การฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น โดยกรมบัญชีกลางมีมติเห็นชอบ ดังนี้

              2.1 ค่าใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์ฝึกอาชีพ เท่าที่จ่ายจริง คนละไม่เกิน 2,200 บาท จากเดิม 2,000 บาท

              2.2 ค่าตอบแทนวิทยากร วันละไม่เกิน 600 บาท ไม่เกิน 10 วัน จากเดิมวันละไม่เกิน 500 บาท

              2.3 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปฏิบัติการฝึกอบรม เท่าที่จ่ายจริงภายในวงเงิน ไม่เกิน 10,800 บาท จากเดิม 10,000 บาท

              2.4 เงินทุนประกอบอาชีพที่ได้รับการฝึกอบรมเท่าที่จ่ายจริงครอบครัวละไม่เกิน 4,300 บาท จากเดิม 4,000 บาท

         3. สำหรับการขอให้เพิ่มหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเงินฉุกเฉิน โดยให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง (คนพิการ ผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน) ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ครอบครัวละ 3,000 บาท โดยดำเนินการได้ทันทีเมื่อมีการประกาศพื้นที่เขตภัยพิบัติ ซึ่งกรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างการพิจารณา

         ที่ผ่านมานอกจากมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมพร้อมรับมือในสถานการณ์ภัยพิบัติ ให้กับทีม พม. หนึ่งเดียว ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้แล้ว ยังมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ให้กับทีม พม. หนึ่งเดียว ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ และในเดือนมีนาคมนี้กระทรวง พม.ได้กำหนดจัดประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ให้กับทีม พม.หนึ่งเดียว ในพื้นที่ 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 30-31 มี.ค.67 ที่จังหวัดขอนแก่น นับเป็นความมุ่งมั่นของกระทรวง พม. ในการดูแล ช่วยเหลือ และเยียวยากลุ่มเปราะบางทั่วประเทศที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนในสถานการณ์ภัยพิบัติอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรวดเร็ว และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นับเป็นการป้องกันผลกระทบและความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มเปราะบางได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก