กสศ.ผุดโครงการสร้างโอกาส ‘เด็กพิเศษกับความต้องการพิเศษ’ ด้านการศึกษา
เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์พัฒนาเด็กพิเศษวัดห้วยหมู จ.ราชบุรี ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้มีโครงการการจัดการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพชีวิต เด็กเยาวชนที่มีความบกพร่องพิการทางด้านร่างกายและสติปัญญา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ ให้สอดคล้องและเหมาะสมต่อพัฒนาการตามช่วงวัย และส่งเสริมให้เด็กพิเศษได้รับพัฒนาการด้านร่างกาย ใจ สังคม ครอบคลุมด้านทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ และทักษะวิชาการ
เป้าหมายที่สำคัญคือ การสนับสนุนโอกาสทางการศึกษาและการสนับสนุนทุนอาชีพ การสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการในเด็กกลุ่มที่มีความบกพร่องทางร่างกายและการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างทักษะและความสามารถในการช่วยเหลือตัวเอง ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพของครู (เจ้าหน้าที่/พี่เลี้ยงเด็ก) ให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเชิงจิตวิทยาในเด็กกลุ่มพิเศษที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการด้านร่างกาย สติปัญญา จิตใจ พฤติกรรมและการปรับตัวเข้ากับสังคม เพื่อให้เด็กๆ สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมและครอบครัว ทั้งด้านการศึกษา การส่งเสริมอาชีพ การสร้างการรับรู้ สร้างการเสมอภาคทางการศึกษา ตลอดจนเกิดการเชื่อมโยงการทำงานกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และเปิดพื้นที่โอกาสในการเรียนรู้ที่หลากหลายเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการตามช่วงวัยและคุณภาพชีวิตของครอบครัวที่ตอบโจทย์และพึ่งพาตนเองได้
พระครูจันทสีลากร เจ้าอาวาสวัดห้วยหมู กล่าวว่า การจัดการศึกษาสำหรับเด็กให้สอดคล้องและเหมาะสม “หัวใจ” สำคัญของการดำเนินงานคือ การจัดทำแผนการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษเป็นรายบุคคล จากการดำเนินงานการจัดการศึกษา สำหรับเด็กพิเศษวัดห้วยหมู จังหวัดราชบุรี ในระยะเวลาการดำเนินงานระหว่าง เดือนตุลาคม พ.ศ.2567 ถึง เดือนมกราคม พ.ศ.2568 รวมระยะเวลาการดำเนินงาน 4 เดือน จากกระบวนการทดลองพัฒนารูปแบบการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษห้วยหมู เพื่อประเมินจัดแบ่งกลุ่มประเภทในการพัฒนาตามศักยภาพ สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ A, B, C
ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องและตรงตามความต้องการและพัฒนาการของเด็กรอบด้าน โดยแบ่งเป็นกลุ่มเด็กที่มีความพิการทางด้านสติปัญญา คือ ดาวน์ซินโดรม ออทิสติก และพิการด้านร่างกาย โดยได้ออกแบบแผนการพัฒนารายบุคคลระยะเวลา 1 ปี (365 วัน) เพื่อให้เหมาะสมและตรงกับความสามารถของเด็กแต่ละคนที่ต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ ทั้งหมด จำนวน 23 คน จาก จำนวน 32 คน โดยแบ่งออกมาได้ดังนี้
กลุ่ม A จำนวน 7 คน คือ นักเรียนที่ช่วยเหลือตัวเองได้ สามารถบอกความต้องการของตนเองได้ สื่อสารได้เป็นคำๆ หรือประโยคสั้นๆ เข้าใจคำสั่ง มีทักษะในการดูแลตัวเองเบื้องต้น ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้
กลุ่ม B จำนวน 7 คน คือนักเรียนสื่อสารไม่ได้ เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง พูดไม่เป็นประโยค ความสนใจสั้น เข้าร่วมกิจกรรมที่ตนเองสนใจเท่านั้น สมาธิสั้น หงุดหงิดง่าย ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้
กลุ่ม C จำนวน 9 คน คือนักเรียนไม่สื่อสาร ไม่สบตา ส่งเสียงกรีดร้องไม่เป็นคำ ไม่พูด ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ อยู่คนเดียวไม่เล่นกับใคร ไม่สามารถทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนได้
น.ส.มาลิสา พรมโคตร์ ครูด้านพัฒนาการเด็กประจำโครงการ กล่าวถึง ข้อค้นพบที่สำคัญของการส่งเสริมพัฒนาการคือทักษะที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน คือการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กอย่างคล่องแคล่ว ซึ่งจะช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรประจำวัน และมีกำลังใจจะทำเองอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นผู้ฝึกต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง เกี่ยวกับการเริ่มต้นการฝึก ให้เด็กฝึกการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและการช่วยเหลือตนเองควบคู่กันไป ให้เด็กได้เผชิญต่อการฝึกฝนนั้น จนยอมรับได้เป็นกิจวัตรประจำวันที่ต้องทำ และไม่สร้างประสบการณ์ที่ไม่ดี เช่น การทำโทษ การผลักดันให้เผชิญ โดยยังไม่ยอมรับจนเกิดความกลัว การทำให้เด็กเกิดความมั่นใจและรักที่จะช่วยเหลือตนเอง ถ้าผู้ปกครองละเลยไม่รีบฝึก และช่วยเด็กทำทุกครั้ง ทำให้เด็กติดการช่วยเหลือ และต่อต้านการที่จะทำด้วยตนเอง การจัดการศึกษาสำหรับเด็กให้สอดคล้องและเหมาะสมสำหรับเด็กพิเศษ คือ รูปแบบการจัดการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับเด็กบกพร่องพิการร่ายกายและสติปัญญา
ศูนย์พัฒนาเด็กพิเศษวัดห้วยหมู จังหวัดราชบุรี ประกอบด้วยปัจจัยที่สำคัญ 3 ด้านประกอบด้วย
การพัฒนาด้านฐาน “กาย” เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในชีวิต ผ่านการออกแบบการจัดการศึกษาเป็นรายบุคคล เพื่อ “ส่งเสริม” การศึกษาส่งเสริมการศึกษาและองค์ความรู้ที่สอดคล้องและเหมาะสมสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องพิการในแต่ละด้าน เช่น จัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) ทักษะวิชาการเพื่อการดำรงชีวิต ทักษะการดำเนินชีวิตประจำวันและกิจกรรมพัฒนาการเรียนรู้ที่หลากหลาย และเพื่อการพัฒนาทักษะชีวิต/พัฒนาสมรรถะ ในการ “ฟื้นฟู” สมรรถนะความบกพร่องทางร่างกายและลักษณะของความพิการประเมิน และกระตุ้นพัฒนาการ ด้วยหลักสูตรการพัฒนาการตามช่วงวัยและเงื่อนไขของความบกพร่องพิการ หลักสูตรกิจกรรรมบำบัดและกายภาพบำบัด หลักสูตรสิทธิเด็กและคุ้มครองเด็กและกิจกรรมทักษะเพื่อกลไกของร่างกายต่างๆ โดยจำเป็นต้องการกลไกหนุนเสริมระดับชุมชน เช่น เกิดระบบปกป้องคุ้มครอง Family Care Team เพื่อติดตามดูแล สนับสนุนครอบครัวเด็กบกพร่องพิการอย่างต่อเนื่อง และการจัดการเรียนรู้การสอนในรูปแบบของห้องเรียนพิเศษ หรือ ศูนย์การเรียนเพื่อให้สิทธิในการศึกษาอย่างเท่าเทียมแก่เด็กกลุ่มบกพร่องพิการ
การพัฒนาด้านฐาน “ใจ” เพื่อเสริมสร้างสุขภาพจิตให้กับผู้ดูแลและเด็กกลุ่มบกพร่องพิการ ผ่านกระบวนการ “หลักสูตรจิตวิทยา” เพื่อ “บำบัดเยียวยา” การดูแลทางสังคมจิตใจ (Psychosocial Care) การดูแลทางจิตใจ อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณของเด็กเยาวชน ครอบครัวและผู้ดูแลโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยหลักสูตรบำบัดเยียวยาสุขภาพกายใจ หลักสูตรการเรียนรู้เพื่อเข้าใจจิตใจตนเอง หลักสูตรจิตวิทยาพัฒนาการ และ หลักสูตรศิลปะบำบัด ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเด็กเยาวชน ผ่านกลไกหนุนเสริมระดับปัจเจก ให้เด็กเยาวชนได้เข้าถึงสิทธิทางการศึกษาและสวัสดิการขั้นพื้นฐานอย่างทันท่วงทีและเท่าเทียม
การพัฒนาด้านฐาน “สังคม” เพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศที่เอื้ออำนวย ให้ครอบครัวและเด็กกลุ่มบกพร่องพิการเข้าถึง “สวัสดิการ” ผ่าน กลไกหนุนเสริมระดับครอบครัว (เปลี่ยนบ้านเป็นโรงเรียน +เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู) โดยได้รับสนับสนุนองค์ความรู้และงบประมาณจากหน่วยบริการด้านการแพทย์ที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัดเพื่อหนุนเสริมให้ผู้ปกครองและผู้ดูแลให้สามารถดำเนินการจัดกิจกรรมพัฒนาการเรียนรู้ตลอดปีได้อย่างต่อเนื่อง ผ่านกลไกการ “สนับสนุน” คือสนับสนุนให้มีทักษะอาชีพตามเงื่อนและข้อจำกัดทั้งเด็กและผู้ปกครอง ผ่านการฝึกอาชีพตามความถนัดและความสนใจเพื่อเพิ่มความมั่งคงทางเศรษฐกิจให้แก่ครอบครัว สนับสนุนให้เกิดการจ้างงาน การส่งเสริมอาชีพ ผ่านมาตรา 33 (การจ้างงาน) และมาตรา 35 ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้แก่ครอบครัวของเด็กพิการในชุมชน
น.ส.ศรีบัว กันทะวงค์ ครูกระบวนกรประจำโครงการ กล่าวสรุปว่า กลไกในการสนับสนุนที่สำคัญควรเกิดขึ้นทั้งในระดับปัจเจก ระดับครอบครัว และระดับชุมชน ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดระบบการสนับสนุนเพื่อบำบัดเยียวยา ส่งเสริม ฟื้นฟู เด็กเยาวชนและครอบครัวเด็กที่มีความบกพร่องพิการด้านร่างกายและจิตใจให้ได้เข้าถึงสิทธิทางการศึกษาและสวัสดิการขึ้นพื้นฐาน นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างเท่าเทียมและเป็นรูปธรรมโดยมีการจัดการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมพัฒนาการใน 365 วันเป็นต้นแบบในการจัดการศึกษาที่สอดคล้องและเหมาะสมสำหรับเด็กพิเศษทุกคน
... สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/news/4427483/