ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

จังหวัดแพร่จัดงานวันคนพิการสากล ประจำปี 2567 ส่งเสริมการเป็นผู้นำของคนพิการ เพื่ออนาคตที่ครอบคลุมและยั่งยืน

วันที่ลงข่าว: 30/01/25

          วันที่ 28 มกราคม 2568 เวลา 10:00 น ที่ข่วงวัฒนธรรมเมืองแพร่ ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ นายคุณากร คชหิรัญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่เป็นประธานเปิดงานวันคนพิการสากลจังหวัดแพร่ ประจำปี 2567 โดยมีการอ่านสารวันคนพิการสากลประจำปี 2567 โดยนางสาวนิตยา ท้าวทา นายกสมาคมคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยจังหวัดแพร่ การมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีแก่คนพิการต้นแบบจังหวัดแพร่ ระดับประเทศ ประจำปี 2567 แก่นางจำนงค์ ชัยพงค์พิทักษ์ และมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีแก่องค์กรคนพิการที่ได้รับรองมาตรฐานองค์กรระดับดีมาก (100 คะแนน)ประจำปี 2567 จำนวน 3 องค์กร ได้แก่ ชมรมสายใยน้ำใจเหมืองหม้อ , ชมรมสายใยน้ำใจแม่หล่าย และชมรมสายใจน้ำใจแม่คำมี และมอบเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติแก่สถานประกอบการและหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่จังหวัดแพร่ที่จ้างงานคนพิการประจำปี 2567 จำนวน 9 แห่ง มอบกายอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ รถเข็นนั่ง จำนวน 297 คัน(ตามโครงการจัดหากายอุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือคนพิการ 7,200 ชุดเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567)

          ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้วันที่ 3 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันคนพิการสากล และเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจของสังคมเกี่ยวกับคนพิการ และให้โอกาสคนพิการได้มีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมของสังคมอย่างสร้างสรรค์ เป็นธรรม และเสมอภาคกับคนทั่วไป  โดยในปี 2567 องค์การสหประชาชาติได้กำหนดประเด็นหลักคือ ส่งเสริมการเป็นผู้นำคนพิการ เพื่ออนาคตที่ครอบคลุมและยั่งยืน เพื่อสะท้อนถึงบทบาทสำคัญที่คนพิการมีส่วนร่วมในการสร้างโลกที่ครอบคลุมและยั่งยืนสำหรับทุกคน

          ปัจจุบันจังหวัดแพร่ มีคนพิการที่ได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการมีจำนวน 24,051 คน คิดเป็นร้อยละ 5.44 ของประชากรทั้งจังหวัดแพร่ และพบว่าคนพิการที่มีอายุมากกว่า 60 ปี หรือคนพิการสูงอายุมีจำนวนสูงถึง 16,722 คน หรือร้อยละ 69.53 ของจำนวนคนพิการทั้งหมด ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ระบุว่า ในปี 2571 สังคมไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ และจากสถิติของผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นพบแนวโน้มมีความเสี่ยงที่จะมีความพิการร่วมด้วย และเมื่อพิจารณาจากประเภทความพิการ พบว่าส่วนใหญ่พิการทางการเคลื่อนไหวทางร่างกาย จำนวน 16,969 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 70.55 รองลงมาเป็นความพิการทางการได้ยิน/สื่อความหมาย จำนวน 2,780 คน และพิการทางสติปัญญา จำนวน 1,368 คนตามลำดับ ในขณะที่คนพิการวัยทำงานในจังหวัดแพร่จำนวน 6,908 คน มีการจ้างงานในสถานประกอบการจำนวน 24 คนจากสถานประกอบการจำนวน 8 แห่ง

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก