"วราวุธ" ชี้ผลปฏิบัติงานรอบ 1 ปี ศรส. ช่วยแก้ปัญหาสังคม กว่า 1.88 แสนกรณี
"วราวุธ" ชี้ผลปฏิบัติงานรอบ 1 ปี ศรส. ช่วยแก้ปัญหาสังคม กว่า 1.88 แสนกรณี พบความรุนแรงทั้ง ใน-นอก ครอบครัว วอนช่วยกันเฝ้าระวัง หวั่น ซ้ำคดีดัง แบงค์ เลสเตอร์-ผู้สูงอายุถูกล่วงละเมิด ลั่น พม. ลุย ขับเคลื่อนพันธกรณีระหว่างประเทศ หวัง คุ้มครองสิทธิเด็ก สตรี คนพิการ ความเท่าเทียมทางเพศ ผู้สูงอายุ เผยผลงานศูนย์ช่วยกลุ่มเปราะบางพ้นภัยพิบัติ พม. จ่อขอรัฐบาลหนุนงบฯ
เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568 ที่กระทรวง พม. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมกระทรวง พม. ประจำเดือนมกราคม 2568 ว่า วันนี้ มีการนำเสนอผลการดำเนินงานของศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ในรอบ 1 ปี (มกราคม - ธันวาคม 2567) พบว่า มีประชาชนขอความช่วยเหลือมาที่ศรส. ทั้งหมด 188,625 กรณี โดยผ่านช่องทางการให้บริการสูงสุดคือสายด่วน 1300 จำนวน 171,204 กรณี , รองลงมา คือ สื่อสังคมออนไลน์ จำนวน 14,855 กรณี , ขอรับบริการด้วยตนเอง 1,466 กรณี , เป็นข่าวทางศูนย์ปฏิบัติการ พม. 1,081 กรณี , ผ่านกองตรวจราชการ 19 กรณี
พื้นที่ให้บริการ มากที่สุดคือ กรุงเทพมหานคร 119,107 กรณี รองลงมา คือ ภาคกลาง 22,499 กรณี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18,101 ภาคใต้ 12,842 ปริมณฑล 10,914 ภาคเหนือ 5,162
กลุ่มผู้ประสบปัญหาสูงที่สุด คือ วัยทำงาน 97,455 ราย รองลงมา คือ กลุ่มคนพิการ 33,051 ราย ผู้สูงอายุ 31,306 ราย เด็ก 23,337 ราย เยาวชน 3,476 ราย
ศรส. ได้ดำเนินการช่วยเหลือ 163,556 กรณี แบ่งเป็น 1. ช่วยเหลือและคุ้มครองสวัสดิภาพ 31,619 กรณี ได้แก่ 1.1 พื้นที่กรุงเทพมหานคร 9,210 กรณี ซึ่งปัญหาที่มากอันดับหนึ่ง คือ รายได้ความเป็นอยู่ 3,621 กรณี รองลงมา คือ คนไร้ที่พึ่งและขอทาน 2,825 กรณี
1.2 ปริมณฑล 3,960 กรณี ซึ่งปัญหาที่มากอันดับหนึ่ง คือ รายได้ความเป็นอยู่ 1,993 กรณี รองลงมา คือ ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว จำนวน 617 กรณี และคนไร้ที่พึ่งและขอทาน 608 กรณี
1.3 ส่วนภูมิภาค จำนวน 18,449 กรณี ซึ่งปัญหาที่มากอันดับหนึ่ง คือ รายได้ความเป็นอยู่ 11,329 กรณี รองลงมา คือ ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว 1,847 กรณี และความรุนแรง 1,707 กรณี
2. การให้คำปรึกษา จำนวน 69,791 กรณี โดยประเด็นสูงสุด คือ ปัญหาสิทธิสวัสดิการ จำนวน 32,256 กรณี รองลงมา คือ ปัญหาที่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมฯ (สอบถามโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital wallet) จำนวน 16,538 กรณี ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว จำนวน 7,470 กรณี และปัญหารายได้และความเป็นอยู่ จำนวน 7,159 กรณี ปัญหาเรื่องสุขภาพและอุบัติเหตุจำนวน 2,552 กรณี
นอกจากนี้ มีการให้ข้อมูลทั่วไป จำนวน 34,345 กรณี และการให้ข้อมูลการติดตามปัญหาเดิม จำนวน 27,801 กรณี อีกทั้ง มีการให้ความช่วยเหลืออื่น ๆ จำนวน 25,069 กรณี โดยเป็นการโทรก่อกวน 20,092 กรณี โทรผิด 4,633 กรณี เสนอความคิดเห็น 160 กรณี และอื่นๆอีก 184 กรณี
ในส่วนของประเด็นความรุนแรง ในรอบ 1 ปี (มกราคม - ธันวาคม 2567) มีผู้ประสบปัญหาความรุนแรง จำนวน 4,712 ราย เป็นเพศหญิง 3,448 ราย เพศชาย 1,264 ราย แบ่งเป็น กลุ่มเด็ก 2,461 ราย กลุ่มผู้ใหญ่ 1,357 ราย กลุ่มผู้สูงอายุ 354 ราย กลุ่มเยาวชน 277 ราย และกลุ่มคนพิการ 263 ราย
ซึ่งพื้นที่รับแจ้งเหตุความรุนแรงมากที่สุด คือกรุงเทพมหานคร 1,482 ราย รองลงมาคือ จังหวัดนนทบุรี 176 ราย จังหวัดชลบุรี 174 ราย จังหวัดอุดรธานี 151 ราย และจังหวัดปทุมธานี 131 ราย โดยเป็น ความรุนแรงในครอบครัว 3,376 รายและภายนอกครอบครัว 1,336 ราย
สำหรับความรุนแรงภายในครอบครัว พบว่า กลุ่มเด็ก เป็นผู้ประสบปัญหามากที่สุด 1,429 ราย โดยถูกทำร้ายร่างกาย, ถูก ล่วงละเมิดทางเพศ, ถูกกระทำอนาจาร, ทารกถูกทอดทิ้ง รองลงมาคือ กลุ่มผู้ใหญ่ 1,220 ราย โดยถูกทำร้ายร่างกาย, ถูกกระทำอนาจาร, ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
ส่วนความรุนแรงนอกครอบครัว พบว่า กลุ่มเด็กเป็นผู้ประสบปัญหามากที่สุด 1,032 ราย โดยถูกล่วงละเมิดทางเพศ,ถูกทำร้ายร่างกาย, ถูกกระทำอนาจาร รองลงมาคือกลุ่มผู้ใหญ่ 137 ราย โดยถูกทำร้ายร่างกาย,ถูกล่วงละเมิดทางเพศ,ถูกกระทำอนาจาร
นายวราวุธ กล่าวว่า จากรายงานของ ศรส. ในรอบ 1 ปี จะเห็นได้ว่า ปัญหารายได้ความเป็นอยู่ เป็นปัญหาที่พบมากที่สุด ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และส่วนภูมิภาค เพราะส่งผลกระทบโดยตรงกับปากท้องของพี่น้องประชาชน ดังนั้น จึงควรมีการป้องกันและแก้ไขปัญหาความยากจนซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ แต่ด้วยงบประมาณที่จำกัดของภาครัฐ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมอย่างมุ่งเป้า และมุ่งผลลัพธ์มากขึ้น ด้วยข้อมูลสารสนเทศที่แม่นยำ มุ่งเน้นดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม และบูรณาการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนหุ้นส่วนทางสังคม อาทิ ภาคธุรกิจเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทุนทางสังคม เช่น ศาสนสถาน (วัด โบสถ์ มัสยิด) ร่วมจัดสวัสดิการสังคม เพื่อให้ประชาชนผู้ประสบปัญหาได้รับการดูแลครอบคลุมทั่วถึงเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ภาครัฐจะต้องให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับทุกภาคส่วนด้วย
อย่างไรก็ตาม กระทรวง พม. ได้ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร ออกแบบนโยบายสวัสดิการสังคมที่เหมาะสม มุ่งเป้า มุ่งผลลัพธ์ เพื่อการแก้ไขปัญหาในพื้นที่กรุงเทพมหานครอย่างยั่งยืน เนื่องจากโครงสร้างของกระทรวง พม. ไม่มีหน่วยบริการประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นข้อจำกัดในทางปฏิบัติสำหรับการจัดสวัสดิการสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ
นายวราวุธ กล่าวว่า จากรายงานประเด็นความรุนแรงในรอบ 1 ปี จะเห็นได้ว่า มีผู้ประสบปัญหาความรุนแรงมากถึง 4,712 ราย และเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนทุกเพศ ทุกกลุ่มคน ดังนั้นขอให้ทุกคนช่วยกันเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาความรุนแรงซ้ำขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงในครอบครัวหรือนอกครอบครัว ย่อมส่งผลเสียทั้งร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะจะเป็นบาดแผลลึกในใจตลอดไป อย่างกรณีการเสียชีวิตของแบงค์ เลสเตอร์ ซึ่งเป็นคนพิการด้านสติปัญญาที่เป็นเหยื่อจากการทำคอนเทนต์ที่แฝงความรุนแรงออกสื่อโซเชียลมีเดีย และกรณีที่มีข่าวผู้สูงอายุถูกล่วงละเมิดทางเพศ
หากประชาชนพบเห็นผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนทางสังคม หรือถูกกระทำความรุนแรง สามารถแจ้งได้ที่ ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) กระทรวง พม. ผ่านสายด่วน พม. โทร. 1300 บริการฟรี 24 ชั่วโมง
ลั่น พม. ลุย ขับเคลื่อน พันธกรณีระหว่างประเทศ
นายวราวุธ กล่าวต่อว่า หนึ่งในพันธกิจ 9 ด้าน (Flagship Projects) ที่ต่อยอดมาจากนโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤตประชากร ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)นั้น คือ พันธกิจที่ 6 การขับเคลื่อนพันธกรณีระหว่างประเทศที่สำคัญซึ่งกระทรวงพม. ดูแลอยู่ อาทิ การคุ้มครองสิทธิเด็กและสตรี คนพิการ ความเท่าเทียมทางเพศ การดูแลผู้สูงอายุ โดยจะมีการจัดงาน Thailand Social Expo 2025 ในเดือนกรกฎาคม 2568 เพื่อเผยแพร่สานต่อความร่วมมือระหว่างประเทศในทุกระดับ เป็นการประชุมนานาชาติว่าด้วยการพัฒนาสังคม โดยจะมีรัฐมนตรีจากประเทศต่างๆ คณะทูตานุทูต ผู้บริหารระดับสูงจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรเอกชน สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม เข้าร่วมประชุม ในงานมีกิจกรรมหลากหลายและจะมีการเสวนา นิทรรศการที่แสดงให้เห็นถึงพลังของการดำเนินงานร่วมกัน โดยเฉพาะการขับเคลื่อนนโยบาย 5 × 5 ฝ่าวิกฤติประชากร ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากภาคส่วนต่างๆรวมทั้งองค์การสหประชาชาติ(UN)
นายวราวุธ กล่าวว่า และอีกส่วนหนึ่งจะมีการดำเนินงานอย่างเข้มข้น เรื่องการยกระดับการต่อต้านการค้ามนุษย์ ด้วยมาตรการต่างๆโดยเฉพาะในส่วนของการป้องกัน เนื่องจากปัญหาการค้ามนุษย์เป็นอาชญากรรมข้ามชาติที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในทุกมิติ , ดำเนินการขับเคลื่อนการขจัดการเลือกปฏิบัติและสร้างความเท่าเทียมทางเพศ ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ปฏิญญาปักกิ่งเพื่อความก้าวหน้าของสตรีให้เป็นที่ประจักษ์ต่อประชาคมโลก ซึ่งประเทศไทยได้รับการชื่นชมเป็นอย่างมากในเรื่องพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 มกราคม 2568 นี้ ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียน และประเทศที่ 3 ในเอเชีย และในเดือนมีนาคม 2568 ประเทศไทยโดยตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะได้ไปรายงานต่อที่ประชุมองค์การสหประชาชาติทราบ และร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปีของปฏิญญาปักกิ่ง ที่สำนักงานใหญ่ UN นครนิวยอร์ก
นายวราวุธ กล่าวว่า ด้านความร่วมมือในอาเซียนนั้นจะมีการจัดทำเอ็มโอยูกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อลดความเสี่ยงของเด็กที่จะถูกแสวงหาประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ เช่น ขอทาน การถูก ล่อลวงไปมีส่วนร่วมในการก่ออาชญากรรม นอกจากนี้จะมีการใช้ศูนย์ฝึกอบรมอาเซียนด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม (ATCSW) ซึ่งก่อตั้งขึ้นตามข้อเสนอของประเทศไทยเมื่อครั้งเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 เพื่อการเสริมสร้างขีดความสามารถและศักยภาพของบุคลากรของเยาวชนอาเซียนอย่างเป็นระบบ
เผยผลงานศูนย์ช่วยกลุ่มเปราะบางพ้นภัยพิบัติ พม. จ่อขอรัฐบาลหนุนงบฯ
นายวราวุธ กล่าวด้วยว่า กระทรวง พม. ตั้งศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ (ศบปภ.) เพื่อเตรียมแผนรองรับก่อนเกิดภัยของภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา ในเดือนตุลาคม2567 และต่อมาเมื่อเกิดอุทกภัยขึ้นตามการประเมินระหว่างเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2567 พื้นที่ภาคใต้ประสบอุทกภัยรุนแรงในหลายจังหวัดนั้น ศบปภ. ของกระทรวง พม. ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้ 1) เงินสงเคราะห์สำหรับเด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้มีรายได้น้อย และประชาชนทั่วไปที่ประสบปัญหาทางสังคมและภัยพิบัติ 1,881 คน จำนวน 3,825,900 บาท ยังคงเหลืออีก 6,182 คน จำนวน 18,546,000 บาท
2) เงินทุนประกอบอาชีพ จาก กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และกองทุนผู้สูงอายุ 213 คน จำนวน 8,326,000 บาท
3) ศูนย์พักพิงชั่วคราว ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย 973 คน แบ่งเป็น ศูนย์พักพิงชั่วคราวของกระทรวง พม. จำนวน 669 คน และศูนย์พักพิงชั่วคราวของจังหวัด ที่กระทรวง พม. ร่วมบริหาร 304 คน
4) UNICEF (จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส) สนับสนุนอุปกรณ์ช่วยเหลือ สิ่งของจำเป็นสำหรับเด็ก เช่น นมผง ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ผ้าห่ม และชุดสุขอนามัยที่จำเป็น เช่น สบู่ ยาสีฟัน ยากันยุง รวมจำนวน 1,900 ชุด
และ 5) อาสาสมัครที่เข้ามาช่วยเหลือระหว่างเกิดภัย 2,286 คน
จากการดำเนินงานของ ศบปภ. ในช่วงเกิดภัยพิบัติที่ผ่านมาทำให้พบปัญหาเรื่องข้อจำกัดในการใช้งบประมาณ ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณสำหรับการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในระหว่างเกิดภัยพิบัติ เช่น กระทรวง พม. ไม่มีงบประมาณเป็นการเฉพาะในการบริหารจัดการภัยพิบัติ ซึ่งปัจจุบันใช้งบฯปกติจากเงินสงเคราะห์ต่าง ๆ ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางไป 1,881 คน จำนวน 3,825,900 บาท ยังคงเหลือที่ต้องให้ความช่วยเหลืออีก 6,182 คน จำนวน 18,546,000 บาท
และเรื่องงบประมาณสำหรับเป็นค่าตอบแทน อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เนื่องจากกระทรวง พม. ไม่มีระเบียบและงบประมาณในการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ อพม. ที่ให้การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในระหว่างเกิดภัยพิบัติ 2,286 ราย
รวมถึงเรื่องงบประมาณสำหรับจัดหาสิ่งของช่วยเหลือ เช่น นมผงเด็ก ผ้าอ้อมสำเร็จรูป เนื่องจากกระทรวง พม. ไม่มีงบประมาณเพื่อการนี้ จำเป็นต้องขอรับบริจาคจากภาคีเครือข่าย
นอกจากนี้ ยังพบปัญหาการฟื้นฟูอาชีพระยะหลังเกิดภัยพิบัติ โดยกระทรวง พม. ใช้งบประมาณจากกองทุนต่าง ๆ เพื่อให้การกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพแก่กลุ่มเปราะบาง ได้แก่ กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 92 คน จำนวน 4,696,000 บาท และ กองทุนผู้สูงอายุ 121 คน จำนวน 3,630,000 บาท
ศบปภ. จึงได้จัดทำข้อเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) จำนวน 2 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการให้ความช่วยเหลือ โดยขอรับการจัดสรรงบประมาณเป็นเงินสงเคราะห์ ในปีงบประมาณ 2568 เพิ่มเติม หรือขอรับจัดสรรงบกลาง จำนวน 22,371,900 บาท เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ และขอความเห็นชอบการจ่ายค่าตอบแทน อพม. ที่ให้การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางระหว่างภัยพิบัติ
2.ด้านการฟื้นฟู โดยขอเพิ่มแนวทางการใช้งบทดลองราชการเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง จำนวน 10 ล้านบาท สำหรับใช้จัดหาสิ่งของเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางระหว่างประสบภัยพิบัติ เช่น นมผงเด็ก ผ้าอนามัย ผ้าอ้อมสำเร็จรูป อาหารเสริม อาหารสำเร็จรูปทและยังได้จัดทำข้อเสนอต่อกระทรวง พม. โดยขอให้กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) และกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) พิจารณาจัดลำดับความสำคัญการกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพ โดยพิจารณาให้ผู้ประสบปัญหาทางสังคม และได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติเป็นลำดับแรก