"กมล ลั่น" สังคมไทยยังให้ความหวังเเละมีที่ยืนสำหรับทุกคน
วันที่ 9 ต.ค.ทุี่สำนักงาน กศน 65 ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เยี่ยมชุมชนอัจฉริยะออทิซึม ต. สาวะถี อ. เมือง จ. ขอนเเก่น ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างมูลนิธิออทิสติกไทย มหาวิทยาลัยขอนเเก่น สำนักงาน กศน. และภาคีเครือข่ายอีกหลายหน่วยงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กพิเศษ หวังช่วยกันสร้าง “อัจฉริยะออทิสซึม” ปัจจุบันเด็กออทิสติกมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เฉพาะภาคอีสานเท่าที่เปิดเผย มีมากกว่า 4,000 คน บุคคลออทิสติก หรือเด็กออทิสติกนั้นไม่ถือว่าเป็นผู้พิการ แต่เรียกได้ว่าเป็นเด็กพิเศษมากกว่า เพราะเด็กที่มีอาการดังกล่าวจำนวนไม่น้อย ที่มีความสามารถพิเศษ หรือมีไอคิวสูง บางคนมีความเป็นเลิศด้านภาษาอังกฤษ บางคนเก่งด้านคณิตศาสตร์ หรือบางคนก็เรียนรู้ด้านคอมพิวเตอร์ได้เร็วมากกว่าเด็กปกติ ดังนั้น การดูแล การบำบัดเด็กออทิสติก เป็นเรื่องสำคัญมาก ที่ผู้ปกครอง หรือครูบาอาจารย์ต้องไม่มองข้าม เพื่อจะได้ช่วยกันพัฒนาส่งเสริมให้พวกเขามีพัฒนาการการเรียนรู้ตามความสามารถที่เขามีอยู่ได้เร็วขึ้น หลายคนถึงขั้นได้เป็นอัจฉริยะออทิสซึม
สำนักงาน กศน ได้เข้ามามีบทบาทในการจัดการเรียนการสอนทางด้านวิชาชีพที่จำเป็น และสามารถนำมาใช้ในการดำรงชีวิตได้จริง อาทิ อาชีพเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ ปลูกผัก ทำฟาร์มเห็ดนางฟ้า วาดรูป สกรีนเสื้อ ทำแก้วเซรามิก สอนอาชีพบาริสต้า หรือนักชงกาแฟ ทอผ้า ทำขนม และที่สำคัญอีกอาชีพหนึ่งคือ การสร้างตลาดออนไลน์บนคอมพิวเตอร์และมือถือ เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของชุมชน ซึ่งในปัจจุบัน ส่งจำหน่ายตามร้านค้าต่างๆ และ ร้านค้าในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำให้เด็กกลุ่มนี้และครอบครัว สามารถสร้างงานสร้างได้ให้กับตนเอง มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถดูแลตนเองได้ และอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างไม่เป็นภาระหลังจากเยี่ยมชมการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การฝึกอาชีพ และความสามารถของเด็กๆในชุมชนแห่งนี้แล้ว
ดร.กมล รอดคล้าย ได้ชื่นชมการทำงานและขอบคุณทุกภาคส่วน ที่มีส่วนช่วยให้โครงการนี้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง และประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ พร้อมกับกล่าวว่า "สังคมไทยยังให้ความหวังเเละมีที่ยืนสำหรับทุกคนเสมอ การศึกษาสำหรับคนพิการ ต้องมุ่งหมายไปที่การทำให้คนเหล่านี้สามารถอยู่รอดในสังคมได้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี การให้ความรู้พื้นฐาน และความรู้ด้านอาชีพจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเมื่อคนพิการสามารถดูแลตัวเองได้ เลี้ยงตัวเองได้ ย่อมภาคภูมิใจที่อยู่รอดได้โดยไม่เป็นภาระของสังคม ถึงวันหนึ่งก็อาจจะมีส่วนช่วยเหลือสังคมได้ด้วย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องร่วมไม้ร่วมมือกัน ในการให้บริการเเละร่วมพัฒนาอย่างเต็มที่ “