ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน เชียงดาวเปลี่ยน ภาระให้กลายเป็น

วันที่ลงข่าว: 01/02/19

          สานฝันผู้พิการสู่คุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ร่วมสร้างสังคมไทยที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง "No One Left Behind"

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ณ วันที่ 30 กันยายน 2561 มีคนพิการจำนวน 2,022,481 คน (ร้อยละ 3.05 ของประชากรทั้งประเทศ) คนพิการที่อยู่ในวัยทำงาน (อายุ 15 - 60 ปี) จำนวน 877,853 คน ซึ่งมีคนพิการในวัยทำงานที่ประกอบอาชีพ จำนวน 218,490 คน (ร้อยละ 24.89ป การสร้างหรือฝึกอาชีพให้กับผู้พิการาอย่างเหมาะสมนั้น ถือเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการให้สามารถพึงพาตนเองได้ และเปลี่ยนผู้พิการที่ถูกมองว่าเป็นภาระให้กลายเป็นอีกหนึ่งพลังที่สำคัญในการพัฒนาประเทศได้

          สอดคล้องกับเป้าหมายของ "มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ" ที่มุ่งเน้นการดำเนินงานแบบ Empowerment ผู้พิการ ด้วยการสร้างงานสร้างอาชีพ สร้างให้ผู้พิการมีรายได้ สร้างให้เกิดการรวมกลุ่ม เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อให้คนพิการก้าวพ้นความยากจน สามารถประกอบอาชีพอิสระ มีรายได้ที่เพียงพอและยั่งยืน จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง "ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่" ที่จะเป็นต้นแบบของศูนย์ฝึกอาชีพสำหรับคนพิการในระดับภูมิภาคอาเซียน เพื่อพัฒนาผู้พิการให้เป็นประชากรที่สามารถพึ่งพาตนเองได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

          โดย "ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน" เกิดขึ้นจากแนวคิดของศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิฯ ที่มองเห็นว่าทางออกหรือแนวทางที่จะสามารถช่วยเหลือคนพิการทั่วประเทศที่ส่วนใหญ่อยู่ในชนบท มีฐานะยากจนและไม่มีอาชีพที่แน่นอนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้สามารถก้าวพ้นความยากจนได้นั้น จะต้องให้ผู้พิการและครอบครัวได้ประกอบอาชีพอิสระที่มั่นคง ยั่งยืน และเป็นอาชีพทีทำได้จริงด้วยตนเอง ใช้พื้นที่น้อย ลงทุนต่ำ รายได้ดี ที่สำคัญเมื่อทำแล้วต้องขายได้ มีรายได้เพียงพอกับการดูแลตนเองและคนในครอบครัว จึงได้มีการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ของผู้พิการขึ้นมาภายใต้แบรนด์ "ยิ้มสู้" เพื่อสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้กับผู้พิการ โดยปัจจุบันได้นำสินค้าเข้าวางจำหน่ายในห้างแม็คโครในเขตจังหวัดภาคเหนือและมีแผนที่จะขยายไปทั่วทุกภูมิภาคประเทศ ซึ่งการสนับสนุนสินค้าต่างๆ ภายใต้แบรนด์ยิ้มสู้ ก็เท่ากับว่าประชาชนคนไทยทุกคนจะได้มีส่วนในการช่วยเหลือผู้พิการนั่นเอง

          นายสมศักดิ์ ชัยชนะ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน อำเภอเชียงดาว กล่าวว่า จุดเด่นที่สร้างความแตกต่างในการฝึกอบรมด้านอาชีพของศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนก็คือ เป็นหลักสูตรที่ออกแบบมาเพื่อ "คนพิการ ผู้แลคนพิการ และครอบครัวของผู้พิการ" และอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นหลักสูตรอาชีพที่ใช้เวลาการฝึกอบรมนานที่สุด โดยใช้เวลาในการอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติอีก รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 3 เดือน หรือ 100 วัน

          โดยการฝึกอบรมนั้นจะมุ่งเน้นไปที่อาชีพที่สามารถมีรายได้รายวันรายสัปดาห์ รายเดือน โดยผู้พิการสามารถทำได้จริงด้วยตนเอง ใช้พื้นที่น้อย ลงทุนต่ำ กำไรดี ขายดี จึงเป็นที่มาของการฝึกอาชีพ 3 ด้าน คือการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด เพาะเห็ดนางฟ้าภูฐาน และการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งเป็นอาชีพที่มีรอบการผลิตต่ำใช้เวลาเพียง 45 วัน และมีความต้องการของตลาดสูงรวมไปถึงอาชีพอื่นๆ ที่ผู้พิการสามารถดำเนินการควบคู่กันไปได้เช่นการปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงไก่ไข่ เป็นต้น

          นายสมบูรณ์ อิ่มนวลหัวหน้าศูนย์บริการอาชีพอิสระคนพิการและครอบครัวระดับพื้นที่ จังหวัดเชียงใหม่สายใต้ ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอดอยหล่อซึ่งเป็นผู้พิการรุ่นแรกที่เข้ารับการอบรมที่ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการที่อำเภอแม่ริม เล่าว่า เมื่ออบรมเสร็จก็นำกลับมาทำที่บ้านโดยเริ่มต้นจากการเลี้ยงจิ้งหรีดประมาณ 5-6 กล่อง ผลผลิตที่ได้แทบไม่พอขายเพราะเป็นที่ต้องการาของคนในท้องถิ่น โดยในบางครั้งที่ผลผลิตเช่นเห็ดออกมามาก ชนกับเห็ดธรรมชาติจากป่าก็จะนำมาแปรรูปเช่น แหนมเห็ด หรือ ไส้อั่ว 3 สหาย ที่ประกอบไปด้วย เห็ด หมู และจิ้งหรีดเป็นส่วนผสม ก็สามารถสร้างความน่าสนใจจากผู้บริโภคและเป็นการสร้างรายได้เสริมเพิ่มขึ้นอีกทาง

          ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากการจัดโครงการ "ปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind" เมื่อต้นปี 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่คนตาบอดปั่นจักรยานจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ รวมระยะทางกว่า 867 กิโลเมตร เพื่อระดมทุนก่อสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน ที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้นจำนวน 150 ล้านบาท ซึ่งในครั้งนั้นทางมูลนิธิฯ ได้รับยอดเงินบริจาคจากการจัดกิจกรรมทั้งสิ้นกว่า 32 ล้านบาท ดังนั้นในปีนี้จึงได้จัดกิจกรรม "ปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ปี 2" ขึ้นเป็นปีที่ 2 อย่างต่อเนื่องเพื่อระดมทุนบริจาคในการนำไปใช้ก่อสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนให้แล้วเสร็จ

          สำหรับโครงการ "ปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ปี 2" นั้น ในปีนี้จะมีคนตาบอดจำนวน 22 คนและอาสาสมัคร 22 คน ร่วมกันปั่นจักรยาน จากกรุงเทพฯ ถึงศูนย์ฝึอาชีพคนพิการอาเซียน อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ผ่าน 15 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด สระแก้ว ปราจีนบุรี นครราชสีมา ลพบุรี สระบุรี อยุธยา ปทุมธานี สุพรรณบุรี และนครปฐม ในระหว่างวันที่ 9 ถึง 22 กุมภาพันธ์ 2562 รวมทั้งสิ้น 14 วัน ระยะทางรวม 1,500 กิโลเมตร โดยในแต่ละจังหวัดจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ให้คนในสังคมเห็นศักยภาพของผู้พิการและให้โอกาสผู้พิการในการพัฒนาตนเองเพื่อเป็นพลังในการพัฒนาสังคมต่อไปในอนาคต

          และในการนี้ มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จเป็นประธานในการเปิด โครงการ "ปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ปีที่ 2" และทรงนำร่วมปั่นจักรยานจาก สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ถึงจังหวัดสมุทรปราการ ระยะทาง 50 กิโลเมตรด้วย

          "มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ รู้สึกซาบซึ้งและสำนึกในพระกรุณาธิคุณของ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เป็นอย่างยิ่ง ที่ทรงเมตตาประทานธงประจำพระองค์ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่นักปั่นจักรยานผู้พิการทางสายตาและอาสาสมัคร และเสด็จเป็นประธานในการเปิดโครงการ ปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ปีที่ 2 และทรงนำร่วมปั่นจักรยานจากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดสมุทรปราการ ในวันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นวันแรกของการจัดกิจกรรมด้วย ในการนี้มูลนิธิสาสกลเพื่อคนพิการจึงขอเชิญชวนคนไทยทุกคนร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ร่วมกับผู้พิการในการที่จะร่วมกันขยายและสร้างโอกาสให้คนพิการ สานต่องานที่พ่อทำ ด้วยการช่วยเหลือให้ผู้พิการสามารถก้าวข้ามความยากจน มีอาชีพที่ยั่งยืน เพื่อที่จะเปลี่ยนผู้พิการที่ถูกสังคมมองว่าเป็นภาระให้กลายเป็นอีกหนึ่งพลังในการสร้างสรรค์และพัฒนาสังคมต่อไป"ศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ กล่าวสรุป

 

อ่านต่อได้ที่ : https://www.ryt9.com/s/tpd/2947702

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม 2562
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก