ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

นโยบายดิจิทัลเพื่อความอยู่รอดของประเทศในศตวรรษที่ 21

วันที่ลงข่าว: 11/01/19

          พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และอดีตรองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทข.) ได้อธิบายนโยบายดิจิทัลเพื่อความอยู่รอดของประเทศในศตวรรษที่ 21 ว่า “การนำเทคโนโลยีดิจิทัลประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และในอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทย จะทำให้ประเทศสามารถพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชน เพิ่มอัตราการจ้างงาน เพื่อคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมไทย สามารถเพิ่มผลิตผลทางเศรษฐกิจ และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการของภาครัฐได้”

          การใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเทคโนโลยีดิจิทัล แม้จะมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น แต่ก็สามารถกำหนดมาตรการด้านความมั่นคงปลอดภัยทางเทคโนโลยีและกฎหมาย เพื่อให้แน่ใจว่าประชาชนยังคงมีความเป็นส่วนตัวในชีวิตและข้อมูลของพวกเขาได้ ดิจิทัลถูกนำมาใช้เพื่อช่วยให้ประชาชนเป็นผู้บริโภคที่ชาญฉลาด สามารถประหยัดค่าใช้จ่าย และได้รับคุณค่าในอาชีพมากขึ้น 

          การดูแลสุขภาพและสวัสดิการทางสังคมถูกยกระดับคุณภาพได้ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล การปฏิรูประบบสาธารณสุขด้วยการใช้เทคโนโลยีแพทย์ทางไกล “เทเลเมด” หรือ Telemedicine โดยบริการเหล่านี้จะมีรูปแบบเฉพาะบุคคลมากขึ้น และเป็นการใช้ระบบที่สามารถให้บริการได้จากระยะไกล ไปจนถึงการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของภาครัฐและในการพัฒนาบริการต่างๆ มีเพิ่มมากขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

          เพื่อคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมไทย นโยบายการผสมผสานมรดกทางวัฒนธรรมกับเทคโนโลยีดิจิทัลจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้จัดการมรดกทางวัฒนธรรมให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล อย่างเช่น web content ที่จะถูกบันทึกเก็บไว้ จะกลายเป็นมรดกทางดิจิทัลที่สามารถเก็บรักษาไว้ในระยะยาว และเราสามารถนำมรดกทางวัฒนธรรมแบบดิจิทัลนั้น มาใช้เป็นต้นทุนทางปัญญาในการพัฒนานวัตกรรม ทั้งด้านสินค้า และการให้บริการในชุมชน เพื่อความยั่งยืนในการรักษาความเป็นไทยไว่ให้ได้

          การใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างชาญฉลาด จะสามารถสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นจำนวนมากได้ ทั้งในภาคส่วนอุตสาหกรรมดิจิทัลเองและอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งทำให้ประชาชนสามารถทำงานได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้ประชาชนสามารถรักษาตำแหน่งงานเดิมเอาไว้ได้ และหากจะต้องสูญเสียตำแหน่งงานไปจริงๆ ก็จะสามารถนำประชาชนเหล่านี้ไปสู่อาชีพใหม่ๆ ในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ ซึ่งสิ่งสำคัญในปัจจุบันก็คืองานที่ไม่ประยุกต์ใช้ทักษะด้านดิจิทัล จะเริ่มหายไปจากตลาดของการจ้างงาน ดังนั้นการนำเอาดิจิทัลไปใช้อย่างกว้างขวาง จะช่วยเร่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในตลาดแรงงานอย่างรวดเร็ว

         การใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้เกิดระบบการศึกษาเป็นแบบส่วนบุคคลและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ทำให้คนในชนบท คนพิการ และผู้ด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงการศึกษาทางเลือกออนไลน์ที่ได้รับการรับรองเท่าเทียมกับการศึกษาในระบบเดิม จึงสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการฝึกอบรมและการฝึกฝนทักษะความสามารถต่างๆ ซึ่งทั้งความรู้และทักษะของมนุษย์มีความจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไปจนถึงสถานที่ทำงานของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ ควรปรับตัวให้เป็นการทำงานแบบเครือข่าย ที่ทำให้รูปแบบการทำงานมีความยืดหยุ่นมากขึ้น สามารถอำนวยความสะดวกในเรื่องของการทำงานจากระยะไกลและการทำงานนอกเวลาได้ ทำให้เกิดการจ้างงานผู้ที่อยู่นอกตลาดแรงงานได้ ซึ่งสำหรับภาคเอกชนต่างๆ การทำงานในลักษณะนี้คือการจัดการทรัพยากรมนุษย์ ได้อย่างยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น

          นโยบายการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยพัฒนาและเพิ่มผลิตผลที่มากขึ้นเป็นสิ่งที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมต่างๆ จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ โดยผลิตผลจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์และการให้บริการได้อย่างชาญฉลาดมากขึ้น นอกจากนี้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการปรับโครงสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการทางธุรกิจ ยังมีส่วนทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ มีการเติบโตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคพลังงาน และการดูแลสุขภาพ ซึ่งสามารถช่วยในการแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยได้อย่างดีอีกด้วย

          การเชื่อมต่อระหว่างภาครัฐกับประชาชนเป็นนโยบายที่เป็นหัวใจหลักของการพัฒนาทางดิจิทัลของประเทศ เพื่อลดความยุ่งยากในการเข้าถึงบริการต่างๆ ของภาครัฐ (Digital Government Service) โดยในปัจจุบันนี้ การเข้าถึงบริการต่างๆ ของภาครัฐนั้น เต็มไปด้วยความยุ่งยากซับซ้อน มีค่าใช้จ่ายที่สูง และต้องสูญเสียเวลาในการรอรับบริการเป็นเวลานาน ดังนั้น หนึ่งในนโยบายที่สำคัญของภาครัฐคือ การให้บริการภาครัฐทุกรูปแบบบนมือประชาชนเพียงนิ้วสัมผัส โดยไม่ต้องเดินทาง ด้วยการสร้างประตูเชื่อมระหว่างการให้บริการภาครัฐและประชาชน ซึ่งประชาชนจะเข้าถึงบริการภาครัฐทั้งหมดได้ในที่เดียวบนแอพพลิเคชั่นด้วยความง่ายดาย ซึ่งการเข้าสู่ Gateway ประชาชนไม่จำเป็นต้องรู้ว่าจะใช้บริการหนึ่งต้องไปหาหน่วยราชการใด โดยหน้าจอ Gateway จะทำการตอบสนอง (Interactive) แบบเรียลไทม์กับประชาชนในการให้บริการ โดยประชาชนไม่จำเป็นต้องรู้ว่าหน่วยงานรัฐใดเป็นผู้ให้บริการอยู่ข้างหลัง เพื่อให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและไม่เป็นภาระต่อประชาชน 

         พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ ได้สรุปว่า “หากรัฐบาลสามารถทำได้ทั้งหมดจากที่กล่าวมาข้างต้น ก็จะถือว่านโยบายด้านดิจิทัลของประเทศประสบความสำเร็จอย่างยิ่งและเป็นสิ่งที่พี่น้องประชาชนคนไทยรอคอยให้เกิดขึ้นจริง”

ที่มาของข่าว https://mgronline.com/cyberbiz/detail/9620000003638
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก