ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

อ่านสู่แสงสว่าง

วันที่ลงข่าว: 24/01/13

 

 

 

เรียนรู้ผิวสัมผัสของอักษรเบรลล์ผ่านงานประกวดประจำปี ที่นอกจากจะทำให้สายตาของคนตาบอด "ชัดเจน" ยังทำให้สายตาสังคม "กว้าง" ขึ้น

หลังจากนั่งประจำที่...

 

เรื่องราวระหว่างพ่อแม่ลูก ประกอบอากัปกิริยาต่างๆ ที่ผสมเสียงขึ้นจากอุปกรณ์ใกล้ตัว ก็เปลี่ยนห้องสี่เหลี่ยมจตุรัสเป็นโรงละครขนาดย่อมได้ไม่ยาก กติกามีอยู่ว่า แต่ละทีมจะได้รับเรื่องไปซ้อม 1 รอบ ก่อนเข้าห้องไป "อ่าน" ต่อหน้ากรรมการ

 

"ตื่นเต้นค่ะ" ทั้ง สุกัญญา ประหุปะเม, ณัฐฌาย์ ไตรรัตน์ และน้ำฝน บัวหิรัญ ผู้เข้าแข่งขันทีม kkdd จากขอนแก่นตอบเป็นเสียงเดียวเมื่อถูกถามถึงความรู้สึกหลังจบเรื่องเล่า

 

แม้จะผ่านสนามแข่งทำนองนี้มาอยู่บ้าง แต่ทั้ง 3 สาวก็ยอมรับว่า ยังเก็บอาการ "ประหม่า" ไม่ค่อยอยู่

 

"หนูว่าพวกเราก็ยังได้ลุ้นอยู่นะ" สุกัญญายืนยันด้วยรอยยิ้ม กับเพื่อนๆ

 

การถ่ายทอดตัวอักษรตะปุ่มตะป่ำบนแผ่นกระดาษ ผ่านส่วนผสมของจินตนาการ ที่ทำให้ "ความพิการทางสายตา" ของพวกเธอหายไป และกลเม็ดเด็ดพรายที่แต่ละทีมงัดขึ้นมาใช้เพื่อพิชิตคะแนนนั้น กลายเป็นเสน่ห์ รวมทั้งยังเพิ่ม "สีสัน" ของบรรยากาศการประกวดอ่าน และเขียนอักษรเบรลล์ ของวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ยิ่งคึกคักขึ้นไปอีก

 

ทลายรั้วด้วยตัวอักษร

 

เสียงหัวเราะ และรอยยิ้มของผู้เข้าประกวดที่กระจายตัวอยู่ตามบริเวณงานในรั้ววิทยาลัย นอกจากจะแสดงถึงความรู้สึกของพวกเขาในเวทีแข่งขันระดับประเทศแล้ว เบื้องหลังของการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องมาเกือบ 2 ทศวรรษคือการทลายความคิดผิดๆ เกี่ยวกับ ผู้พิการทางสายตา หรือ คนตาบอด ด้วย

 

"เหตุที่ต้องจัดเพราะมันเป็นความอาภัพ อับวาสนา" มณเฑียร บุญตัน กรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ และประธานคณะกรรมการจัดงาน WBU-ICEVI 2012 ตัดพ้อถึง "ความหมายแฝง" ของงานนี้ซึ่งเริ่มจัดมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 หรือ 19 ปีที่แล้ว

 

เขาอธิบายถึงการ "อ่าน" โดยทั่วไปของคนเรามีอยู่ 3 ประเภท คือ "ใช้ตาดู-เงี่ยหูฟัง-เอื้อมมือสัมผัส" ขณะที่ คนตาบอดนั้นจะทำให้การอ่านสัมฤทธิ์ผลนั้น ต้องใช้ทั้ง "หู" และ "มือ" ไปพร้อมๆ กัน

 

"การฟังได้เปรียบคือ เร็ว ทำให้เราอ่านปริมาณมากๆ ได้ แต่ไม่สามารถอ่านวิเคราะห์รูปประโยค หรือวรรคตอนได้ ขณะที่การคลำนั้นทำให้เราสามารถรู้เลย์เอาท์ของหน้ากระดาษ เข้าใจเนื้อหาทั้งในเชิงพื้นที่ และเชิงกาลเวลา เหมือนกับคนที่อ่านด้วยตา ช่วยในการจำได้ดี"

 

แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ในปริมาณหนังสือเล่มที่ออกสู่ตลาด หนังสือที่พิมพ์เป็นอักษรเบรลล์ (Braille) นั้น แทบจะนับเล่มได้ ไม่ต่างจากการเรียนการสอนของคนตาบอด ก็อยู่ในสถานการณ์ที่ "ย่ำแย่" พอกัน

 

สิ่งที่ กรรมการฯ สิทธิคนพิการฯ หมายถึงก็คือ ปริมาณโรงเรียนสอนคนตาบอด 14 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละโรงก็สามารถรับเด็กเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ได้โรงเรียนละไม่เกิน 20 คน ต่อปี เมื่อเทียบสัดส่วนเด็กวัยเรียนที่พิการทางสายตากว่า 200,000 คน ทั่วประเทศ

 

"280 ต่อ 200,000 อัตราส่วนนี้มันน่าน้อยใจไหม" เขาย้อนถาม

 

แน่นอนว่า หากจะหันหาไปหาแหล่งความรู้อื่นที่ไม่ใช่โรงเรียนสอนคนตาบอด โอกาสใช้อักษรเบรลล์ก็แทบจะเป็นศูนย์

 

"อย่างศูนย์การศึกษาพิเศษที่มีเด็กพิการหลายจำพวกปนกันก็ไม่มี ใครจะเอาหนังสืออักษรเบรลล์มาให้อ่าน กระทั่งครูส่วนใหญ่ที่สอนคนตาบอดก็อ่านอักษรเบรรล์ไม่ออก หรืออ่านก็อ่านช้า สู้เด็กไม่ได้ หนังสือก็มีน้อย เด็กที่เข้าป.1 ก็ยาก ครูยังไม่มีความสามารถอีก พอเรียนจบโรงเรียนตาบอดแล้ว ไปเรียนโรงเรียนร่วมก็ไม่มีอักษรเบรลล์ให้อีก

 

นอกจากจดเล็คเชอร์เอง แต่จะหาหนังสืออักษรเบรลล์จากร้านหนังสือที่ไหน พอคุณไปทำงานก็ไม่มีอักษรเบรลล์ให้คุณอ่าน ปัจจัยแวดล้อม หรือปัจจัยพื้นฐานก็ไม่ได้ช่วยให้คนตาบอดได้อ่านอักษรเบรลล์ได้เต็มที่เลย เมื่ออายุมากขึ้น ทักษะที่เคยมีก็จะค่อยๆ หายไป"

 

การประกวดสำหรับเขาจึงเป็นเหมือนตัวกระตุ้นเตือนตัวผู้พิการทางสายตาเอง ผู้คนที่อยู่แวดล้อม อาทิ ครู และบุคลากรทางการศึกษา สังคม หรือแม้แต่รัฐบาลเองก็ตาม

 

"รัฐบาล จะได้รู้ว่าการที่คุณไม่ผลิต หรือการไม่แก้กฎหมายลิขสิทธิ์ การไม่ควบคุมรูปแบบของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ล้วนแล้วแต่ทำให้การใช้อักษรเบรลล์เต็มไปด้วยความยากลำบากทั้งสิ้น เราก็ต้องใช้ให้กิจกรรมแบบนี้ ให้เกิดกิจกรรมแล้วเกิดความคิดว่าจะทำยังไงให้ แก้กฎหมายลิขสิทธิ์ กำหนดมาตรฐานเอกสารอิเล็กทรอนิกส์

 

...รวมทั้งกระตุ้นให้ครูเรียนรู้การใช้อักษรเบรลล์ให้ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ เราจะทำให้คนตาบอดหลุดพ้นจากการ ขายหวย หมอดู หมอนวด ดนตรีข้างถนน สลับไปสลับมาชั่วนาตาปี แบบนี้มันไม่ไหวนะ"

 

"ไม่ได้บอกว่าขายหวยไม่ดีนะครับ แต่ลูกร้อยพ่อพันแม่แบบนี้ ทำไมต้องบังคับให้ทำอาชีพ 4 อย่าง มันเป็นเวรเป็นกรรมอะไร" ประธานฯ WBU-ICEVI 2012 คนเดิมเผยความรู้สึกผ่านเสียงหัวเราะ

 

ทั้งหมด ล้วนแต่เป็นผลพลอยได้ และความหวังจากการอ่าน-เขียนตัวอักษรตะปุ่มตะป่ำที่ผู้เข้าแข่งขันทุกคนต่างตั้งใจฝึกซ้อมมาอย่างเต็มที่

 

เข้าใจ - เข้าถึง

 

สิ่งเดียวที่ทำให้น้ำฝนกลัวหลังจากดวงตาทั้ง 2 ข้างเริ่มมองอะไรไม่เห็นหลังจากต่อสู้กับต้อหินมาตั้งแต่เกิดจนอายุ 10 ปี คือ กลัวว่าจะไม่ได้เรียนหนังสือ แต่หลังจากใช้เวลาเรียนรู้กับโลกที่มองไม่เห็นอยู่ร่วม 3 ปี เธอจึงได้กลับมาเรียนอีกครั้ง

 

ยากที่สุดในการปรับตัวก็คือ...

 

"ตอนปรับบุคลิกเวลาที่อยู่กับคนอื่นค่ะ เราไม่รู้ว่าคนอื่นมองเราแบบไหน ก็ทำให้รู้สึกประหม่า"

 

การมองไม่เห็นไม่ได้หมายความว่าจะสิ้นสุดการใช้ชีวิตอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ

 

เหมือนกับที่ เอม - อธิชา สันถะมิตร นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เลือกเรียนในสาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นก็เพราะ... "อยากช่วยเหลือสังคม"

 

"เราเป็นคนพิการก็ไม่ได้ช่วยอะไรสังคมมากนักอยู่แล้ว ก็อยากจะลองเรียนดู แล้วก็อยากจะรู้ว่าคนพิการสามารถทำได้หรือเปล่า" เธอเผยมุมมอง

 

ด้าน ธมนิฎฐ์ ชาญจรัสพงศ์ ที่ตาบอดเพราะอาการจอประสาทตาเสื่อมเมื่อ 7 ปีก่อนยอมรับว่า การใช้ชีวิตในโลกมืดนั้นถือเป็นการเปิดมุมมองใหม่ให้กับชีวิต และสำหรับตัวเขาเองนั้นถึงจะตาบอดก็ไม่ได้ทำให้คุณค่าในการใช้ชีวิตของตัวเองนั้นหายไปแต่อย่างใด

 

แล้วอะไรที่ทำให้ "คนพิการ" ยังไม่เป็นเนื้อเดียวกันกับสังคมส่วนใหญ่

 

"สิ่งที่ทำให้สังคมไม่เคยยอมรับคนพิการเต็มร้อยก็เพราะเวทนานิยม" นั่นคือข้อสรุปที่มณเฑียรค้นพบ

 

เมื่อ "เวทนา" คือความรู้สึกที่มากระทบ "อายตนะ" สังคมไทยเป็นสังคมฐานเวทนานิยม ความรู้สึก ประสบการณ์ สัญชาตญาณ ทั้งหมดจึงเป็นผีตัวเดียวกันในข้อสังเกตของเขา

 

"เมื่อเราใช้ความรู้สึก เท่าที่เรามีอยู่เป็นฐานในการคิด และตัดสินใจเกี่ยวกับบุคคลรอบข้างเรามันก็ไปไหนไม่ได้ ไม่มีความก้าวหน้า มันไม่รู้จะทำยังไง เจอคนตาบอด 1 คนนี่ตายเลย ไม่สามารถจะคิดอะไรออกได้แล้ว"

 

หลังจาก "คิดแทน-ครอบงำ-ทำให้" สุดท้ายก็กลายเป็น "เลือกปฏิบัติ"

 

"ทะนุถนอมมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ พอมาถึงพี่น้องนี่พูดไม่ค่อยเพราะแล้ว พอถึงรุ่นหลานนี่แช่งเลย ไม่ต้องไปเรียนหนังสือหรอกลูกอยู่บ้าน เดี๋ยวพ่อแม่เลี้ยงเอง.. คุณจะไปทำงานทำไม มันลำบากนะ อยู่ที่บ้านดีกว่า เดี๋ยวพี่น้องจัดให้.. ทำไปทำมา เมื่อไหร่มึงจะตายสักที กลายเป็นอย่างนั้นไป" เขาขยายความ

 

ทางออกเบื้องต้นที่จะเป็นการกรุยทางไปสู่คำตอบที่ถูกคำถามในอนาคตก็คือ "หลักฐานเชิงประจักษ์"

 

"เราก็พยายามเอาประสบการณ์ความสำเร็จ สังคมไทยต้องเอาตัวอย่าง ต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์ รู้ด้วยปัญญารู้คิดไม่ได้ ต้องเอาคนที่ประสบความสำเร็จมาให้ดู ย้อนกลับมาที่การประกวด ช่วยอะไร ช่วยทำลายเวทนานิยมในใจของนักวิชาการ นักวิจัย ผู้บริหาร ที่ว่า อักษรเบรลล์ต้องอ่าน 10-20 คำต่อนาที"

 

หรือในแง่ของกฎหมายอย่าง รัฐธรรมนูญมาตรา 30 พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการมาตรา 15, 16, 17 รวมทั้งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ อีกหลายฉบับ

 

"ที่พวกนักสร้างวาทกรรมทางการเมืองชอบเรียกว่า 2 มาตรฐาน จริงๆ พวกเราคนพิการผลักดันเรื่องพวกนี้มาก่อนเขาอีก แล้วบรรจุอยู่ในกฎหมายด้วย ไม่ได้มีแต่บ่น เราทำมาตั้งแต่ปี 2540 แล้ว"

 

สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ ธมนิฎฐ์ ไม่อยากให้มองข้ามไปก็คือ การให้โอกาส ไม่ว่าจะเป็น สังคมเปิดโอกาส หรือคนพิการเปิดโอกาสตัวเอง

 

และถือเป็นอีกเรื่องที่ท้าทายว่า จะทำอย่างไรให้คำว่า "ตาบอด" หรือ "พิการ" เป็นเรื่องปกติในสังคม

 

สังคม 'อยู่ดี'

 

"อนาคตสภาก็มีโอกาสมี ส.ส.ตาบอดอย่างผมเข้าไปอยู่ในสภาอีกคนใช่ไหมครับ" กอล์ฟ - ไพโรจน์ พันธุ์ทอง หนุ่มรัฐศาสตร์เล่าความฝันตัวเองเสียงดังฟังชัด

 

ขณะที่สาวเอมก็อยากลงพื้นที่ทำงานด้านประสานงานพัฒนาชุมชนตามสายวิชาชีพที่ร่ำเรียนมา

 

หรือแม้แต่น้ำฝน ซึ่งตั้งใจไว้ว่าจะเป็นครูสอนภาษาไทยหลังจากคว้าใบปริญญาสำเร็จ

 

"ความเป็นไปได้" ของทุกคน ถือเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่จะผลักดันให้พวกเขาให้ออกไปใช้ชีวิตในสังคมต่อไปโดยไม่ทำให้คนตาดีอื่นๆ มองว่าเป็นภาระหรือน่าสงสาร

 

การทำให้ความพิการเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของตัวตนในแง่ "อัตลักษณ์" มากกว่าเป็น "อุปสรรค" จำเป็นต้องมีกุญแจดอกสำคัญในการทลายกำแพงเหล่านั้นด้วย

 

"หากมองรายละเอียดลงไปนิดนึงว่า ถ้าใช้วิธีคิดทั้งภายนอก และภายใน แรกเริ่มเราต้องมองความเป็นไปได้ให้ได้ ทุกคนควรจะมีวิธีคิดแบบนี้ ทุกอย่างมีทางออก ทุกอย่างแก้ไขได้ แล้วเราก็ทำความฝันให้เป็นความจริง พัฒนาตนเองให้มีศักยภาพที่ดีขึ้น นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงจากภายใน เมื่อเชื่อว่าเราต้องทำได้ ต่อไปก็หาวิธี แล้วเราก็ต้องฝึก และใช้วิธีนั้นพิสูจน์ความเชื่อของเราว่าเป็นไปได้ ซึ่งอาจจะผิดแล้วผิดอีก กว่าจะถึงจุดนั้น" มณเฑียรให้ข้อเสนอแนะ

 

ส่วนภายนอกนั้น เขาเชื่อว่านั่นคือเงื่อนไขที่เป็นตัวกำหนดความรุนแรงของความพิการ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งปลูกสร้าง ตลอดจนระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ

 

"ตึกรามบ้านช่อง ถนนหนทาง รถรา เอทีเอ็ม ขวดแชมพู เว็บไซต์ จอคอมพิวเตอร์ ถ้าเราเชื่อว่าสภาพแวดล้อมควรที่จะเอื้อต่อการใช้กับคนทุกคนทุกกลุ่ม ความพิการมันก็จะลดความยากลง มันต้องมีความสัมพันธ์กันระหว่างความพิการของเรากับสภาพแวดล้อมภายนอก"

 

พูดให้ชัดก็คือ ต้องพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับศักยภาพของตัวผู้พิการนั่นเอง

 

"ผมกำลังพูดถึงการออกแบบอันเป็นสากล และเป็นธรรม แต่ 'สากล' ไม่ได้หมายความว่า 'ฝรั่ง' นะ เราชอบไปเข้าใจอย่างนั้น สากลคือทุกคน ทุกกลุ่ม และมันเป็นธรรม นั่นคือการมองภาพใหญ่ภาพกว้าง ทุกอย่าง"

 

อีกนัยหนึ่งก็คือ Universal Design

 

"เราจะสร้างระบบสราธารณูปโภค อุปกรณ์ ต้องนึกว่าคนที่ใช้มีข้อจำกัดอะไรบ้าง และเราต้องสามารถตอบโจทย์คนให้ได้มากที่สุด" มณเฑียรกำลังหมายถึงการใช้หลัก 'UD' เพื่อ 'อยู่ดี'

 

ไม่ต่างกับ ธมนิฎฐ์ ที่มองเห็นว่า หากสังคมมีเพื่อนเป็นคนตาบอดมากขึ้นก็จะรู้จักคนตาบอดมากขึ้น แล้วจะได้รู้ว่าคนตาบอดสามารถไปไหนเองได้โดยไม่เป็นภาระ อีกทั้งยังดูแลตัวเองได้

 

"ก็น่าจะทำให้มองเห็นว่าสังคมกับคนตาบอดเดินไปด้วยกัน ไม่มาดูแค่คนตาบอดเรียกร้องขอโน่นขอนี่" เขาสรุป

ในทางกลับกัน ก่อนที่สังคมจะเรียนรู้ และปรับตัวเข้าหา คนพิการก็ต้องปรับตัวเข้าหาสังคมด้วย

 

"สำหรับคนเรา มันไม่มีอะไรสมบูรณ์ มันเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล คนให้กับคนรับมานั่งคุยกัน เรามีแค่นี้ แต่คุณต้องการแบบนี้ ตรงกลางอยู่ตรงไหน ที่สามารถปรับเข้าหากันได้ ตามมีตามเกิดแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย" มณเฑียรเปรียบเทียบ

 

หรือกระทั่ง

 

"หลายคนดาวน์มากถึงเวลาจะผ่านไป 10 ปีก็ตาม เพราะเขาเป็นเหยื่อของเวทนานิยม ตัวเขาเองนั่นแหละสร้างมันขึ้นมาแล้วอยู่กับโลกเวทนานิยมเกินไป"

 

ขณะเดียวกัน ในทางข้อบังคับก็ควรใช้หลักของการห้ามเลือกปฏิบัติเข้าไป หากไม่ทำต้องดำเนินคดี แต่ถ้าทำต้องให้รางวัล เพียงเท่านี้เขาคิดว่า ก็จะช่วยทำให้ทุกอย่างดีขึ้นได้

 

ที่สุดแล้ว ความฝันของกอล์ฟ ความหวังของน้ำฝน หรือความตั้งใจของเอมก็จะไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป.

 

"I have give up on give up": มณเฑียร บุญตัน

 

 

โดย : ชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ภาพประกอบข่าวประจำวัน

^ กลับสู่เนื้อหาหลัก

Fatal error: Call to undefined function drupal_get_path() in /usr/local/www/apache22/data/Braille-new/sites/all/modules/better_statistics/better_statistics.module on line 181