ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สอศ.ร่วมมือกับ วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล เสริมสร้างความรู้ให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษาสังกัด สอศ. ที่มีการจัดตั้งศูนย์บริการสนับสนุนนักเรียนนักศึกษาพิการ

วันที่ลงข่าว: 06/09/17

      นายวณิชย์ อ่วมศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล  เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม การพัฒนาและสนับสนุนการดำเนินการของหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการศึกษา สำหรับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ ให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษาสังกัด สอศ. ที่มีการจัดตั้งศูนย์บริการสนับสนุนนักเรียนนักศึกษาพิการ (Disability Service : DSS)  ซึ่งมีผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษเข้าเรียนรวมแล้ว 2,391 คน ในสถานศึกษา40 แห่ง  แต่เนื่องจากเป็นการจัดการเรียนการสอนตามแผนกชั้นเรียนเหมือนปกติ ทำให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษไม่ได้รับการพัฒนาตามศักยภาพ และตามความแตกต่างเฉพาะบุคคล ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องจัดการศึกษาในรูปแบบของ “การจัดการเรียนรวม : Inclusive” เพื่อให้เด็กและเยาวชนพิการสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างทั่วถึง และได้รับการพัฒนาตามความจำเป็นเฉพาะบุคคล ด้วยการเรียนร่วมกับเด็กปกติโดยไม่มีการแบ่งแยก โดยจะมีการจัดสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ ความช่วยเหลือทางการศึกษา และจัดตั้งศูนย์ต้นแบบอาชีวศึกษา ที่จะให้คำปรึกษาสำหรับครูในการจัดการเรียนการสอน และเป็นแหล่งการปรับหลักสูตร การคัดแยก คัดกรอง อุปกรณ์ เทคนิคการสอน การวิเคราะห์ พัฒนาผู้เรียน การวัดประเมินผล เป็นศูนย์ข้อมูล ศูนย์สื่อ อุปกรณ์ และศูนย์สาธิต สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ สำหรับนักเรียน นักศึกษาที่มีความต้องการพิเศษเรียนร่วมกับนักเรียนปกติ เพื่อเป็นทางเลือกด้วย
       รองเลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ มีมติอนุมัติเงินกองทุน สนับสนุนโครงการพัฒนาการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมในสถานศึกษาสังกัด สอศ. เพื่อพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษา ให้มีองค์ความรู้ ความสามารถ และทักษะในการพัฒนาสมรรถภาพนักเรียน นักศึกษาพิการเรียนรวมในแต่ละประเภทความพิการได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ โดยจะมีการอบรม เกี่ยวกับการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ และมีการติดตามผลการดำเนินงานของผู้เข้าอบรม ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาในระยะแรก และเป็นการสนับสนุนครู และบุคลากรทางการศึกษาได้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ทั้งยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อความเป็นเลิศ มั่นคง และก้าวหน้าในวิชาชีพ

ที่มาของข่าว สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก