ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

'เบรลล์ อาย' นวัตกรรมเพื่อคนในโลกมืด

วันที่ลงข่าว: 13/12/12

 

เมื่อหลายปีก่อน สมัยยังเป็นนักศึกษา สรุจ อังควาณิชย์สุข ใช้เวลาว่างทำกิจกรรมด้านจิตอาสา ด้วยการอ่านหนังสือให้เยาวชนผู้พิการทางสายตาได้รับความรู้ใหม่ๆ ผ่านการฟัง

ด้วยน้ำเสียงอันนุ่มนวลของ สรุจ ทำให้น้องผู้หญิงตาบอดบางคน อดเอ่ยขึ้นด้วยท่าทีคาดคะเนไม่ได้ว่า

 

"พี่เสียงเพราะจัง พี่ต้องหน้าตาดีแน่ๆ "

 

นอกเหนือจากคำพูดชื่นชม ที่เด็กหนุ่มอย่าง สรุจ ได้รับ เขานำไปคิดต่อว่า หากเขาสามารถประดิษฐ์เครื่องมือที่ช่วยให้คนตาบอดมองเห็นได้ ท่าจะดีไม่น้อย

 

"ตอนนั้น ก็เกิดความคิดว่า จะทำอย่างไรให้พวกเขาได้เห็นภาพที่อยู่ตรงหน้า ได้เห็นใบหน้าของผู้คน ได้เห็นท้องฟ้า เห็นนก หรือพ่อแม่ของเขา"

 

นั่นจึงเป็นที่มาของแนวคิดในการผลิตเครื่อง เบรลล์ อาย (Braille Eye) ซึ่งใช้เวลานานถึง 4 ปี ต้องผ่านการเดินทางในการนำเสนอไอเดียในหลายๆ เวที จนกระทั่งลงเอย ด้วยรางวัลชนะเลิศจากเวทีประกวด ทรู อินโนเวชั่น อวอร์ด

 

ด้วยการสนับสนุนของ ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ รองผู้อำนวยการ และหัวหน้าศูนย์นวัตกรรม บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งทำให้ สรุจ มีโอกาสต่อยอด และพัฒนาเครื่องต้นแบบจนสำเร็จในที่สุด จนอาจจะกล่าวได้ว่า นี่คือนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์หนึ่งเดียว สำหรับการมองเห็นของคนตาบอดก็ว่าได้ !

 

"ผมคิดเครื่องนี้มา 3-4 ปี ตั้งแต่สมัยยังเรียนอยู่ ในตอนแรกที่คิดออกมาได้ ก็ไปนำเสนอหน่วยงานต่าง ๆ ทั้ง ไมโครซอฟท์ เนคเทค รวมทั้งมานำเสนอที่ ทรู ว่าจะเป็นไปได้มั้ยในการผลิตเครื่องนี้"

 

สรุจ เล่าว่าตอนนั้นทางไมโครซอฟท์ ที่สหรัฐอเมริกา ได้ให้ความสนใจในไอเดียนี้ และเสนอชื่อให้เขาไปร่วมเวทีการแข่งขันรายการหนึ่ง แต่เนื่องจากไม่มีทุนรอนในการผลิตเครื่อง จึงทำให้ตกรอบ 15 ทีมสุดท้ายจากทั่วโลก

 

"จนมาได้รางวัล ทรู อินโนเวชั่น อวอร์ด เหตุที่ชนะ เพราะเน้นเรื่องไอเดียอย่างเดียว พอผมชนะ ทางผู้ใหญ่ในทรูได้เล็งเห็นว่า สิ่งประดิษฐ์นี้น่าจะมีประโยชน์กับคนตาบอดจริงๆ จึงให้ทุนในการสร้างเครื่องต้นแบบนี้ขึ้นมาเป็นผลสำเร็จ"

 

ด้วยกระบวนการดังกล่าว ทำให้ปัจจุบัน อดีตนักศึกษาอย่าง สรุจ เปลี่ยนสถานภาพมาเป็นพนักงานของ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น อย่างเต็มตัว ในตำแหน่ง "ซีเนียร์ โปรแกรมเมอร์"

 

"เมื่อเครื่องต้นแบบเสร็จ เราได้ทดลองกับคนตาบอด ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนจากสมาคมคนตาบอด หรือศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อคนตาบอด เท่าที่ลองดู เขาเห็นว่ามีประโยชน์ในด้านการศึกษาอย่างมาก แต่ในแง่ของการใช้งานในชีวิตจริง ยังยากอยู่ เพราะต้องฝึกฝน เหมือนๆ กับการไปหัดขับรถยนต์ อะไรทำนองนั้น"

 

วิธีการใช้งานของเครื่อง เบรลล์ อาย สรุจ อธิบายว่า เริ่มต้นจากการให้ผู้พิการทางการมองเห็นใส่แว่นตาที่ติดกล้องเอาไว้ จากนั้นเครื่องจะประมวลผลภาพที่เห็นเบื้องหน้า แล้วแสดงผลออกมาเป็นภาพนูนสูงต่ำ บนแพลทที่จัดเตรียมไว้ ซึ่งคนตาบอดสามารถสัมผัสด้วยมือทั้งสอง แล้วจินตนาการถึงสิ่งที่ได้รับรู้ เช่น ลักษณะรูปทรงของวัตถุ ท่าทางต่างๆ เป็นต้น

 

"มันอาจจะเป็นเพียงภาพหยาบๆ เหมือนคนสายตาสั้นมากๆ เห็นภาพเบลอร์ๆ แต่ก็พอจะรู้ระดับหนึ่งว่า ตรงนั้น มีคนอยู่ และกำลังทำท่าทางต่างๆ ก็สามารถจะรับรู้ได้"

 

อย่างไรก็ดี ในวันที่ "จุดประกาย" ไปร่วมสังเกตการณ์ทำงานของเครื่องนั้น เนื่องจาก นิชานันท์ กาศลังกา ตัวแทนจากศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อคนตาบอด ที่มาลองใช้เครื่อง เพิ่งจะเริ่มต้นเรียนรู้การใช้ จึงยังไม่ได้ใส่แว่น แต่เปลี่ยนมาให้กล้องวางอยู่บนขาตั้งข้างๆ ตัวเธอ ด้วยเหตุผลว่า การใช้งานโดยผ่านแว่นตาที่ติดกล้องนั้น ผู้ใช้ต้องฝึกให้คอมั่นคงจริงๆ

 

สรุจบอกว่า ตอนนี้เขาสร้างเครื่องต้นแบบเสร็จแล้ว จากนั้น ก็ตั้งใจจะนำนวัตกรรมชิ้นนี้เพื่อทำประโยชน์ให้สังคม ด้วยการนำไปติดตั้งตามโรงเรียนสอนเด็กตาบอด

 

"เครื่องเวอร์ชั่นแรกยังมีขนาดใหญ่มาก แต่ในอนาคต เชื่อว่าจะปรับปรุงให้มีขนาดเล็กพอที่คนตาบอดจะสามารถนำติดตัวไปในการเดินทางได้"

 

นับเป็นนวัตกรรมที่คิดค้นและสร้างสรรค์ขึ้น จากพื้นฐานอันดีงามของนักประดิษฐ์ผู้มีจิตอาสา เพื่อมอบให้คนในโลกมืดอย่างแท้จริง.

 

(หมายเหตุ : รายละเอียดเพิ่มเติม ติดตามได้ในรายการ 'ตามดี' ทาง กรุงเทพธุรกิจทีวี โดยชมย้อนหลังได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=ouzmBt_DzTM&feature=BFa&list=PLAOu6DFFmtp...)

 

 

โดย : มโนมัย

ที่มาของข่าว ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 13 ธันวาคม 2555
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก