ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คอลัมน์: สถานีพัฒนาสังคม : คนพิการจำเป็นต้องสามารถเข้าใช้ประโยชน์ในสถานที่ต่างๆ ได้โดยไม่มีอุปสรรค

วันที่ลงข่าว: 17/05/16

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ถนนอู่ทองใน ดุสิต กทม. 10300 email : dek_senate@hotmail.co.th หรือ Facebook: กมธ.พัฒนาสังคม หรือ กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็กฯ วุฒิสภา โทร.02-831-9225-6  แฟกซ์ 02-831-9226

 

ปัญหาคนพิการในสังคมไทยยังไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะ และสถานที่สาธารณะได้อย่างทั่วถึงยังเป็นปัญหาใหญ่ประการหนึ่ง คณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จึงมอบหมายให้คณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการ พิจารณาศึกษาประเด็นการสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ (Accessibility) โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยสรุปสาระสำคัญจากการประชุมได้ ดังนี้

 

นายมณเฑียร บุญตัน รองประธานคณะกรรมาธิการ เห็นว่า การพิจารณาศึกษาประเด็น Accessibility ถือเป็นประเด็นสำคัญและควรได้รับการส่งเสริมให้ได้รับความสนใจในวงกว้างมากยิ่งขึ้นเพราะประเทศไทยเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ ซึ่งเป็น ๑ ใน ๙ อนุสัญญาสำคัญด้านสิทธิมนุษยชน ประเทศไทยเป็นภาคีจำนวน ๗ ฉบับ โดยอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการเป็น ๑ ใน ๗ ที่ประเทศไทยเป็นภาคี สาระสำคัญของอนุสัญญาสิทธิคนพิการให้ความสำคัญในประเด็น Accessibility หรือที่เรียกว่า "การเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้" ถือเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการที่แตกต่างไปจากสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนฉบับอื่นที่เป็นเงื่อนไขที่สำคัญอย่างยิ่ง

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี ๒๕๔๐ และปี ๒๕๕๐ รวมทั้ง ร่างรัฐธรรมนูญที่อยู่ระหว่างการยกร่างในปัจจุบันให้ความสำคัญกับประเด็น Accessibility ไว้มากมาย ได้รับการผนวกไว้ในหมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่อยู่ระหว่างการยกร่าง ประเด็นดังกล่าวได้ปรากฏอยู่ทั้งในสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยและหน้าที่ของรัฐ แสดงให้เห็นว่าประเด็น Accessibility มีแนวโน้มที่จะได้รับความสนใจสูงขึ้นเรื่อยๆ และไม่ได้เป็นประเด็นเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป

 

ปัจจุบัน สหภาพยุโรป หรือ EU อยู่ระหว่างการพิจารณา "European Accessibility Act หรือ EAA" แสดงให้เห็นว่า Accessibility กำลังเป็นที่สนใจของสหภาพยุโรป นอกจากนี้ภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ICT ได้นำประเด็น Accessibility มาใช้เป็นความได้เปรียบเชิงธุรกิจ ซึ่งไม่ได้เป็นประเด็นในเชิงเอื้ออาทรหรือมนุษยธรรมเช่นในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญมากกับเรื่อง Accessibility มีตัวอย่างในการดำเนินการด้านนี้ มากมาย ดังนั้นจึงควรกำหนดแนวทางการผลักดันให้ประเด็น Accessibility เป็นประเด็นสาธารณะในสังคมไทย

 

ด้านตัวแทนจากกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา ให้ความสำคัญต่อประเด็น Accessibility ซึ่งได้กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์โดยใช้การท่องเที่ยวของผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มเป้าหมายนำร่อง เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เป็นผู้สูงอายุมีจำนวนสูงกว่าคนพิการ และหากสามารถจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุได้ดีแล้วก็จะรวมถึงคนพิการตามมาด้วย โดยในปี ๒๕๕๙ นี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้จัดงาน World Tourism Day วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๙ ภายใต้รูปแบบงานการท่องเที่ยวสำหรับทุกคน (Tourism for All ) มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ จัดทำคู่มือการให้บริการนักท่องเที่ยวคนพิการ จัดหลักสูตรฝึกอบรมมัคคุเทศก์และผู้ให้บริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่ให้บริการกับนักท่องเที่ยวคนพิการและผู้สูงอายุ การให้บริการกับนักท่องเที่ยวที่มีข้อจำกัดทางการเคลื่อนไหวและการให้บริการกับนักท่องเที่ยวที่เป็นคนตาบอด มีการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำเพื่อให้สถานประกอบการท่องเที่ยวที่จัดบริการท่องเที่ยวสำหรับคนพิการและ ผู้สูงอายุ และการจัดกิจกรรมส่งเสริมศิลปะสำหรับคนตาบอด  เป็นต้น

 

นอกจากนี้ สำนักพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยว ซึ่งรับผิดชอบดูแล สถานที่ท่องเที่ยวเพื่อให้การออกแบบสิ่งก่อสร้างมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ อาทิ ที่จอดรถ ทางลาด ซึ่งเคยประสานความร่วมมือกับกรมส่งเสริมและพัฒนาชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และภาคเอกชน ในการจัดกิจกรรม ประกวดและคัดเลือกสถานที่ท่องเที่ยวที่จัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ

 

กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีภารกิจงานด้านการส่งเสริมการใช้เทคโนโนยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้ประชาชนทุกภาคส่วน และมุ่งเน้นการส่งเสริมให้ทุกคนมีความรู้และมีโอกาสในการเข้าเพื่อลดช่องว่างในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร โดยมีกิจกรรมหลากหลาย อาทิ การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ไอซีที ชุมชนในพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมาใช้บริการได้ ปัจจุบันมีจำนวนประมาณ ๒,๐๐๐ แห่ง แต่ด้วยปัจจุบันกระทรวงไอซีที ได้รับมอบหมายให้ขับเคลื่อน นโยบายการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy : DE) ซึ่งเป็นนโยบายหลักที่จะเพิ่มศักยภาพการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มียุทธศาสตร์ด้านคุณภาพชีวิตทางสังคมหรือ Digital Society เพื่อใช้ดิจิทัลในการยกระดับคุณภาพชีวิตคนในสังคม

 

ปัจจุบันแผนยุทธศาสตร์นี้อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นจากสาธารณะ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งกระทรวงไอซีที อยู่ระหว่างการดำเนินการโครงการภายใต้โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ใช้งบประมาณค้างจ่ายจากโครงการร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการสำหรับการทำโครงการWiFi เพื่อแท็บเลตโรงเรียน มาจัดทำโครงการเพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและบริการพื้นฐานของรัฐอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ส่งเสริมสนับสนุนให้คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ได้รับการฝึกอบรมความรู้ด้านไอซีที เพื่อเพิ่มทักษะจากใช้ประโยชน์จากดิจิทัล สร้างรายได้ สร้างอาชีพ จำนวน ๘,๐๐๐ ราย ภายใต้วงเงินงบประมาณ ๑๒ ล้านบาท

 

นอกจากนี้ มีโครงการสำคัญๆ อาทิ โครงการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ มีระบบอำนวยความสะดวก มีมาตรฐาน เพื่อให้ทุกคนมีความเชื่อมั่นในการใช้งานดิจิทัลหรือเทคโนโลยีได้มากขึ้น โครงการบริการอินเทอร์เน็ตไร้สายเพื่อประโยชน์สาธารณะสำหรับสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่ที่ให้บริการสาธารณะอื่นๆ และโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เพื่อให้ทุกหมู่บ้านมีอินเทอร์เน็ตที่สามารถเข้าถึงได้ โดยปัจจุบันมีจำนวนกว่า ๓๐,๐๐๐ หมู่บ้านที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้ และคาดว่าต้นปี พ.ศ.๒๕๕๙ จะสามารถดำเนินการได้ประมาณ ๖,๐๐๐หมู่บ้าน ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลัก เพื่อทำให้ทุกคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้

 

ทั้งนี้ ได้มีการประสานงานร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อติดตั้งจุดบริการอินเทอร์เน็ตไร้สาย (Free Wi-Fi) ให้กับสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ และอีกภารกิจหนึ่งที่สำคัญของกระทรวงไอซีที คือ การดำเนินงานตามกฎกระทรวงไอซีทีภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่งกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร บริการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสื่อสารและบริการสื่อสาธารณะ สำหรับคนพิการ พ.ศ.๒๕๕๔ ได้มีการดำเนินการมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎกระทรวงเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างดีขึ้น

 

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีบทบาทหน้าที่ในการจัดบริการโทรคมนาคมเพื่อคนพิการ ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.๒๕๔๔ มาตรา ๑๗ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการโครงการเพื่อให้บริการสำหรับคนพิการ ได้แก่ โครงการ เดซี (Daisy) หรือ โครงการสนับสนุนการขยายบริการห้องสมุดทางโทรศัพท์ เป็นโครงการ ส่งเสริมให้คนตาบอดสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ได้สะดวกโดยไม่ต้อง เสียค่าใช้จ่าย ในลักษณะของบริการห้องสมุดเสียงทางโทรศัพท์ หมายเลข ๑๔๑๔

 

โครงการประสบความสำเร็จอย่างสูง มีจำนวนผู้ใช้งานบริการ เฉลี่ย ๓ แสนครั้ง ต่อเดือน และได้ดำเนินโครงการศูนย์บริการการถ่ายทอดการสื่อสารเพื่อให้บริการแก่ คนหูหนวก เพื่อเป็นศูนย์อำนวยความสะดวกเพื่อผู้พิการทางการได้ยินให้สามารถติดต่อ สื่อสารกับบุคคลที่สามได้ โครงการนี้ก็ประสบความสำเร็จพอสมควร และมีการพัฒนา โครงการต่อเนื่อง

 

นอกจากนี้ มีการดำเนินงานด้านการจัดตั้งศูนย์อินเทอร์เน็ตเพื่อเสริมสร้างทักษะด้านไอซีที ซึ่งประกาศแผนไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๓ แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียม จัดทำแผนใหม่และอยู่ระหว่างการปรับปรุงหลักสูตรการฝึกอบรมให้มีเนื้อหาหลักสูตรที่มีความสมบูรณ์มากขึ้น การดำเนินงานเพื่อให้บริการต่างๆ อยู่ภายใต้ การจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการสังคม (Universal Service Obligation) โดยเก็บเงินจากผู้ประกอบการโทรคมนาคมมาเป็นใช้ในการดำเนินการ เพื่อให้ประชาชนทุกคน รวมถึงผู้ด้อยโอกาสในสังคมและประชาชนในชนบทห่างไกล สามารถเข้าถึงบริการโทรคมนาคมพื้นฐานได้โดยสะดวก ในอัตราค่าบริการที่เหมาะสม และสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสนเทศอย่างเท่าเทียมกันทั่วทั้งประเทศ

 

นอกจากนี้ ในการประมวลคลื่นความถี่ย่าน ๙๐๐ MHz และ ๑๘๐๐ MHz ในช่วงที่ผ่านมานั้น กสทช.ได้กำหนดเงื่อนไขสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต ประกอบกิจการ ต้องจัดทำซิมการ์ดราคาพิเศษสำหรับผู้พิการทุกกลุ่ม โดยผู้ประกอบการต้องเริ่มออกบรรจุภัณฑ์สำหรับคนพิการทุกกลุ่มภายใน ๑ ปี ทั้งนี้ ได้มีการเชิญผู้แทนจากสมาคมคนพิการในแต่ละประเภทเข้าร่วมหารือกับ กสทช. เพื่อศึกษาความต้องการที่แท้จริงในการกำหนดอัตราค่าบริการแล้ว และต่อไป กสทช. จะหารือกับผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตเพื่อพิจารณากำหนดราคาค่าบริการที่เหมาะสมและหาจุดสมดุลทั้งในด้านผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ ซึ่งคาดว่าจะมีข้อยุติเรื่องการกำหนดราคาค่าบริการเร็วๆ นี้

 

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม มีภารกิจหลักของกระทรวง คือการสร้าง พัฒนา และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ในด้านการเดินทางซึ่งได้กำหนดไว้ในกฎกระทรวงคมนาคม คือ กฎกระทรวงกำหนดลักษณะ หรือการจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ และบริการขนส่ง เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ พ.ศ.๒๕๕๖ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงคมนาคมดำเนินการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งสถานที่และยานพาหนะสำหรับคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะคนพิการและผู้สูงอายุให้เข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ โดยการพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างและสถานที่เดิมให้เป็นไปตามกฎกระทรวง สำหรับโครงสร้างใหม่ต้องมีดำเนินการให้เป็นไปตามกฎกระทรวงและเป็นไปตามมาตรฐานของการออกแบบที่เป็นสากล (Universal Design : UD) เพื่อให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งเน้นที่กลุ่มคนพิการและผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดมากที่สุดก่อน โดยมองว่าหากคนพิการและผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ก็จะสามารถทำให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้เช่นกัน

 

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังดำเนินกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องหลังจากมีกฎกระทรวงดังกล่าว อาทิ การศึกษาและพัฒนาการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการในภาคขนส่งสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ มีการศึกษาต้นแบบภาคบริการขนส่ง ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ เพื่อจัดทำเป็นต้นแบบบริการขนส่งที่ให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งมีการออกแบบรายละเอียดเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการเพื่อจัดทำเป็นต้นแบบ รวมถึงกระจายไปยังหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

 

กระทรวงคมนาคมดำเนินการจัดทำคู่มือการให้ความช่วยเหลือ ผู้พิการและผู้สูงอายุ และเตรียมการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมผู้ให้บริการ ภาคขนส่งในการให้ความช่วยเหลือ อำนวยความสะดวก สำหรับคนทุกกลุ่ม ที่มาใช้บริการให้มีความสะดวกและปลอดภัยในการใช้บริการมากขึ้น และการฝึกอบรมการดำเนินการตามคู่มือของคนพิการแต่ละประเภท รวมถึงการดำเนินโครงการศึกษาและจัดทำมาตรฐานการจัดสิ่งอำนวย ความสะดวกในภาคขนส่งโดยเฉพาะมาตรฐานยานพาหนะ ซึ่งยังมีปัญหา สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุไม่สามารถใช้บริการได้เพื่อกำหนดเป็นมาตรฐาน ขั้นต่ำให้สอดคล้องกับการใช้งานในประเทศไทย

 

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมเริ่มดำเนินการศึกษาสำรวจการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกทั่วประเทศในด้านคมนาคม ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๘ ซึ่งเป็นการศึกษา สำรวจ และติดตามเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ในภาคคมนาคมขนส่งทั่วประเทศ และจะได้นำมาจัดทำเป็นข้อเสนอแนะประกอบคำของบประมาณสำหรับโครงการสร้างพื้นฐานเก่าที่ยังไม่มีงบประมาณในการปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐานต่อไป ทั้งนี้ได้ดำเนินการเกี่ยวกับประเด็นการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้สำหรับทุกคนมาอย่างต่อเนื่อง และในระยะเวลา ๑๐ ปีข้างหน้าจะได้มีการปรับปรุงและพัฒนาต่อไปทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง และคาดหวังว่าในอนาคตคนทุกกลุ่มจะสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์แนวหน้าออนไลน์ วันที่ 14 พฤษภาคม 2559
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก