ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ชี้เหลื่อมล้ำเป็นปัญหาระดับโลก แนะแก้ที่ต้นเหตุโดยใช้อริยะสัจ 4

วันที่ลงข่าว: 01/03/16

29 ก.พ. 59 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เขียนบทความ “จากใจนายกรัฐมนตรี” ลงในจดหมายข่าวเพื่อประชาชน ฉบับที่ 21 วันที่ 1 มี.ค. 2559 โดยพล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ความเหลื่อมล้ำ แม้จะเป็นประเด็นหารือในระดับโลก แต่เป็นโชคดีของ “คนไทย ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร” แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็น “ศูนย์รวมจิตใจ” ของปวงชนชาวไทย ทุกหมู่เหล่า ด้วยทรงปกครองประเทศ ตามหลัก “ทศพิธราชธรรม” ยังผลให้เกิดความปรองดองกัน ไม่ว่าจะเป็นคนไทยเชื้อชาติ ชนชั้น เผ่าพันธุ์ ภาษาหรือศาสนาใด ก็สามารถอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างได้ อย่างปกติสุขปัจจัยภายในจึงไม่เป็นมูลเหตุแห่งความขัดแย้งในสังคมไทย หากแต่ปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ กลับมีอิทธิพลสูง กระทบวิถีชีวิตของเรา ทั้งกระแสวัตถุนิยม บริโภคนิยม ประชานิยม และค่านิยมผิดๆ จนเป็นกับดักแห่งความไม่เท่าเทียมในบ้านเมืองเรา ในห้วงที่ผ่านมา

 

ผมเห็นว่าในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ อย่างยั่งยืน เราต้อง “เกาให้ถูกที่คัน” ไม่รอแก้ที่ปลายเหตุ แต่ป้องกันที่ต้นเหตุ โดยใช้หลักความจริงในการพ้นทุกข์ทั้งปวง “อริยสัจ 4” เป็นฐานคิด วิเคราะห์เหตุ ปัจจัยแห่งความแปลกแยกอย่างเป็นระบบ เพื่อกำหนดนโยบายสาธารณะ ในการสร้างบ้านของเรา ให้น่าอยู่สำหรับทุกคน ด้วยเคารพใน “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ดังนี้

 

มิติพื้นที่ 1. การใช้นโยบายต่างประเทศสร้างสรรค์เชิงรุก ทั้งแสดงบทบาทนำทางความคิด และแสดงผลสัมฤทธิ์กันน้อมนำ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาประยุกต์ในการบริหารงานแผ่นดินของรัฐ และการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชนให้พอใจในสิ่งที่ตนมี ไม่โลภ ไม่สะสม แต่แบ่งปัน พึ่งพาเอื้ออาทร เสียสละผลประโยชน์ส่วนตัว เพื่อส่วนรวม การเข้าถึงและใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดก็จะมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ลดความเหลื่อมล้ำทางการพัฒนาของประชาคมโลก ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะความสมดุลของโลก เป็นภูมิคุ้มกันของเรา

 

2. การปรับโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจด้วยการเมืองที่มีธรรมาธิบาล ทำกฎหมายให้เป็นกฎหมาย ไม่ปล่อยให้ใคร “ทำนาบนหลังคน” ไม่มีอภิสิทธิ์ชน ทุกคน “เข้าแถว” คนพิการ คนป่วย เด็ก คนชรา มี “อารยสถาปัตย์” รองรับบริการภาครัฐ การศึกษา สาธารณสุข ต้องทั่วถึง สวัสดิการต้องครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ทรัพยากรน้ำและที่ดินต้องจัดสรรเหมาะสมเพียงพอต่อ “กระดูกสันหลังของชาติ” สิทธิครอบครองไม่กระจุกตัว รายได้จึงจะกระจาย ระบบภาษีมีโครงสร้างเป็นธรรม “ไม่รีดเลือดจากปู” และไม่อุ้มชูกลุ่มทุน แต่ส่งเสริมการเกื้อกูลกัน พี่จูงน้อง เพื่อนดึงเพื่อน และลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อกระจายความเจริญ คืนคนกลับถิ่น คืนแรงงานกลับบ้าน ตัด “วงจรความไม่เท่าเทียม” ทั้งปวงในประเทศ 

 

มิติเวลา 1. วันนี้การลงทะเบียนเพื่อทำฐานข้อมูลกลางจะช่วยให้มาตรการภาครัฐตอบโจทย์ได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย และการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมจะช่วยส่งเสริมหลักการ “ระเบิดจากภายใน” 2. วันข้างหน้านโยบายสาธารณะต้องมียุทธศาสตร์เป็น “เข็มทิศนำทาง” สำหรับเตรียมการสู่อนาคตที่ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ทั้งนี้แม้นิ้วทั้ง 5 จะยาวไม่เท่ากัน แต่สำคัญไม่ต่างกัน ความเหลื่อมล้ำนั้นอยู่ที่ใจ ต้องยกระดับความคิดคนด้วยการศึกษา และยกระดับจิตใจคนด้วยธรรมะครับ

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์แนวหน้าออนไลน์ วันที่ 1 มีนาคม 2559
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก