ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กำหนดให้สถานศึกษา เป็นสถานศึกษาปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ตามกฎหมายอย่างเข้มงวด โดยให้เฝ้าระวัง กำกับ ติดตาม เด็กและเยาวชน ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า

วันที่ลงข่าว: 30/04/25

          สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติแจ้งว่า สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 6 ได้บัญญัติให้สุขภาพเด็ก คนพิการ คนสูงอายุ และคนด้วยอากาศในสังคมและกลุ่มต่างๆที่มีความจำเพาะในเรื่องสุขภาพ ต้องได้รับการสร้างเสริมและคุ้มครองอย่างสอดคล้องและเหมาะสม โดยสถานการณ์ปัจจุบันการแพร่หลายของบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชนไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการเสพติดนิโคตินอย่างรุนแรง แต่ยังส่งผลกระทบเชิงลบต่อพัฒนาการทางสมองและสุขภาพร่างกายในระยะยาว สถานการณ์นี้ไม่เพียงแต่เป็นปัญหาส่วนบุคคลแต่ยังส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง

          คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จึงได้สนับสนุนให้คณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ดำเนินการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่าย หน่วยงาน และองค์กรต่างๆ โดยได้จัดการประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นการปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งภาคีเครือข่ายเข้าร่วมสมัชชาดังกล่าวได้มีการปรึกษาหารือร่วมกัน และมีฉันทามติเป็นข้อเสนอต่อกลไกต่างๆ เพื่อการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านการป้องกันและควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า

          เพื่อให้การดำเนินการปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้ขอความร่วมมือหน่วยงานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

          1. สถาบันการศึกษาทั้งในกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงสถานศึกษาทุกระดับ ทุกสังกัดทั้งภาครัฐและเอกชน กำหนดให้สถานศึกษาในสังกัดเป็นสถานศึกษาปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เฝ้าระวัง กำกับ ติดตามเด็กและเยาวชนไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงมีนโยบายสนับสนุนให้มีการรณรงค์ให้สถานศึกษาปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า โดยบูรณาการการเรียนการสอน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนให้รู้เท่าทันพิษภัยรวมถึงกลยุทธ์ทางตลาดของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าให้สอดรับกับระดับการเรียนรู้ของแต่ละช่วงวัย สร้างความตระหนักรู้ถึงภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า หรือผลิตภัณฑ์ที่มีนิโคตินรูปแบบใหม่ และดำเนินการพัฒนาศักยภาพครูและผู้ปกครอง รวมทั้งสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย

          2. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมศุลกากร กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ได้แก่กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา บังคับใช้กฎหมาย ที่มีผลใช้บังคับในปัจจุบันอย่างเคร่งครัดและเด็ดขาด

          3. กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการปกครอง กรมศุลกากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ร่วมมือกันให้มีการดำเนินคดีเพื่อจับกุมผู้กระทำผิดรายใหญ่ด้วยการสืบหาต้นตอและดำเนินการกับทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด ซึ่งขยายผลด้วยการใช้กลไกการกระทำความผิดที่เข้าข่ายความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอก เงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

          4. หน่วยงานภาครัฐกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน ดำเนินกิจกรรม ในการสร้างความตระหนักรู้และร่วมปกป้องเด็กและเยาวชนจากการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก