ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

"วราวุธ" เผย กระทรวง พม. กระทรวงแรงงาน เตรียมทำ MOU ร่วมผู้ประกอบการ เครือข่าย ร่วมพัฒนาทักษะ 5 สาขาอาชีพ สร้างงาน เพิ่มรายได้ ให้คนพิการ ผู้ดูแลคนพิการ

วันที่ลงข่าว: 24/04/25

          นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน รวมถึงผู้ประกอบกิจการ และเครือข่ายคนพิการ ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาทักษะอาชีพคนพิการ และผู้ดูแลคนพิการสู่ความยั่งยืน เพื่อบูรณาการการส่งเสริมและพัฒนาทักษะอาชีพคนพิการและผู้ดูแลคนพิการอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เป็นการเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพของคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ ได้กำหนดเป้าหมายพัฒนาทักษะอาชีพคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ 4,328 คน ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวง พม. ได้มีการสำรวจข้อมูลความต้องการฝึกอบรมฝีมือแรงงานและความต้องการทำงานของคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ ตลอดจนจัดเตรียมและประสานกับกลุ่มเป้าหมายที่ประสงค์จะเข้ารับการฝึกอบรม โดยคณะอนุบริหารกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ได้อนุมัติโครงการส่งเสริมและพัฒนาทักษะอาชีพคนพิการและผู้ดูแลคนพิการสู่ความยั่งยืน 

          เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา นายโชคชัย วิเชียรชัยยะ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวง พม. เป็นประธานการประชุมร่วมกับ นายภัทรวุธ เภอแสละ รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ร่วมกับ สมาคมคนพิการ เพื่อหารือแนวทางการขับเคลื่อนโครงการฯ และได้กำหนดจัดพิธีเปิดโครงการและพิธีลงนาม MOU ระหว่างกระทรวง พม. กับ กระทรวงแรงงาน และภาคีเครือข่าย ในวันที่ 6 พ.ค. 68 ณ กระทรวงแรงงาน โดยมี รมว.พม. กับ รมว.แรงงาน ร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งการผลักดันความร่วมมือในครั้งนี้ มุ่งพัฒนาศักยภาพคนพิการและผู้ดูแลคนพิการให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะฝีมือแรงงานในการประกอบอาชีพที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน จนสามารถไปประกอบอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคง ทำให้พึ่งพาตนเองและดูแลครอบครัวได้ รวมถึงขยายโอกาสในการทำงาน การจ้างงาน และมีทางเลือกในการประกอบอาชีพเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนส่งเสริมการยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมทางสังคม และเป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต 

          สำหรับหลักสูตรการฝึกอบรมนั้น มีทั้งระยะสั้น-ยาว ได้แก่ 12 ชั่วโมง, 18 ชั่วโมง, 30 ชั่วโมง, 60 ชั่วโมง และ 90 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ค. 68 ซึ่งฝึกอบรมโดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน และองค์กรเครือข่ายในพื้นที่ ประกอบด้วย 5 สาขาอาชีพ ดังนี้ 1) เครื่องดื่ม อาหาร อาหารว่าง 2) ศิลปะประดิษฐ์ จักสาน และของที่ระลึก 3) เกษตรและอาหารแปรรูปจากเกษตร 4) เทคโนโลยีและช่างฝีมือ และ 5) ขายสินค้าและบริการ

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก