โคราชทำถึงช่วยกลุ่มคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส”นายก.ยลดา”ปิ๊งโปรเจ็กต์เปลี่ยนวีลแชร์ที่แสนจะธรรมดาเป็นระบบไฟฟ้า”พร้อม อัปสกิลช่างซ่อมฯ หลักสูตรเข้ม 6 วันเต็ม
ที่ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ต.หัวทะเล อ.เมืองนครราชสีมา ดร.ยลดา หวังศุภกิจโกศล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมาเป็นประธานในการมอบใบประกาศนียบัตรผู้ที่ผ่านการอบรม “โครงการเพิ่มศักยภาพและทักษะการผลิต ซ่อมแซมกายอุปกรณ์ หลักสูตร การปรับปรุงรถเข็นวีลแชร์เป็นระบบไฟฟ้า “ เพื่อเพิ่มทักษะสามารถนำวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือที่มีอยู่ไปประยุกต์ใช้ในหน่วยงาน องค์กร และช่วยเหลือคนพิการ ผู้สูงอายุ ใน จ.นครราชสีมา ให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
ทั้งนี้การอบรมเพิ่มศักยภาพและทักษะการผลิตและซ่อมแซมกายอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ หลักสูตร “เพิ่มศักยภาพและทักษะการปรับปรุงรถเข็นวีลแชร์เป็นระบบไฟฟ้า และการพัฒนาล้อรถจักรยานให้เป็นล้อสำหรับรถเข็นวีลแชร์ ให้กับเครือข่ายศูนย์ซ่อมอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการจาก วิทยาลัยเทคนิคหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ , อบต.สระว่านพระยา , รพ.สต.หนองม่วง และช่างอุปกรณ์ของศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ อบจ.นครราชสีมา จำนวน 18 คน ระยะเวลาอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ รวมทั้งสิ้น 6 วัน โดยทีมวิทยากรจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ให้ความรู้ตลอดการอบรม
ดร.ยลดา หวังศุภกิจโกศล กล่าวว่า ปัจจุบัน อบจ.นครราชสีมา ได้เดินหน้าจัดตั้งศูนย์ซ่อมอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ ขณะนี้มีอยู่ด้วยกัน 3 แห่ง แต่ก็ยังถือว่าไม่เพียงพอในการให้บริการแก่กลุ่มคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ซึ่งเราคาดว่าในอนาคตจะต้องเพิ่มเติมศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 2 แห่ง เพื่อให้เพียงพอ ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนกลุ่มเป้าหมายใน จ.นครราชสีมา ฉะนั้นการอบรมครั้งนี้จึงมุ่งเน้นให้ช่างประจำศูนย์ฯ ได้มีความรู้ ทักษะด้านการผลิต การซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องช่วยสำหรับคนพิการได้อย่างเป็นระบบและมีขั้นตอน ใช้วัสดุอุปกรณ์เครื่องมือที่มีอยู่ เรียนรู้เทคนิค วิธีการผลิตและซ่อมแซมอุปกรณ์จากผู้มีประสบการณ์และความชำนาญ โดยสามารถนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในองค์กรและช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้นต่อไป นอกจากนี้ยังมีอีกโปรเจ็กต์ที่จะดำเนินการ คือ การสนับสนุนให้นักเรียนโรงเรียนในสังกัดฯ ที่มีอยู่ด้วยกัน 58 แห่ง ให้เข้าศึกษาต่อในสายอาชีพ เพื่อหวังว่าเมื่อจบการศึกษาจะได้กลับมาพัฒนาชุมชนบ้านเกิด พัฒนาศูนย์ซ่อมฯ ให้มีความก้าวหน้า ทันสมัย หรือมีอาชีพในการสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว รวมถึงยังมีแนวคิดว่า อยากให้นักเรียนที่มีความชอบในสายช่าง มาช่วยซ่อมอุปกรณ์ร่วมกับทางศูนย์ฯ จะได้มีรายได้ในช่วงปิดเทอม และฝึกความชำนาญ ฝึกประสบการณ์ เพื่อต่อยอดอาชีพในอนาคตได้ด้วย