ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

วราวุธ สรุปผล รมว.พม. สรุปผลร่วมประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรีสมัยที่ 69 ที่ สหรัฐอเมริกา ไทยร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับหลายประเทศ ต่างชาติชื่นชม ผลงานส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ ขอนำตัวอย่างไปขยายผล

วันที่ลงข่าว: 17/03/25

          นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยถึงผลการนำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรีสมัยที่ 69 (Commission on the Status of Women) หรือการประชุม CSW 69 ซึ่งปีนี้ (2568) เป็นวาระครบรอบ 30 ปี ปฏิญญาปักกิ่ง ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ (UN) นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยระบุว่า การเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะการร่วมหารือทวิภาคี กับ นายอาคิม สไตเนอร์ (Mr. Achim Steiner) ผู้บริหารสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ  (UNDP) โดยเฉพาะการส่งเสริมอาชีพคนพิการที่ กระทรวง พม. ทำควบคู่กับ 6 มหาวิทยาลัย และร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เริ่มประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรม ซึ่งทางผู้บริหารยูเอ็นดีพีระบุว่าสิ่งที่ไทยทำเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีที่สามารถนำไปขยายผลต่อได้อีกหลายประเทศ ขณะเดียวกันในเวทีโลกก็มีความหลากหลาย มีองค์ความรู้จากประเทศอื่นๆ มากมายก็จะนำมาประยุกต์ใช้กับไทย สอดคล้องการขับเคลื่อนพันธกิจด้านที่ 6 กรณีระหว่างประเทศ รวมถึงการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศด้านสตรี ผู้สูงอายุ และเด็กเกิดควบคู่ไปด้วย

          นายวราวุธ ยังกล่าวอีกว่า  ส่วนการเข้าร่วมประชุมการติดตามผลการประชุมโลกว่าด้วยสตรี ครั้งที่ 4 และผลลัพธ์ของการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ สมัยพิเศษ ครั้งที่ 23 ภายใต้หัวข้อ “สตรี 2000: ความเสมอภาคระหว่างเพศ การพัฒนา และสันติภาพสำหรับศตวรรษที่ 21” ได้กล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทยต่อที่ประชุมสหประชาชาติ ย้ำว่า ประเทศไทย ยังคงมุ่งมั่นในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และพยายามผนวกมุมมองเรื่องความเท่าเทียมทางเพศเข้าสู่การขับเคลื่อนนโยบายในทุกด้าน ซึ่งรัฐบาลไทย โดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำหญิงรุ่นใหม่ ที่ริเริ่มนโยบายหลายด้านเพื่อขับเคลื่อนพันธสัญญา ภายใต้ปฏิญญาปักกิ่ง ได้แก่ นโยบายด้านการจ้างงานและเศรษฐกิจ , การยุติความรุนแรงต่อสตรี , การขจัดความยากจน , การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของสตรีและเด็กหญิง LGBTQIA+ และบุคคลที่เผชิญกับการเลือกปฏิบัติที่ซับซ้อนหลากหลายมิติ และได้รับเสียงปรบมือให้กำลังใจจากหลายๆ ประเทศในห้องประชุมด้วย

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก