จังหวัดชุมพร จัดประชุมพัฒนาศักยภาพ อพม. ขับเคลื่อนงานตามภารกิจของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
วันนี้(26 ก.พ. 68) นายอภิชาติ สาราบรรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เป็นประธานเปิดโครงการ ประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อขับเคลื่อนงานตามภารกิจของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประจำปี 2568 โดย พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชุมพร จัดขึ้น ซึ่งมีอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์(อพม.) ในระดับตำบลครอบคลุมทุกพื้นที่ในจังหวัดชุมพร พร้อมด้วยเครือข่าย เข้าร่วมโครงการฯ ณ โรงแรมมรกตทวิน ตำบลท่าตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร
โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อขับเคลื่อนงานตามภารกิจของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ อพม. ให้มีความรู้ ความเข้าใจ ในการดูแล ช่วยเหลือ และพัฒนากลุ่มเปราะบาง ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมกับสามารถนำความรู้ความเข้าใจในงานด้านการพัฒนาสังคมตามระเบียบกฎหมาย ไปสู่การปฏิบัติ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้ศูนย์ประสานงานอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด อำเภอ เป็นศูนย์กลางประสานงาน ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนางานด้านอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในระดับพื้นที่
นางสาวจีรดา ธรรมาภิมุข พัฒนาสังคมและความมั่นคงจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาคนและสังคมให้มีคุณภาพ และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง สร้างเสริมเครือข่ายจากทุกภาคส่วนในการมีส่วนร่วมพัฒนาสังคม รวมถึงการจัดระบบสวัสดิการที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ เพื่อให้ประชาชนมีหลักประกัน และมีความมั่นคงในชีวิต ซึ่งในการขับเคลื่อนภารกิจต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องอาศัยความร่วมมือของเครือข่ายต่างๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่นชุมชน กระทรวง การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงได้ส่งเสริมให้มีอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) โดยตั้งแต่ปี 2546 - ปัจจุบัน จังหวัดชุมพรมีอาสาสมัครพัฒนาสังคมและ ความมั่นคงของมนุษย์ จำนวน 4,351 คน ครอบคลุมในทุกพื้นที่ จึงกล่าวได้ว่า อพม. เป็นกลไกในการขับเคลื่อนงานด้านการจัดสวัสดิการสังคม เป็นเครือข่ายการค้นหา เฝ้าระวัง ป้องกัน แก้ไข และพัฒนาสังคมในระดับพื้นที่ซึ่งอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเท เสียสละ ไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน อีกทั้งเป็นกลไกการดำเนินงาน พัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน ให้การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็ก เยาวชน สตรี ครอบครัว ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยพิบัติ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกมิติ และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน