ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

“วราวุธ” เผย พม. ร่วม MOU กสทช. ให้สิทธิ คนพิการ 7 ประเภท ลงทะเบียนใช้เน็ตฟรี

วันที่ลงข่าว: 27/02/25

          “วราวุธ” เผย พม. ร่วม MOU กสทช. ให้สิทธิ คนพิการ 7 ประเภท ลงทะเบียนใช้เน็ตฟรี หวังส่งเสริม-พัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พร้อมกำชับ จนท.พม.ทั่วประเทศ สำรวจผู้สูงอายุไม่มีสมาร์ทโฟน เตรียมเข้าโครงการเงินหมื่นของรัฐ 

          เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568     ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รายงานให้ทราบถึง การให้ความร่วมมือของ พก. กับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ได้ดำเนินโครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสำหรับคนพิการ เป็นการสนับสนุนและสร้างโอกาสให้คนพิการที่มีความยากจนในประเทศไทย สามารถเข้าถึงบริการโทรคมนาคมพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมการพัฒนาภาคการศึกษา สาธารณสุขและบริการภาครัฐ จึงร่วมทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ กสทช. และ บริษัท บางกอก เทลลิ้ง จำกัด เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสำหรับการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ตามศักยภาพ โดยคนพิการที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 1.1 ล้านสิทธิ สามารถใช้งานอินเตอร์เน็ต ฟรี แบบไม่จำกัดปริมาณ ด้วยความเร็วอินเทอร์เน็ตไม่ต่ำกว่า 20 Mbps เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ - 31 กรกฎาคม 2568  

          สำหรับคนพิการที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการฯ ได้นั้น เป็นคนพิการที่มีความยากจน จำนวน 1.1 ล้านคน ซึ่งมีบัตรประจำตัวคนพิการ ในฐานข้อมูลของ พก. กระทรวง พม. ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยครอบคลุมคนพิการที่มีสิทธิ 7 ประเภท ได้แก่ 1) พิการทางการเห็น  2) พิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย 3) พิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย 4) พิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม 5) พิการทางสติปัญญา 6) พิการทางการเรียนรู้ และ 7) พิการทางออทิสติก 

         โดยคนพิการสามารถลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิได้คนละ 1 สิทธิ และไม่สามารถโอนสิทธิให้บุคคลอื่นได้ ยกเว้นกรณีคนพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม คนพิการทางสติปัญญา คนพิการทางการเรียนรู้ และคนพิการทางออทิสติก ให้ผู้ดูแลทำบัตรคนพิการสามารถลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิได้ อีกทั้ง สามารถเลือกใช้เลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่เดิมหรือรับ ซิมการ์ดอินเตอร์เน็ตสำหรับเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ใหม่

         สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ทางกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) สนับสนุนเรื่องการจัดทำบัญชีรายชื่อคนพิการที่มีสิทธิร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พร้อมทั้งจัดทำฐานข้อมูลให้สำนักงาน กสทช. สำหรับการสนับสนุนซิมการ์ดอินเตอร์เน็ตให้กับคนพิการ และยังประชาสัมพันธ์การลงทะเบียนเพื่อขอรับซิมการ์ด ติดตาม ประเมิน และสรุปผลการดำเนินงานเพื่อพัฒนากระบวนการช่วยเหลือคนพิการและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่มีคุณภาพของคนพิการ

          ในขณะที่ กสทช. สนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายในส่วนของรายการส่งเสริมการขายของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นเงิน 107 บาท ต่อเดือนต่อคน (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็นระยะเวลา 6 เดือน อีกทั้งสนับสนุนศูนย์บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะหรือ USO Net เพื่อนกระตุ้นการเปิดใช้บริการซิมการ์ดอินเตอร์เน็ตของคนพิการ และ บริษัท บางกอก เทลลิ้ง จำกัด สนับสนุนเรื่องการให้บริการอินเตอร์เน็ตแบบเติมเงินและไม่จำกัดปริมาณ ด้วยความเร็วอินเทอร์เน็ตไม่ต่ำกว่า 20 Mbps โดยใช้ซิมการ์ดอินเตอร์เน็ตเครือข่ายของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) อีกทั้งจัดให้มีคอลเซ็นเตอร์ทางโทรศัพท์และแอพพลิเคชั่น LINE สำหรับช่วยเหลือ ให้ข้อมูล และคำแนะนำการใช้งานต่างๆ รวมถึงจัดทำวิดีโอแนะนำการใช้งานที่มีภาพ เสียง และภาษามือ

          หากคนพิการมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการรับซิมการ์ดและการเปิดใช้บริการอินเตอร์เน็ต ขอให้ติดต่อสอบถามได้ที่ สำนักงาน กสทช. โทร. 1200 และ LINE  ID: @netfree_infinite

 

  กำชับ จนท.พม.ทั่วประเทศ สำรวจผู้สูงอายุไม่มีสมาร์ทโฟน เตรียมเข้าโครงการเงินหมื่นของรัฐ

          นายวราวุธ   เปิดเผยว่า รัฐบาลของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ขับเคลื่อน “โครงการเงินหมื่นฟื้นฟูเศรษฐกิจ” เฟสที่ 1 และ 2 สำหรับประชาชนผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ และผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" บนสมาร์ทโฟน หากยังมีกลุ่มผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของกระทรวง พม. ที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการเงินหมื่นฯ เนื่องจากไม่มีสมาร์ทโฟนสำหรับการลงทะเบียน เห็นได้จาก เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา ตนได้พูดคุยกับผู้สูงอายุและครอบครัวอุปถัมภ์ในพื้นที่ 5 จังหวัด ผ่านระบบปฏิบัติการออนไลน์ (Online Operation System - OOS) หรือ วิดีโอคอล เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจและติดตามการให้ความช่วยเหลือต่างๆ พบว่า ยังมีผู้สูงอายุตกหล่นที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการเงินหมื่นฯ เนื่องจากไม่มีสมาร์ทโฟน และกำลังรอเข้าร่วมโครงการเงินหมื่นฯ ในเฟสต่อไปสำหรับผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน

          ทั้งนี้ ตนได้กำชับพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด และ เจ้าหน้าที่ทีม พม.หนึ่งเดียวจังหวัดทั่วประเทศ พร้อมประสานอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ในพื้นที่เดินเคาะประตูบ้านผู้สูงอายุ เพื่อสำรวจผู้สูงอายุที่ตกหล่นยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการเงินหมื่นฯ และให้ความช่วยเหลือ คำแนะนำปรึกษา ในการเตรียมความพร้อมสำหรับการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเงินหมื่นฯ ในเฟสต่อไป สำหรับผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน นับเป็นโครงการที่ดีของรัฐบาลสำหรับผู้สูงอายุ นอกจากการได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรายเดือน ซึ่งเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตและช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์บ้านเมืองออนไลน์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก