ศิริราช เปิดตัว “รถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่รุ่น MSU-8” ยกระดับรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันก่อนถึงโรงพยาบาล
ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ ซีเมนส์ เฮลท์ธิเนียร์ส และ อาร์เอ็มเอ ออโตโมทีฟ เปิดตัว “รถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่รุ่น MSU-8” ยกระดับมาตรฐานการวินิจฉัยและการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน หรือ โรคสโตรก ในขั้นตอนก่อนถึงโรงพยาบาล เพื่อลดอัตราการพิการและเสียชีวิตของผู้ป่วย โดยภายใน “รถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่” หรือ Mobile Stroke Unit ได้มีการติดตั้งเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง หรือ CT Scan ที่มีเทคโนโลยีทันสมัย สามารถสแกนสมองผู้ป่วยที่มีมาตรฐานเดียวกับการตรวจวินิจฉัยในโรงพยาบาล ทั้งยังสามารถฉีดสารทึบรังสีบนรถในการประเมินหลอดเลือดสมอง เพื่อให้การวินิจฉัยและการรักษาเบื้องต้นที่แม่นยำ นอกจากนี้ ยังมีระบบปรึกษาทางไกลเสถียรภาพสูง ที่จะสามารถเชื่อมต่อระหว่างทีมปฏิบัติการบนรถพยาบาลและทีมแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อสามารถตัดสินใจด้านการรักษาและให้ยาสลายลิ่มเลือดได้ทันท่วงที
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยงชัย นิละนนท์ ประธานศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช ระบุว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้เป็นสโตรก จะทำให้เกิดความพิการ โดยเฉพาะทางด้านสมอง อย่างไรก็ตาม สโตรกเป็นโรคที่รักษาและป้องกันได้ โดยอาการที่พบบ่อยในผู้ป่วยสโตรก คือ เดินเซ หน้าเบี้ยว แขนอ่อนแรง พูดไม่ชัด และสูญเสียการมองเห็น ซึ่งหากมีอาการให้รีบไปโรงพยาบาลในทันที เพราะทุก 1 นาทีที่ล่าช้า เซลล์ประสาทสมองจะตายไป 1.9 ล้านตัว และยิ่งช้าจะยิ่งทำให้พิการมากขึ้น ฉะนั้นการใช้รถ Mobile Stroke Unit จะช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างรวดเร็วและลดโอกาสความพิการลงได้
ทั้งนี้ หากเรามีการดูแลและป้องกันตนเองที่ดี ด้วยการ “ห่างไกล 4 โรค และทำ 6 พฤติกรรม” จะสามารถป้องกันการเป็นโรคสโตรกได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ และไขมันในเลือดสูง ส่วน 6 พฤติกรรม ที่จะต้องทำเป็นอุปนิสัย ได้แก่ อย่าอ้วน กินผักและผลไม้ให้มาก ออกกำลังกาย ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ และไม่เครียด