ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

อัศจรรย์ ‘เด็กพิเศษ’ ดนตรีพัฒนาปัญญา

วันที่ลงข่าว: 25/12/23

          ความอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นกับชีวิตและครอบครัว “ณัฐวุฒิ กีรติชัยพันธ์ หรือน้องวุฒิ” ซึ่งเป็นดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome) วันนี้น้องวุฒิเรียนจบปริญญาตรีดนตรีแล้ว ตอบได้ว่าเป็นความยากลำบากของพ่อแม่อย่างยิ่ง ลำบากในการเลี้ยงดูลูกที่บกพร่องทางสมอง หรือบกพร่องทางสติปัญญา มีความทุกข์ในการเลี้ยงดู ทุกข์ที่จะให้การศึกษาและหาที่เรียน ทุกข์เพราะไม่มีงานทำและต้องหาเงินมาใช้จ่ายในการเลี้ยงดู ทุกข์ที่ต้องทุ่มเทเวลาโดยพยายามทำทุกอย่างให้แก่ลูก ผลออกมาเรียกได้ว่า “อัศจรรย์”

          อัศจรรย์ แปลว่า ประหลาดอย่างเหลือเชื่อ อัศจรรย์แรก พ่อแม่น้องวุฒิต้องใช้ความพยายามทุกวิถีทางที่จะช่วยให้น้องวุฒิได้เรียนรู้และปรับตัวอยู่ในสังคมให้ได้ เพื่อให้สามารถช่วยตัวเองได้มากที่สุด ในสังคมที่ด้อยพัฒนาและแล้งน้ำใจ สังคมไม่ได้สร้างพื้นฐานที่จะเอื้ออำนวยให้เด็กที่พิการทางสมองเหล่านี้ พ่อแม่ต้องมีความพยายามอย่างยิ่งที่จะเอาความเป็นเด็กพิเศษของน้องวุฒิออกมาใช้เป็นพลังบวก การค้นหาศักยภาพมาพัฒนาให้น้องวุฒิมีความสามารถเล่นดนตรี เมื่อพบว่าน้องวุฒิชอบตีกลอง จึงได้พัฒนาการตีกลองให้เป็นหุ้นส่วนของชีวิต พ่อแม่ส่งเสริมทุกวิถีทางที่จะนำเอาพลังส่วนดีมาใช้ตีกลอง หาครูสอนตีกลองมาสอนพิเศษ หาผู้เชี่ยวชาญพิเศษมาให้คำแนะนำ พ่อแม่ต้องออกจากงานทุ่มเทเวลาดูแลลูกเป็นพิเศษ สิ่งที่อัศจรรย์ก็คือ การตีกลองเป็นเพื่อนคู่ชีวิต

          อัศจรรย์ที่สอง เมื่อน้องวุฒิได้เข้าเรียนหลักสูตรมัธยมดนตรี โดยการสนับสนุนจากครูดนตรีที่เข้าใจเด็กพิเศษ ทำให้น้องวุฒิได้พัฒนาและเรียนตีกลองก้าวหน้าไปได้เร็ว สิ่งพิเศษที่พบคือนอกจากเป็นดาวน์ซินโดรมแล้ว ยังมีอาการเป็นเด็กออทิสติก (Autistic) ด้วย ออทิสติกหมายถึงมีความสนใจอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นพิเศษ ย้ำคิดย้ำทำ และชอบทำซ้ำๆ น้องวุฒิจะสนใจตีกลองและพัฒนาทักษะด้านตีกลองได้ดี

         อัศจรรย์ที่สาม เมื่อจะเข้าเรียนดนตรีในระดับสูงขึ้นพบว่า คณะกรรมการที่ปัญญาแข็งทั้งหลายซึ่งมีจิตกระด้างได้ตั้งข้อรังเกียจ โดยผลักไสให้น้องวุฒิเข้าสู่ระบบ “มาตรฐานการศึกษาที่เท่าเทียมกับคนปัญญาดีที่มีฝีมือเลิศ” ทั้งนี้ ผู้บริหารได้อธิบายว่า “สถาบันการศึกษาแห่งนี้ไม่มีปริญญาสำหรับคนพิการ”

          เมื่อเข้าสอบสัมภาษณ์ นายณัฐวุฒิ กีรติชัยพันธ์ ได้คะแนนเป็นศูนย์จากคณะกรรมการปัญญาแข็งทั้งหลาย โดยการผลักไสน้องวุฒิ ทำให้น้องวุฒิไม่สามารถจะเรียนดนตรีตีกลองในสถานศึกษาเดิมที่คุ้นเคยได้อีกต่อไป แม้ใบปริญญาจะไม่ใช่เป้าหมายของเด็กพิเศษก็ตาม จากแรงผลักไสทำให้เกิดสิ่งอัศจรรย์ขึ้น ได้สร้างพลังและแรงจูงใจให้พ่อแม่กัดฟันสู้ชีวิตเพื่ออนาคตต่อไป นอกจากสู้เพื่อลูกตัวเองแล้ว ยังสู้เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่เด็กที่พิการคนอื่นๆ ด้วย จึงตั้งใจสู้ชีวิตต่อไปโดยไม่ย่อท้อ

          อัศจรรย์ที่สี่ ครอบครัวน้องวุฒิประสบปัญหาเรื่องสถานศึกษาอีกครั้ง เมื่อน้องวุฒิเข้าเรียนที่เดิมไม่ได้ แม้จะไม่ใช่ครั้งแรกในชีวิต แต่ก็เป็นการต่อสู้ครั้งสำคัญของชีวิต พ่อแม่ได้นำเรื่องที่ประสบไปสู่กระบวนการศาล ประเด็นสถาบันการศึกษาของรัฐกีดกันเรื่องการศึกษาคนพิการ ขณะเดียวกันก็ได้พาน้องวุฒิไปสมัครเรียนที่อื่น เพื่อหาทางออกให้ลูกและครอบครัว ความอัศจรรย์ก็คือ ความไม่ย่อท้อต่อชีวิต เนื่องจากสำนวนที่มีบันทึกไว้นั้นตอกย้ำและเป็นบาดแผลรุนแรงในจิตใจทั้งครอบครัว

          “ปริญญาบัณฑิตในประเทศไทยไม่มีการกรอกใบปริญญาบัตรที่ระบุว่าเป็นปริญญาเฉพาะสำหรับนักศึกษาที่มีความต้องการพิเศษ มีเพียงปริญญาบัตรรูปแบบเดียว ซึ่งเป็นปริญญาบัตรที่มีศักดิ์และสิทธิเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป” แปลว่า ไม่มีพื้นที่ในใบปริญญาให้กับคนพิการได้เรียนดนตรี

          อัศจรรย์ที่ห้า น้องวุฒิใช้ชีวิตเล่นดนตรีตีกลอง หาเงินจากผู้มีเมตตาในศูนย์การค้า ในห้าง เรียนดนตรีในสถาบันการศึกษาแห่งใหม่ เผชิญชีวิตระหว่างโควิดระบาด (พ.ศ.2563-2565) ขณะเดียวกันพ่อแม่ก็ได้ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมจากศาล (5 ปี) เดือนสิงหาคม พ.ศ.2566 ครอบครัวณัฐวุฒิ กีรติชัยพันธ์ ดีใจเป็นที่สุด เมื่อน้องวุฒิได้สอบแสดงจบปริญญาตรีดนตรีสมบูรณ์

          เดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ศาลตัดสินยกฟ้องในคดีที่ครอบครัวน้องวุฒิเรียกร้องสิทธิ โดยศาลเห็นว่าสถาบันการศึกษาได้ใช้ดุลพินิจกรณีของน้องวุฒิเหมาะสมแล้ว ส่วนเรื่องที่น้องวุฒิสามารถเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาอื่นได้ ถือว่าแต่ละสถาบันมีมาตรฐานที่แตกต่างกัน

          อัศจรรย์สุดท้าย ครอบครัวณัฐวุฒิ กีรติชัยพันธ์ รู้สึกด้านและชินชา กระทั่งไม่รู้สึกแยแส หรือยินดียินร้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถาบันการศึกษา ใบปริญญา หรือเงื่อนไขของคนปัญญาแข็ง การตั้งข้อรังเกียจจากสังคม ซึ่งครอบครัวได้ก้าวข้ามสิ่งเหล่านั้นไปแล้ว ก้าวข้ามสถาบันการศึกษาที่เป็นพลังของแผ่นดิน เป็นสมองของแผ่นน้ำ เป็นปัญญาของแผ่นฟ้า รู้แล้วว่าเป็นหน้ากากของคนดี แต่เป็นปัญหาของคนพิการ คณะกรรมการปัญญาแข็งในชุมชนคนชั้นสูงที่มีจิตโหดร้าย ซึ่งไม่สามารถจะทำร้ายครอบครัวณัฐวุฒิ กีรติชัยพันธ์ ได้อีกต่อไป

          ณัฐวุฒิ กีรติชัยพันธ์ ได้ตีกลองคู่ชีวิต มีพื้นที่สำหรับตีกลอง มีรายได้ในการเลี้ยงชีพและเลี้ยงพ่อแม่ได้ แม้ว่าจะเป็นเด็กพิเศษ แต่สามารถอาศัยอยู่ในสังคมที่ซับซ้อนได้อย่างอัศจรรย์ วันนี้น้องวุฒิไปตีกลองและมีเพื่อนๆ คนปัญญาดีจิตใจสูงได้ร่วมวงดนตรี ได้แสดงในศูนย์การค้าทุกวัน แม้เวลาโรคโควิดระบาด น้องวุฒิต้องไปเรียนหนังสือ ไปแสดงดนตรีเพื่อหารายได้ การตีกลองกลายเป็นยาบำรุงรักษาความบกพร่องทางสติปัญญา

          อานิสงส์การต่อสู้ของครอบครัวเพื่อการศึกษาและความอยู่รอดของน้องวุฒิ ทำให้ครอบครัวได้พัฒนามีจิตใจที่แข็งแกร่ง มีความกล้าหาญที่จะสู้ชีวิต น้องวุฒิก็ได้ตีกลองวันละหลายชั่วโมง มีพ่อเป็นคนขับรถแบกขนกลอง มีแม่ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานรวมทั้งดูแลเอกสารและอาหาร พ่อแม่และลูกที่เป็นเด็กพิเศษ กลายเป็นครอบครัวที่แข็งแกร่ง การตีกลองของน้องวุฒิสามารถจะเลี้ยงครอบครัวได้ พ่อแม่ออกจากงานหันมาดูแลลูกที่บกพร่องทางสติปัญญาเต็มตัว ลูกที่เป็นเด็กพิเศษทำหน้าที่หารายได้ด้วยการตีกลองเลี้ยงพ่อแม่

          ชีวิตครอบครัวของน้องวุฒิ กลายเป็นหนังสือเล่มใหญ่ซึ่งสามารถนำเรื่องราวการต่อสู้มาสร้างเป็นภาพยนตร์สะท้อนให้สังคมได้รับรู้ วิถีชีวิตตัวอย่างการต่อสู้ที่มองไม่เห็นทางชนะ เพื่อให้กำลังใจแก่ครอบครัวอื่น ผู้พิการทางกาย ทางสมอง พิการทางสติปัญญา สะท้อนจากสังคมหน้ากากคนดี ตัวอย่าง“ภาพยนตร์อัจฉริยะปัญญานิ่ม (Forrest Gump)”สร้างเมื่อ พ.ศ.2537

          น้องวุฒิได้สร้างบุญจากการต่อสู้ จึงมีคนที่ใจดีคอยช่วยเหลือ มีคนเล่นดนตรีให้น้องวุฒิได้ตีกลอง มีคนเขียนเพลงใหม่ (Google Map) ให้นักร้อง (ปวิชญา สมบัติ) ซึ่งเธอมีอายุ 17 ปี เรียนอยู่ที่โรงเรียนดรุณสิกขาลัย มีความสามารถด้านร้องเพลงและเล่นดนตรี ร่วมเล่นดนตรีกับน้องวุฒิ โดยสร้างผลงานเพลงใหม่ขึ้นมา

          คนแต่งเพลงให้ (จิรพงษ์พันธ์ ฉิมสุวรรณ์) ทำธุรกิจส่วนตัวขายโรตีสายไหมบังหมัดอยู่ที่พระนครศรีอยุธยา มีความประทับใจที่ได้ช่วยน้องวุฒิ เพื่อให้สามารถเล่นดนตรีมีรายได้ เลี้ยงตัวเองและเลี้ยงครอบครัวได้ ปัจจุบันน้องวุฒิเล่นดนตรีตีกลองได้ดี มีบุคลิกที่ดีขึ้น เล่นดนตรีจบก็พูดขอบคุณผู้ชมได้ชัดเจน ทำได้ใกล้เคียงกับคนปกติ

          โลกนี้ไม่มีใครสมบูรณ์ (Nobody Perfect) “อัศจรรย์ปัญญานิ่ม” เป็นตัวอย่างของครอบครัวที่มีลูกพิการทางสมอง บกพร่องทางสติปัญญา การต่อสู้เป็นการพิสูจน์เพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้นโดยไม่ย่อท้อ ไม่ต้องนั่งคอยความเมตตาจากใคร วันนี้น้องวุฒิตีกลองเลี้ยงพ่อแม่มีรายได้ พัฒนาฝีมือโดยทำบ่อยๆ ทำซ้ำๆ จนเกิดความชำนาญ ได้สร้างพลังดลใจให้ผู้คนที่พบเห็น บังเกิดความศรัทธา และไม่ได้อยู่อย่างเวทนาชีวิต

 

แพ้คดีแต่ชนะชีวิต เป็นประวัติศาสตร์สังคม

 

สุกรี เจริญสุข

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ข่าวสดออนไลน์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก