ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สถาบันสิรินธรฯ เปิด "ยิมสูงอายุ" มีแมชชีนช่วยพยุงลดบาดเจ็บ เซ็ตโปรแกรมเหมาะสม ชูสร้างคอมมูนิตี ต้นแบบธุรกิจใหม่

วันที่ลงข่าว: 27/06/23

          สถาบันสิรินธรฯ กรมการแพทย์ เปิด "ยิมสำหรับผู้สูงอายุ" เป็นธุรกิจต้นแบบ รองรับสังคมสูงอายุ แต่ยังขาดยิมออกกำลังกายโดยเฉพาะที่ปลอดภัย ลดการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายที่มากหรือรุนแรงเกินไป ชูเครื่องออกกำลังกายมีระบบช่วยพยุงลดการบาดเจ็บกล้ามเนื้อและข้อ และระบบเก็บข้อมูลช่วยเซตโปรแกรมออกกำลังกายที่เหมาะสม

          เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ที่อาคารเวชศาสตร์การกีฬา สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมด้วย พญ.ภัทรา อังสุวรรณ ผอ.สถาบันสิริธรฯ เปิดตัวศูนย์ออกกำลังกายผู้สูงอายุหรือ Smart Wellness Gym โดย นพ.ธงชัยกล่าวว่า ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ จึงต้องให้ความสำคัญในการส่งเสริมการมีสุขภาพดีของผู้สูงอายุและเตรียมความพร้อมก่อนถึงวัยสูงอายุ กรมการแพทย์มีการดูแลผู้สูงอายุอย่างองค์รวม ส่งเสริมให้สถาบันสิรินธรฯ จัดตั้งศูนย์ออกกำลังกายผู้สูงอายุ มีเป้าหมายเพื่อป้องกันผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรงไม่ให้มีภาวะเสื่อมถอยเร็วกว่าที่ควรจะเป็น หรือมีการบาดเจ็บจนต้องอยู่ในภาวะพึ่งพิง และผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ซึ่งเราพบว่าผู้สูงอายุส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ออกกำลังกาย เพราะไม่มีศูนย์ออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุที่ปลอดภัยและเพียงพอกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ทั้งที่ควรได้รับการดูแลแนวทางออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายและปลอดภัย เพื่อมีสุขภาพแข้งแรงในระยะยาว ลดปัญหาการเจ็บป่วยและลดค่าใช้จ่ายการไปรักษาที่ รพ.

"ศูนย์ออกกำลังกายผู้สูงอายุแห่งนี้จะเป็นต้นแบบให้ รพ.อื่นหรือเอกชน ที่จะทำศูนย์ออกกำลังกายผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่ในสังคมจะมีแต่ยิมของคนหนุ่มสาว แต่ยังไม่มีศูนย์ออกกำลังกายสำหรับสูงอายุโดยเฉพาะ เมื่อสูงอายุไปออกกำลังกายร่วมกับคนหนุ่มสาว บางครั้งไม่มีเทรนเนอร์ดูแลว่าจะออกกำลังกายอย่างไรให้เหมาะสมกับอายุตนเอง หากออกกำลังกายมากไปหรือรุนแรงไป อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและข้อเข่าได้ เพราะกล้ามเนื้อและกระดูกเริ่มเสื่อมและจางลง อนาคตเชื่อว่าธุรกิจการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุจะเป็นธุรกิจหนึ่งของสังคมเหมือนฟิตเนสและยิมทั่วไปสำหรับคนหนุ่มสาว" นพ.ธงชัยกล่าว

          นพ.ธงชัยกล่าวว่า ศูนย์นี้จะมีเครื่องออกกำลังกายและบุคลากรด้านกายภาพบำบัด สามารถดูแลผู้สูงอายุว่าบุคคลนี้ควรออกกำลังกายแค่ไหนระดับไหน เครื่องไหน และเพิ่มไปเรื่อยๆ ผ่านโปรแกรมที่มีในการวิเคราะห์ข้อมูลและให้คำแนะนำเฉพาะบุคคล เพราะหากไม่รู้ตัวเองออกกำลังกายไปเลยอาจจะเกิดการบาดเจ็บได้ โดยเครื่องจะมีการเก็บข้อมูลผู้สูงอายุตลอดเวลา ผ่านสายรัดข้อมูลว่า วันนี้ออกกำลังกายไปเท่าไร เพิ่มได้อีกเท่าไร อยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่ว่าเหมาะสมสำหรับเจ้าตัวแล้ว รวมถึงมีระบบช่วยพยุงเพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและข้อ นอกจากนี้ เมื่อมาก็จะมีผู้สูงอายุด้วยกันเอง จะมีกำลังใจ หากไปยิมทั่วไปเจอคนหนุ่มสาวที่ออกกำลังกายรุนแรง การพูดคุยอาจจะไม่เข้าใจ ตรงนี้ก็เป็นวัยเดียวกัน เป็นสังคมผู้สูงอายุ

          "ศูนย์แห่งนี้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าใช้บริการด้วย เพื่อประเมินสมรรถนะทางกายของตนเอง ซึ่งสิทธิข้าราชการสามารถเบิกได้ โดยเรามีศูนย์ออกกำลังกายผู้สูงอายุ 2 ที่ คือ สถาบันสิรินธรฯ และอาคาร DMS6 ในกระทรวงสาธารณสุข" นพ.ธงชัยกล่าวและว่า ทั้งนี้ เรามีข้อมูลพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัย แต่เรื่องความเสื่อมถอยร่างกายแต่ละช่วงอายุเรายังไม่มีข้อมูล เราไม่รู้ว่าเราเสื่อมแก่ตามวัยหรือว่าแก่กว่าวัยไปแล้ว กรมการแพทย์ก็กำลังทำข้อมูลตรงนี้ว่าแต่ละช่วงวัยควรสามารถทำอะไรได้ มีภาวะเสื่อมกว่าวัยหรือไม่ จะได้กระตุ้นไม่ให้เสื่อมจนเกินวัย และยืดคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาใหญ่ของผู้สูงอายุคือการล้มและกระดูกหัก ทำให้ไม่มั่นใจออกไปสู่สังคมเพราะกลัวล้มอีก การสร้างความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อ มวลกระดูก และทรงตัวได้ จะทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตนืดเวลาออกไปได้

          ด้าน พญ.ภัทรา กล่าวว่า สถาบันสิรินธรฯ จัดตั้งศูนย์ออกกำลังกายผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุ คนพิการ ได้เข้าถึงการออกกำลังกายที่ถูกต้องและเหมาะสม เป็นไปตามศักยภาพสูงสุดของแต่ละบุคคล โดยจะมีแพทย์ประเมิน และกายภาพบำบัดประเมิน เซตโปรแกรมออกกำลังกายที่เหมาะสมตลอดทั้งวัน ให้รองรับกับผู้ใช้งานที่หลากหลาย ทั้งผู้สูงอายุ ผู้ป่วย นักกีฬา รวมถึงผู้ใช้วิลแชร์ และผู้ที่ต้องการมีสุขภาพดี เปิดบริการร่วมกับคลินิกป้องกันการหกล้มของงานกายภาพบำบัด ภายใต้การดูแลของแพทย์ ในศูนย์ออกกำลังกายผู้สูงอายุ ประกอบไปด้วย อุปกรณ์การออกกำลังกายด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และแนวคิดการออกกำลังกายเชิงการแพทย์ สำหรับการออกกำลังกายระดับสูง การฟื้นฟูสมรรถภาพและสุขภาพที่ดีทุกส่วนของร่างกาย ซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อลดความซับซ้อนในการใช้งาน มีความปลอดภัย และเพิ่มแรงจูงใจในการออกกำลังกาย มองเห็นเป้าหมายและความก้าวหน้าในการออกกำลังกาย นำไปสู่การเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมได้อย่างปกติ มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก