ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

วิทยาลัยเทคนิคสตูล เดินหน้าจัดอาชีวะนอกระบบ เน้นเสริมทักษะอาชีพ สร้างรายได้ สะสมหน่วยกิตใช้เรียนต่อได้

วันที่ลงข่าว: 23/06/23

         นายวิเชียร บุญเตี่ยว ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสตูล เปิดเผยว่า วิทยาลัยเทคนิคสตูลได้ปรับรูปแบบในการจัดการศึกษา โดยเพิ่มเติมการจัดการศึกษานอกระบบควบคู่ไปกับการจัดการศึกษา ในระบบและทวิภาคี ซึ่งในปีงบประมาณ 2566 วิทยาลัยเทคนิคสตูลมียอดผู้เรียนในการจัดการศึกษานอกระบบ จำนวน 2,000 คน แบ่งเป็น 2 ประเภทหลักสูตร ได้แก่ 1.หลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น Re-Skill Up-skill กลุ่มเป้าหมาย ประชาชนทั่วไป โดยมีตัวอย่างรายวิชา เช่น ขับรถยนต์ งานติดตั้งเครื่องปรับอากาศ งานซ่อมบำรุงรักษาคอมพิวเตอร์ อาหารไทยยอดนิยม และงานออกแบบกราฟิกบรรจุภัณฑ์อาหาร เป็นต้น, 2. หลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นนอกระบบ เสริมวิชาชีพแกนมัธยม จาก 20 โรงเรียนเป้าหมาย ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปฐมศึกษาจังหวัดสตูล, สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาจังหวัดสตูล, สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดสตูล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดสตูล โดยมีกลุ่มเป้าหมายนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในรูปแบบหลักสูตรห้องเรียนอาชีพในโรงเรียนมัธยม และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในรูปแบบหลักสูตรแกนมัธยม (ห้องเรียนอาชีพ) เช่น งานประดิษฐ์ของชำร่วยและของที่ระลึก ศิลปะงานผ้า งานซ่อมพัดลมไฟฟ้า งานฉาบปูน มัคคุเทศก์ 1 และงานเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์อัตโนมัติขนาดเล็ก เป็นต้น

          สำหรับการจัดการเรียนการสอนจะใช้สถานที่ ณ วิทยาลัยเทคนิคสตูล และศูนย์ฝึกอบรมวิชาชีพ อำเภอควนโดน ในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งวิทยาลัยเทคนิคสตูลเชื่อมั่นว่าการจัดอาชีวศึกษานอกระบบจะทำให้ผู้เรียนมีอาชีพมีรายได้พร้อมกับการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้แก่อาชีวศึกษา และ นอกจากจะได้ฝึกทักษะด้านอาชีพแล้วยังได้รับวุฒิการศึกษาอีกด้วย

         ทั้งนี้ เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) วางแผนขับเคลื่อนการบริหารจัดการอาชีวศึกษานอกระบบ ภายใต้ พ.ร.บ.อาชีวศึกษา พ.ศ.2551 ซึ่งกำหนดให้อาชีวศึกษาสามารถจัดการศึกษาได้ 3 รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาระบบทวิภาคี โดยในส่วนของอาชีวศึกษานอกระบบของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะอยู่ในรูปแบบการให้บริการศึกษาแบบครบวงจรด้านสายอาชีพซึ่งเป็นการเติมทักษะด้านวิชาชีพให้แก่กลุ่มคนทุกช่วงวัย หรือผู้เรียนที่ต้องการเรียนสะสมเป็นระบบหน่วยกิต และนำไปใช้ศึกษาต่อกับการศึกษาในระบบได้ รวมถึงเป็นการจัดการศึกษาให้แก่เด็กที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา พร้อมทั้งเน้นให้การศึกษาในกลุ่มแม่บ้าน คนสูงวัย กลุ่มคนว่างงาน กลุ่มผู้พิการ กลุ่มเป้าหมายพิเศษ หรือผู้ที่สนใจอยากจะฝึกทักษะด้านอาชีพสามารถเลือกมาเรียนกับอาชีวศึกษาได้

ที่มาของข่าว สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก