ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

‘คุณหญิงกัลยา’ เปิดวิสัยทัศน์ ปี65 เร่งปฏิรูปการศึกษา สร้างเด็กไทย สู่พลเมืองโลก

วันที่ลงข่าว: 25/01/22

          คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยว่า  ในปี 2565 การขับเคลื่อนนโยบายเพื่อปฏิรูปการศึกษาไปสู่ตัวผู้เรียน หลายประเด็นมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก แม้ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้านโดยเฉพาะสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบใหญ่ต่อการศึกษา ในฐานะที่กำกับสภาการศึกษา (สกศ.) เตรียมผลักดัน สกศ.เป็นองค์กรหลักด้านการศึกษา โดยในปีนี้มีงานหลักที่สำคัญคือการปรับเปลี่ยนหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ จากกลุ่มสาระวิชาเป็นหลักสูตร “ฐานสมรรถนะ” และจะยังขับเคลื่อนนโยบายผ่าน 3 กลไกนั่นก็คือ ความทันสมัย- เท่าเทียม- และยั่งยืน เพราะถือเป็นหัวใจในการพัฒนาคนไทยให้มีคุณภาพและเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ รวมถึงสร้างให้เป็นพลเมืองโลก พร้อมเดินหน้าปฏิรูปการศึกษาทั้งทางด้านโครงสร้าง และการปฏิรูปไปสู่ตัวผู้เรียนโดยตรง เพื่อวางรากฐานการศึกษาไทยให้สอดรับกับโลกในศตวรรษที่ 21 และในอนาคต

          “ดิฉันเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการศธ. กว่า 3 ปี ปีนี้จะก้าวสู่ปีที่ 4 ซึ่งจะยังเร่งเดินหน้าปฏิรูปการศึกษาไปสู่ตัวผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยผลักดันนโยบายหลายเรื่องให้มีความคืบหน้าและเป็นรูปธรรม วันนี้การปฏิรูปการศึกษาไทยต้องคิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อรับมือกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ทั้งเรื่องการตราร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ….. การปรับเปลี่ยนหลักสูตร และวิธีการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์โควิด รวมถึงการจัดหา Smart Devices ของกระทรวงศึกษาฯ เพื่อใช้ในการเรียน Online มาให้โรงเรียนหรือนักเรียนที่ยังขาดแคลน ผ่านคณะกรรมการโค้ดดิ้งแห่งชาติที่ดิฉันได้เป็นผู้ผลักดันให้เกิดขึ้นและขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ในฐานะรองประธานคณะกรรมการฯ ซึ่งทุกอย่างเป็นความท้าทาย แต่ไม่เคยท้อถอยและมั่นคงในแนวทางที่จะนำไปสู่เป้าหมาย”คุณหญิงกัลยา กล่าว

          คุณหญิงกัลยา กล่าวต่อว่า ศธ.ภายใต้การกำกับดูแลของตนจะยังมุ่งขับเคลื่อนโยบาย และเร่งเดินหน้ารวมถึงต่อยอดใน 7 โครงการสำคัญต่อเนื่อง นั่นก็คือ 1.โครงการ Coding For All ที่จะเดินหน้าขยายผล ขับเคลื่อน ทุกภาคส่วน เพื่อกระจายการเรียนรู้ให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ และทุกช่วงวัย ซึ่ง Coding คือทักษะที่เด็กไทยและคนไทยทุกคนต้องมี ถือเป็นทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที 21 2.โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ที่ได้เริ่มขยายผลสู่ชุมชน ปัจจุบันได้เปิดสอนหลักสูตร “ชลกร” รุ่นที่ 1 ไปแล้ว เพื่อปั้นนักบริหารจัดการน้ำในชุมชน ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีจะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ มีเป้าหมายคือการช่วยเหลือเกษตรกร ให้มีน้ำกิน น้ำใช้ แก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน และวันนี้ก้าวหน้าไปมาก จนสามารถสร้างผู้ประกอบการเกษตรยุคใหม่ ให้มีรายได้ระหว่างเรียน และจบมามีงานทำ รวมถึงบางวิทยาลัยยังสามารถสร้างผลผลิตที่ส่งออกไปจำหน่ายได้ด้วย ถือเป็นโมเดลในการสร้างเสริมเศรษฐกิจฐานราก สร้างความมั่นคงด้านอาหารและส่งเสริมให้ทุกคนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ภายใต้หลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะในยามที่โลกเกิดวิกฤต

          3.โครงการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์แนวสร้างสรรค์ ผ่านสื่อร่วมสมัย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ พร้อมฝึกให้มีการคิดเชิงวิพากษ์ 4.โครงการสร้างมิติใหม่การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ผสานศาสตร์และศิลป์ เปลี่ยน STEM เป็น STEAM วิทยาศาสตร์พลังสิบ ลดความเหลื่อมล้ำ ขยายโอกาสให้นักเรียนได้เรียนวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างกว้างขวาง เน้นการปฏิบัติ ประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน

          5.โครงการการศึกษาที่เท่าเทียม สร้างโอกาสให้เด็กด้อยโอกาสและพิการ พัฒนาทักษะชีวิตผ่านการเรียนรู้ การศึกษาไทยจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 6.โครงการอาชีวะฐานวิทย์ สร้างวิชาชีพคนไทยรุ่นใหม่ป้อนคนสู่ภาคอุตสาหกรรม ตอบรับโลกดิจิทัล และ 7.โครงการยกระดับการศึกษารอบด้าน เปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน ปรับการประเมินผล เพื่อให้เป็นไปตามรูปแบบที่สอดรับกับโลกปัจจุบัน

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์ วันที่ 24 มกราคม 2565
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก