ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

“คลังคำศัพท์ภาษามือเรื่องการจัดการ” หนุนผู้พิการหูหนวก

วันที่ลงข่าว: 14/12/21
CMMU Mahidol ผลักดันจุดแข็งด้านงานวิจัย มุ่งผลิตบุคลากรคุณภาพสู่ธุรกิจ พร้อมพัฒนาสังคมและธุรกิจสู่ความยั่งยืน เปิดรับผู้สนใจเข้าศึกษาต่อ ป.โท การจัดการหลักสูตรไทย-นานาชาติ
          หนึ่งในเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ขององค์การสหประชาชาติ คือเรื่องของ Quality Education หรือ การสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งเป็นเป้าหมายที่วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ ซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) ให้ความสำคัญอยู่เช่นกัน เนื่องในวาระครบปีที่ 25 ที่ ซีเอ็มเอ็มยู มุ่งผลิตบุคลากรที่มีศักยภาพสูงเพื่อธุรกิจยุคใหม่ พร้อมขยายเป้าหมายมุ่งพัฒนาสังคมและธุรกิจสู่ความยั่งยืน จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่วันนี้จะชวนทุกคนร่วมพูดคุยกับ ผศ.ดร.บุริม โอทกานนท์ รองคณบดีงานสนับสนุนการศึกษาและวิชาการ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนจุดบกพร่องทางการได้ยิน สู่โอกาสทางการศึกษา เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของผู้พิการด้วยความยึดมั่นในปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่ว่า “ความสำเร็จที่แท้จริงอยู่ที่การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ เพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ” นำไปสู่การริเริ่มการพัฒนาโครงการ “คลังคำศัพท์ภาษามือด้านการจัดการ”
          ผศ.ดร.บุริม โอทกานนท์ หัวหน้าโครงการวิจัยเรื่องการใช้ศักยภาพของอุดมศึกษา เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับการเรียนรู้ และการทำงานสำหรับผู้พิการ เล่าถึงที่มาของการพัฒนา “คลังคำศัพท์ภาษามือด้านการจัดการ”ว่า จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2563 พบจำนวนผู้พิการในประเทศไทยนั้นมีอยู่ประมาณ 3.7 ล้านคนโดยกลุ่มผู้พิการทางการได้ยินนั้นคิดเป็นร้อยละ 18.8 ของประชากรผู้พิการทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีสถิติของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในปี 2562 ที่ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีผู้พิการที่ได้เข้าสู่ระบบการจ้างงานจำนวนน้อย โดยผู้พิการที่ได้เข้าสู่ระบบการจ้างงานมีเพียงร้อยละ 24.5 ทั้งนี้ในจำนวนดังกล่าวพบว่าผู้พิการส่วนใหญ่จำนวนร้อยละ 71 จบการศึกษาในระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาเพียงเท่านั้น ซึ่งหมายความว่ากลุ่มคนเหล่านี้ยังมีความรู้ที่น้อย ส่วนผู้พิการที่มีการศึกษาสูงกว่าระดับชั้นมัธยมศึกษาพบเพียงร้อยละ 3.3 ซึ่งเป็นจำนวนที่ค่อนข้างน้อย ทั้งนี้จำนวนนักเรียนผู้มีความบกพร่องทางการได้ยินทั่วประเทศส่วนใหญ่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ในขณะที่อัตราการเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากข้อมูลการสำรวจของทีมวิจัย พบว่าอยู่ที่ร้อยละ 7.2
          จากสถิติดังกล่าวที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าการมีต้นทุนทางการศึกษาที่น้อยก็จะส่งผลให้โอกาสยิ่งน้อยตามไปเช่นกัน ยกตัวอย่างเรื่องการเข้าถึงเรื่องของเงินทุน ภาครัฐ หรือแม้กระทั่งโอกาสในการทำงาน เพราะบริษัทส่วนใหญ่ยังคงใช้วิธีคิดในการจ้างงานแบบคนทั่วไป คือ หากคุณจะทำงานคุณต้องจบปริญญาตรี ปวช. หรือ ปวศ. เท่านั้น ซึ่งกลุ่มผู้พิการเหล่านี้จบเพียงแค่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เพราะฉะนั้นแล้วเมื่อกลุ่มผู้มีความบกพร่องทางการได้ยินไม่มีการศึกษาในระดับที่สูงมากพอ สุดท้ายแล้วการทำงานของผู้พิการทางการได้ยินจึงเป็นอาชีพที่เน้นใช้ทักษะมากกว่าการใช้ความรู้ นอกจากนี้การขาดความรู้และคำที่จะใช้ในการสื่อสาร ทำให้ผู้พิการทางการได้ยินต้องเผชิญกับปัญหาหลายอย่างในการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น การถูกละเมิดสิทธิ การถูกเอาเปรียบ การถูกดูแคลน การถูกเลือกปฏิบัติ หรือการถูกกีดกันออกจากสังคมที่มีการสื่อสารคนละแบบ การมีความรู้เพิ่มและการเพิ่มความสามารถในการสื่อสารจึงอาจเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาที่ผู้พิการทางการได้ยินกำลังเผชิญอยู่ นอกจากนี้การศึกษายังสามารถสร้างและขยายโอกาสในการทำงานในระดับที่สูงขึ้น และมีศักยภาพในการเป็นเจ้าของกิจการเพิ่มมากขึ้น
           ผศ.ดร.บุริม เล่าต่อว่า โครงการ “คลังคำศัพท์ภาษามือด้านการจัดการ” มีจุดเริ่มต้นจากความต้องการที่จะสอนภาษามือให้กับผู้พิการทางการได้ยินในเรื่องของการจัดการ เพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสในชีวิตมากขึ้น เนื่องจากมีผู้พิการทางการได้ยินจำนวนน้อยที่มีการศึกษาในระดับสูง จึงทำให้ผู้พิการกลุ่มนี้ขาดโอกาสในการที่จะทำงานในลักษณะงานที่เป็นผู้สั่งการ ผู้ควบคุม ในระดับหัวหน้างาน ผู้จัดการ ผู้อำนวยการ หรือแม้กระทั่งการเป็นเจ้าของกิจการที่มีขนาดกลางถึงใหญ่ งานที่ผู้พิการกลุ่มนี้ทำส่วนใหญ่จึงเป็นงานลักษณะที่ทำซ้ำ ๆ ใช้เพียงแค่ทักษะ (Skilled Worker) ดังนั้นการเสริมองค์ความรู้ภาษามือเรื่องการจัดการนั้น เพื่อเป็นการยกระดับให้กลุ่มผู้มีความบกพร่องทางการได้ยินให้มีโอกาสก้าวหน้าในบริษัทได้ เราอยากให้เขาเป็นผู้ประกอบการที่เลี้ยงชีพด้วยตัวเขาเองได้ โดยเป้าหมายสูงสุดคืออยากเห็นผู้พิการหูหนวกเป็นเจ้าของสตาร์ทอัพที่อาจจะรับผู้พิการหูหนวกเข้ามาเป็นผู้จัดการ หรือแม้กระทั่งรับคนปกติทั่วไปเข้าไปทำงานเป็นลูกน้องเขาก็ได้ การมีความรู้เพิ่มและการเพิ่มความสามารถในการสื่อสารจึงอาจเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาที่ผู้พิการทางการได้ยินกำลังเผชิญอยู่ นอกจากนี้การศึกษายังสามารถสร้างและขยายโอกาสในการทำงานในระดับที่สูงขึ้น และมีศักยภาพในการเป็นเจ้าของกิจการเพิ่มมากขึ้น
 
นำร่องโมเดลประเทศไทย สู่ Dictionary “การจัดการ” ระดับสากล
          โครงการ “คลังคำศัพท์ภาษามือด้านการจัดการ” ประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก 7 กิจกรรม คือ 1. การพัฒนากระบวนการออกแบบการสร้างคลังคำศัพท์ภาษา 2. การพัฒนาชุดความรู้เรื่องการจัดการจำนวน 2 ชุดความรู้ 3.การสอนเนื้อหาให้คุณครูผู้สอนภาษามือ 4.การพัฒนาคลังคำศัพท์ 5.การจัดทำคู่มือคำศัพท์ภาษามือด้านการจัดการ 6.การจัดทำสื่อการสอนคำศัพท์ภาษามือด้านการจัดการ และ 7. กระบวนการทดลองใช้กับผู้พิการทางการได้ยิน โดยในขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการสอนเนื้อหาด้านการจัดการให้กับคุณครูผู้สอนภาษามือและการพัฒนาคลังคำศัพท์ภาษามือด้านการจัดการให้กลายเป็นภาษามือกลางในเรื่องของการจัดการที่ผู้พิการใช้ในรูปแบบเดียวกันทั่วประเทศ
          “นอกจากนี้ยังมุ่งหวังให้โครงการนี้เป็นต้นแบบที่จะขยายไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ซึ่งมีจำนวนผู้พิการทางการได้ยินจำนวนมาก แต่ก็ถูกละเลยเหมือนกัน ดังนั้น หากเราเป็นฮับได้ จะทำให้คนกลุ่มนี้กลายเป็นทุนที่สำคัญของประเทศได้ และข้อสำคัญคือเขาไม่ต้องไปเรียนรู้วิทยาการใหม่ เพียงแค่เอาสิ่งที่มีอยู่มาใช้ให้เป็นประโยชน์และทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น ก็เพียงพอแล้ว”  ผศ.ดร.บุริม โอทกานนท์ กล่าวเสริม
           เบื้องต้น โครงการคลังคำศัพท์ภาษามือด้านการจัดการ ได้รับความร่วมมือ จาก สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด  (CPALL) โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย (สหท.) และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ที่ให้ความช่วยเหลือเรื่องของการฝึกทักษะ เพื่อให้กลุ่มผู้พิการได้ฝึกทักษะไปพร้อมๆ กับเรียนองค์ความรู้ด้านการจัดการ
          ผู้สนใจศึกษาโครงการคลังคำศัพท์ภาษามือด้านการจัดการ สามารถติดตามได้ที่ช่องทางยูทูป Mahidol University - Hearing Loss ( https://www.youtube.com/channel/UCjNb8IS_4QGtmAy0SH6gs9g/featured ) และสำหรับผู้สนใจเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท หลักสูตรไทย-หลักสูตรนานาชาติ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ – 24 มกราคม 2565 ที่ https://apply.cm.mahidol.ac.th/web หรือสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 02-206-2000 หรือติดตามข้อมูลได้ที่เพจเฟซบุ๊ก CMMU Mahidol
 
ที่มาของข่าว https://www.banmuang.co.th/news/education/261617
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก