ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ไม่มีคำว่าครูใหญ่ในร่างพ.ร.บ.การศึกษาชาติแล้ว

วันที่ลงข่าว: 26/11/20

          เลขาธิการสภาการศึกษา เผย ปรับแก้ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติแล้ว หลังคณะกรรมการกฤษฎีกา แจง ร่างพ.ร.บ.ที่ปรับแก้ไขใหม่ไม่มีคำว่า "ครูใหญ่" และ "ใบรับรองความเป็นครู" ในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้แล้ว
          เมื่อวันที่ 26 พ.ย.ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้คัดร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ   และ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาตลอดชีวิต  ออกจากสารระบบการพิจารณาร่างกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายที่ไม่มีการเสนอความเห็นเข้ามาตามเวลาที่กำหนด และส่งกลับมาให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มาพิจารณาใหม่ก่อนเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีการพิจารณาอีกครั้งนั้น  ซึ่งนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ  รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) มาจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม โดยตนได้ตรวจสอบรายละเอียดในเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ทั้งสองฉบับแล้ว รวมถึงได้มีการทำประชาพิจารณ์และรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้เรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะประเด็นใหญ่ที่สำคัญ คือ กาเปลี่ยนชื่อตำแหน่ง "ผู้อำนวยการสถานศึกษา" เป็น "ครูใหญ่" และ "รองผู้อำนวยการสถานศึกษา" เป็น "ผู้ช่วยครูใหญ่"  และการกำหนดให้มีใบรับรองความเป็นครูแทนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู    
          เลขาธิการสกศ.กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ในประเด็นดังกล่าวได้ข้อสรุปที่จะบรรจุใส่ในร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติแล้วว่าจะไม่มีคำว่าครูใหญ่อีกต่อไปและให้ใช้เป็นผู้อำนวยโรงเรียนเหมือนเดิม ขณะที่การกำหนดให้มีใบรับรองความเป็นครูแทนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูนั้นก็จะกลับมาใช้ใบอนุญาตประกอชวิชาชีพครูแบบเดิมเช่นเดียวกัน ส่วนเรื่องอื่นๆก็ได้ปรับให้รัฐจัดการศึกษาและส่งเสริมการศึกษาตั้งแต่ปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา การศึกษานอกระบบ การศึกษาคนพิการ และอุดมศึกษา เพื่อต้องการให้เห็นว่ารัฐได้จัดการศึกษาเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพราะของเดิมไม่ได้มีการเขียนไว้ชัดเจนในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้  ดังนั้นถือว่าการปรับแก้ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ได้จัดทำรายละเอียดเบื้องต้นเรียบร้อย และตนได้เสนอให้รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาแล้ว นอกจากนี้รมว.ศธ.ยังมอบหมายให้สกศ.เป็นหน่วยงานกลางในการดูแลกฎหมายการศึกษาที่เกี่ยวข้องต่างๆด้วย โดยขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานกรั่นกรองงานกฎหมายแล้ว เพื่อให้กฎมายการศึกษามีประสิทธิภาพมากขึ้น
          “สำหรับประเด็นที่จะให้สภาการศึกษาไปอยู่ภายใต้การกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น ในร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ กำหนดให้มีสภานโยบายการศึกษา ซึ่งก็คือการอัพหน่วยงานสกศ.ให้เป็นซุปเปอร์บอร์ด  โดยเรื่องนี้สกศ.กำลังรอดูว่าพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติจะออกมาอย่างไร เพราะขณะนี้เราได้เตรียมร่างรายละเอียดที่เกี่ยวข้องไว้หมดแล้ว ดังนั้นต้องดูต่อไปว่าสกศ.จะไปอยู่ภายใต้กำกับของใคร” ดร.อำนาจ กล่าว

ที่มาของข่าว https://www.dailynews.co.th/education/808763
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก