ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

อบจ.ภูเก็ตเสริมความรู้จิตอาสาช่วยดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง

วันที่ลงข่าว: 12/03/13

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - อบจ.ภูเก็ต จัดอบรมดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยเรื้อรัง และผู้พิการในชุมชน พัฒนาการบริการให้อาสาสมัครสาธารณสุขใหม่ เผยพลสำรวจผู้ป่วยเรื้อรังในภูเก็ตมีกว่า 500 คน
 ที่ห้องยูงทอง โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายชวลิต ณ นคร รองนายก อบจ.ภูเก็ต เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยเรื้อรังและผู้พิการในชุมชน” สำหรับจิตอาสา อาสาสมัครสาธารณสุข (ใหม่) ในโครงการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง และผู้พิการในชุมชนจังหวัดภูเก็ต ปี 2556 โดยมีสมาชิกสภา เจ้าหน้าที่ อบจ.ภูเก็ต ตัวแทนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต และอาสาสมัครสาธารณสุข (ใหม่) เข้าร่วมจำนวนประมาณ 50 คน ในระหว่างวันที่ 11-15 มีนาคม 56 นี้
      
       น.ส.ประพรศรี นรินทร์รักษ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากการดำเนินงานโครงการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยเรื้อรัง และผู้พิการในชุมชนจังหวัดภูเก็ต ตั้งแต่ปี 2552 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ได้สร้างเครือข่ายจิตอาสาสมัครสาธารณสุขทุกตำบล จำนวน 176 คน เพื่อดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและผู้พิการที่ช่วยเหลือตัวเองได้เล็กน้อย และช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย จำนวน 528 ราย และการดำเนินงานของโครงการฯ ในปี 2556 ยังคงยึดวัตถุประสงค์เดิม คือ ผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองได้เล็กน้อย และนอนติดเตียงอยู่ที่บ้านต้องได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น จำนวน 135 คน จึงได้จัดอบรมจิตอาสาสมัครสาธารณสุขใหม่เพิ่มอีก จำนวน 45 คน ซึ่งมีหลักสูตรในการอบรมฯ เน้นการฝึกปฏิบัติในการดูแลช่วยเหลือเป็นหลัก เพื่อให้จิตอาสาฯ มีความรู้ และนำไปใช้ในการดูแลช่วยเหลืออย่างถูกต้อง รวมทั้งยังเป็นการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยเรื้อรัง และผู้พิการ พร้อมทั้งได้เพิ่มพูนความรู้ ทักษะ ในการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และมีประสิทธิภาพต่อไปด้วย
      
       ด้าน นายชวลิต ณ นคร รองนายก อบจ.ภูเก็ต กล่าวว่า อบจ.ภูเก็ตได้ดำเนินงานโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง มีเครือข่ายจิตอาสาฯ ที่มีความรู้พร้อมให้การดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยอยู่ทุกตำบล มีแพทย์ พยาบาลที่เข้มแข็ง พร้อมที่สละเวลาในการออกเยี่ยมดูแลผู้ป่วยถึงที่บ้านอย่างสม่ำเสมอ จากการลงพื้นที่ไปเยี่ยมผู้ป่วยพบว่า ผู้ป่วยที่นอนติดเตียงอยู่ที่บ้านบางรายสามารถออกจากบ้านได้ด้วยตัวเองแล้ว และยังเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวที่ช่วยหารายได้อีกด้วย อีกทั้งยังช่วยลดภาระให้แก่ญาติ ผู้ดูแล ทั้งนี้ เพราะความร่วมมือของทุกคนที่เห็นความสำคัญของผู้ป่วยเหล่านี้ และเพื่อให้ผู้ป่วยเหล่านี้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน อีกทั้งเกิดเครือข่ายในการดูแลผู้พิการในชุมชน ทำให้ผู้พิการในชุมชนได้รับการดูแล และสามารถเข้าถึงบริการได้ขึ้น

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ASTV ผู้จัดการออนไลน์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก