“หน่วยร่วมจัดบริการสุขภาพ สำหรับเด็กพิการ”
ถ้ามองภาพรวมของระบบบริการสุขภาพไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน จะพบว่ามีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทัศนคติเรื่องความพิการ เพราะต้องยอมรับว่าแต่ก่อนสังคมมองความพิการเป็นโรคภัยไข้เจ็บที่ต้องรักษา หากแต่ทุกวันนี้สังคมเริ่มเข้าใจและเริ่มปรับตัวเพื่อทำให้คนพิการสามารถเข้ารับบริการสุขภาพอย่างมาตรฐาน
โดยเฉพาะมิติทางด้านการฟื้นฟูร่างกาย สัมผัสได้จากการที่โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศมีกลุ่มงานเวชศาสตร์ฟื้นฟู แม้ตอนแรกจะก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเสริมการรักษาโรคซึ่งเป็นมิติหลักของสาธารณสุขไทย แต่ภายหลังก็เริ่มมีการขยายงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากหลายฝ่ายเริ่มประจักษ์แล้วว่าการรักษาและการป้องกันเป็นเพียงต้นทางของระบบเท่านั้น หากแต่การฟื้นฟูจะเป็นตัวผลักดันให้ผู้ป่วยหรือคนพิการสามารถกลับเข้าสู่ระบบต่างๆ ในสังคม แม้จะไม่ได้สมบูรณ์เหมือนก่อนที่จะเข้ากระบวนการด้านสุขภาพก็ตาม
ระบบร่วมบริการ คือเน้นการดึงครอบครัว ชุมชน อาสาสมัครเข้ามาเป็นแกนในการฟื้นฟูบำบัด โดยมีแพทย์และโรงพยาบาลเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน ให้คำปรึกษา ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ ยังต้องสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ชุมชนและครอบครัวให้เกิดขึ้นก่อน โดยภาครัฐอาจจะต้องช่วยสนับสนุนทั้งการให้ความรู้หรือการเงินให้มากกว่านี้ เพราะทุกวันนี้ หน่วยงานต่างๆ ยังเกี่ยงกันอยู่ว่ากระทรวงสาธารณสุขหรือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งตรงนี้ก็ควรจะเขียนให้ชัดไปเลย เพื่อจะได้ง่ายต่อการจัดการในภายภาคหน้า
เรื่องสุขภาพกับคนพิการอาจจะเป็นของคู่กันก็จริง แต่ด้วยระบบโครงสร้างที่มีอุปสรรคอยู่รายทาง จึงทำให้สองประเด็นนี้ยังไม่ลงตัวเสียที คำถามคือจริงๆ แล้วปัญหานี้สามารถแก้ไขหรือผ่านพ้นไปได้หรือไม่ ซึ่งถ้าตอบอย่างเป็นธรรม คงจะบอกได้เลยว่า แก้ยากแต่แก้ได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าทุกภาคส่วนจะได้เห็นความสำคัญของปัญหานี้แค่ไหน
แน่นอน หากทุกคนในสังคมเห็นคุณค่าของทรัพยากรมนุษย์ ไม่ว่าจะพิการหรือไม่พิการก็ตาม ก็เชื่อว่าปัญหานี้คงจะถูกแก้ไขอย่างรวดเร็ว และต่างฝ่ายก็คงจะพยายามหาช่องทางเพื่อข้ามพ้นอุปสรรคนี้ไปให้ได้ แต่ในทางกลับกัน ตราบใดที่ภาครัฐ ภาคเอกชน ยังคงมองมนุษย์แล้วตัดสินด้วยฐานะ สภาพสังคม หรือสภาพทางกายภาพ การแก้ไขปัญหาก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริงๆ อย่างที่เป็นอยู่เช่นทุกวันนี้