ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับองค์การระหว่างประเทศ ประชุมการลดปริมาณขยะในทะเลในกลุ่มอาเซียน ที่จังหวัดภูเก็ต

วันที่ลงข่าว: 23/11/17

        วันนี้ (22 พฤศจิกายน 2560) ที่ห้องประชุมโรงแรม เจดับบลิว แมริออท ภูเก็ต รีสอร์ท แอนด์ สปา อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติประเทศไทย (IUCN) จัดการประชุมระดับอาเซียน เรื่องการลดปริมาณขยะในทะเลในกลุ่มอาเซียน (ASEAN conference on Reducing Marine Debris in ASEAN Region 2017) เพื่อหาแนวทางและมาตรการร่วมกันในการลดปริมาณขยะลงทะเลในกลุ่มประเทศอาเซียน

อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เรื่องขยะทะเลให้เป็นที่รับทราบ และเกิดการขับเคลื่อนร่วมกันในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมีนายวงศ์เทพ อรรถไกวัลวที รองเลขาธิการอาเซียนด้านประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน และพลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิด

        นอกจากนี้ยังมี ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตัวแทนจากสมาชิกกลุ่มอาเซียน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยองค์กรท้องถิ่น นักวิชาการ นิสิตนักศึกษา สื่อมวลชน ตลอดจนประชาชนเข้าร่วมประมาณ 200 คน

        ขยะทะเลนับเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมระบบนิเวศสัตว์ทะเลและการท่องเที่ยวทางทะเล โดยจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมามีรายงานผลกระทบที่เกิดจากขยะทะเลบ่อยครั้ง เช่น การตายของเต่าทะเลและนกทะเล หลังกินชิ้นส่วนเศษขยะพลาสติก แนวปะการังที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากถูกเศษอวนและเครื่องมือประมงปกคลุม รวมทั้งมีการยกเลิกโปรแกรมท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากปัญหาขยะทะเลบริเวณแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล นอกจากนี้ยังพบว่ามีรายงานการกระจายของไมโครพลาสติกหรือขยะพลาสติกขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ในสิ่งแวดล้อมทางทะเลทั่วโลก ซึ่งมีโอกาสที่จะปนเปื้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารและร่างกายมนุษย์

        เนื่องจากขยะที่พบเห็นในทะเลอาจจะถูกพัดพาไปได้ในระยะไกลๆ ซึ่งจัดว่าเป็นปัญหามลพิษข้ามแดน ดังนั้นปัญหาขยะทะเลจึงถูกหยิบยกเป็นประเด็นปัญหาทั้งในระดับภูมิภาคและสากล ซึ่งหลายองค์กรมีความพยายามในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น สหประชาชาติได้กำหนดให้ปัญหาขยะทะเลเป็นหนึ่งในเป้าประสงค์ ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 14 โดยกำหนดให้มีการป้องกันและลดขยะทะเลภายในปี พ.ศ.2568 นอกจากนี้ในระดับภูมิภาคอาเซียนปัญหาขยะทะเลก็ได้ถูกหยิบยกและบรรจุอยู่ในร่างแผนยุทธศาสตร์อาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ปี 2559-2568 ภายใต้ยุทธศาสตร์หลักด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง ด้านการลดผลกระทบจากมลพิษทางทะเลและชายฝั่ง

        พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ กล่าวว่า การที่ประเทศไทยริเริ่มจัดการประชุม เรื่องการลดปริมาณขยะทะเลในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อให้ประเทศอาเชียนได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และร่วมกันกำหนดแนวทางในการจัดการปัญหาขยะทะเล เพื่อเป็นกรอบในการจัดการแก้ไขปัญหาร่วมกันในภูมิภาคอาเชียน เพราะขณะนี้หลายๆ ประเทศได้ให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาขยะทะเล อาทิ จีน เพิ่งจัดการประชุมการจัดการขยะทะเลในเขตเมืองชายฝั่งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ไปเมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา ขณะที่อินโดนีเชีย อยู่ระหว่างเตรียมงานจัดการประชุมเกี่ยวกับเรื่องขยะทะเลเช่นกัน สำหรับประเทศไทย จากการศึกษาเกี่ยวกับปัญหาขยะทะเลพบว่า ร้อยละ 80 ของขยะทะเลมาจากบนบก ส่วนขยะจากกิจกรรมทางทะเล มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น

        ดังนั้นการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาขยะ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญโดยกำหนดให้ปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติ โดยเน้นจัดการขยะตกค้าง 30 ล้านตันให้หมดไป และจัดการขยะใหม่ ปีละ 27 ล้านตัน ต้องลดที่ต้นทาง นำมาใช้ซ้ำและนำกลับมาใช้ใหม่ ทั้งนี้ในปี 2561 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 3Rs Forum ในกลุ่มประเทศเอชีย-แปซิฟิก รวมทั้งการออกกฎหมายและการสร้างวินัยคนในชาติ

        ขณะที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ยังร่วมมือกับทุกภาคและภาคเอกชน ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันพลาสติก ผลักดันการขับเคลื่อนแผนการจัดการพลาสติก ขยะพลาสติก โดยเน้นหลักการบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พลาสติกชีวภาพ ผลิตภัณฑ์ทดแทนพลาสติก รีไซเคิลพลาสติก นอกจากนี้ยังร่วมกับภาคเอกชนที่ผลิตน้ำดื่ม การลดและเลิกใช้ Cap Seal หรือพลาสติกที่หุ้มฝาขวด โดยข้อมูลในปี 2559 พบว่ามีน้ำดื่มที่ใช้ Cap Seal ถึง 2,600 ล้านขวด/ชิ้น

        พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ กล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องขยะทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กำหนดให้เขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลทุกแห่งปลอดจากถุงพลาสติก และเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา ได้เริ่มโครงการนำร่องกับหน่วยงานใน 15 จังหวัดชายฝั่งทะเล กำหนดพื้นที่ชายหาด 24 แห่ง ให้เป็นชายหาดปลอดจากการสูบบุหรี่และทิ้งก้นบุหรี่และขยะอื่นๆ

ที่มาของข่าว สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก