ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

รายงานพิเศษ : ประเทศไทยจัดประชุมขยะทะเลอาเซียนครั้งแรก

วันที่ลงข่าว: 20/11/17

        จากปัญหาขยะบนบกไหลทะเลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้หลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนติดอันดับโลกมีปริมาณขยะทะเลสูงสุดถึง 10 อันดับ จึงเกิดการประชุมระดับอาเซียนครั้งแรก เรื่องการลดปริมาณขยะทะเลในกลุ่มประเทศอาเซียนขึ้นในสัปดาห์หน้า เพื่อกำหนดแผนจัดการขยะของภูมิภาคอาเซียน

        “ขยะทะเล” ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นจากประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นปัญหาของโลกที่ทุกประเทศต้องช่วยกันป้องกันและควบคุมไม่ให้ปริมาณขยะที่อยู่บนฝั่งไหลลงทะเลเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันต้องวางระบบบริหารจัดการขยะบก ให้มีประสิทธิภาพและลดการใช้พลาสติก ตัวการสำคัญที่ถูกทิ้งลงทะเลสูงที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มประเทศต้นเหตุของขยะพลาสติกจำนวนมากในมหาสมุทรและประเทศที่เศรษฐกิจกำลังพัฒนารวดเร็วกว่าความสามารถด้านการบริหารจัดการขยะ ซึ่งจากการประเมินของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) พบว่ามีขยะพลาสติก ถูกพัดออกสู่มหาสมุทรประมาณ 5-13 ล้านตันต่อปี และมีเศษขยะพลาสติกจำนวนมากปะปนเข้าสู่ระบบทางเดินอาหารของนก สัตว์น้ำ และสัตว์ทะเล

       ขณะที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับมีขยะทะเลสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก ซึ่งในพื้นที่จังหวัดมีชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด มีปริมาณขยะเกิดขึ้นประมาณ 10.7 ล้านตันต่อปี แบ่งเป็นกำจัดถูกต้องประมาณ 6.2 ล้านตันต่อปี หรือร้อยละ 58.28 , นำไปรีไซเคิลประมาณ 1.6 ล้านตันต่อปี หรือร้อยละ 15 และกำจัดไม่ถูกวิธีประมาณ 26.24 ล้านตันต่อปี หรือร้อยละ 26.24 โดยจะถูกชะและพัดพาลงสู่ทะเลประมาณร้อยละ 10 ของขยะที่ลงทะเล พบเป็นขยะพลาสติกประมาณ 750 ล้านชิ้น โดยเฉพาะไมโครพลาสติก ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในทะเล อย่างสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์

        นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศไทย จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับอาเซียน เรื่อง "การลดปริมาณขยะทะเลในกลุ่มประเทศอาเซียน" หรือ "ASEAN Conference on Reducing Marine Debris in ASEAN Region" ขึ้นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 22 – 23 พฤศจิกายนนี้ ณ โรงแรม เจ ดับบลิว แมริออท รีสอร์ทแอนด์สปา หาดไม้ขาว จังหวัดภูเก็ต โดยมีประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ อาเซียนบวกจีน และองค์กรที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลขยะทะเลและแนวทางการรับมือระหว่างกัน เพื่อหามาตรการป้องกันและควบคุมไม่ให้ปริมาณขยะบนบกไหลลงทะเลเพิ่มเติม การกำหนดแผนจัดการขยะของภูมิภาคอาเซียน การแก้ปัญหาขยะทะเลระดับโลก ระดับภูมิภาค และด้านกฎหมาย เนื่องจากกลุ่มประเทศอาเซียนติดอันดับมีปริมาณขยะทะเลสูงของโลกถึง 10 อันดับ

        ทั้งนี้ ยังมีขยะที่เกิดจากการท่องเที่ยว เช่น ก้นบุหรี่ ขวดน้ำพลาสติก ขวดแก้ว โฟม อุปกรณ์ทางการแพทย์ และขยะจากการประมง เช่น เศษเชือก อวน ที่ส่งผลกระทบต่อชายหาดท่องเที่ยวจนเกิดความสกปรกและเป็นสาเหตุการตายของสัตว์ทะเลหายาก สำหรับสัดส่วนขยะชายหาดของประเทศ ระหว่างปี 2552 - 2558 พบว่าถุงพลาสติก ร้อยละ 16 ฝาหรือจุก ร้อยละ 10 เชือก ร้อยละ 8 หลอด ร้อยละ 7 กระดาษ ร้อยละ 6 บุหรี่หรือก้นบุหรี่ ร้อยละ 5 ขวดแก้ว ร้อยละ 5 จาน ช้อน หรือมีด ร้อยละ 4 ภาชนะบรรจุอาหาร ร้อยละ 4 และขยะอื่นๆ ร้อยละ 35 ซึ่งไทยจำเป็นต้องจัดทำและปรับปรุงระบบการจัดการขยะบนบกหรือบนฝั่งให้สมบูรณ์ เพื่อป้องกันขยะไหลลงสู่แหล่งน้ำและทะเลลดลง

ที่มาของข่าว สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก