ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

พม.ใช้นโยบาย 9 – 5 – 5 เน้นขับเคลื่อนและผลักดันภารกิจ พม. ในปี 2561 โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายเป็นสำคัญ

วันที่ลงข่าว: 09/10/17

        วันที่ 4 ต.ค. 60 ) เวลา 13.30 น. นายณรงค์ คงคำ โฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การกำหนดทิศทางและวางแผนการดำเนินงานในภาพรวมกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ประจำปีงบประมาณ 2561 พร้อมมอบนโยบายกระทรวง พม. ประจำปีงบประมาณ 2561 หรือ นโยบาย 9 – 5 – 5 เพื่อขับเคลื่อนภารกิจงานอย่างต่อเนื่องและให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสเข้าถึงบริการของรัฐตามนโยบายของรัฐบาล โดยมี คณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการระดับส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวง พม. จากทั่วประเทศ

 

        พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะเป็นองค์การและกลไกหลักด้านสังคมในการบรรลุนโยบายของรัฐบาล “ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และการสร้างโอกาสเข้าถึงบริการ ของรัฐ” โดยการขับเคลื่อนและผลักดันการดำเนินงานของหน่วยงานสำคัญสังกัดกระทรวง พม. ประกอบด้วย 1) สำนักงานปลัดกระทรวง (สป.พม.) 2) กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) 3) กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) 4) กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) 5) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) 6) กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) 7) การเคหะแห่งชาติ (กคช.) 8) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) และ 9) สำนักงานธนานุเคราะห์ เพื่อมุ่งให้ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ได้มีความมั่นคงในการดำรงชีวิตด้วยคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกันในสังคม

 

        พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้การขับเคลื่อนและผลักดันภารกิจของกระทรวง พม. อย่างต่อเนื่อง จากระดับนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในทิศทางเดียวกันทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายเป็นสำคัญ กระทรวง พม. จึงได้จัดทำนโยบายกระทรวง พม. ประจำปีงบประมาณ 2561 หรือ นโยบาย 9 – 5 – 5 โดยได้นำกรอบความคิดสำคัญต่างๆ ได้แก่ 1) การบริหารราชการแผ่นดิน ตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 โดยประชาชนเป็นศูนย์กลาง และบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนในรูปแบบ “ประชารัฐ” โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 2) ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ด้วยวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” 3) ศาสตร์พระราชา: หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา 4) นโยบายของรัฐบาล “การลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสเข้าถึงบริการของรัฐ” และ 5) นโยบายกระทรวง พม. ประจำปีงบประมาณ 2558 – 2560 เป็นต้น

 

        พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับ นโยบาย 9 – 5 – 5 ประกอบด้วย 1) นโยบายเร่งด่วน (Agenda based (A1)) จำนวน 9 เรื่อง ได้แก่ 1.1) การพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อคนทั้งมวล 1.2) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ 1.3) การบูรณาการรองรับสังคมผู้สูงอายุ 1.4) การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 1.5) การพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน 1.6) การสร้างความเข้มแข็งของสตรีและครอบครัว 1.7) การพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมและจิตอาสาเพื่อสังคม 1.8) การยกระดับงานด้านต่างประเทศและอาเซียน 1.9) การส่งเสริมพลังประชารัฐเพื่อสังคม

 

        2) นโยบายบริหารการพัฒนา (Administration based (A2)) จำนวน 5 เรื่อง ได้แก่ 2.1) การพัฒนาบุคลากรสู่มืออาชีพ 2.2) การพัฒนาองค์กรตามหลักธรรมาภิบาลสู่มาตรฐานสากล 2.3) การพัฒนาระบบและกระบวนการทำงานให้เกิดประสิทธิผล 2.4) การพัฒนาและขับเคลื่อนกฎหมายด้านสังคมสู่การปฏิบัติ 2.5) การจัดสวัสดิการสำหรับบุคลากร

 

        3) นโยบายการขับเคลื่อนระดับ/จังหวัด (Area based (A3)) จำนวน 5 เรื่อง ได้แก่ 3.1) การขับเคลื่อนทีมงาน พม. จังหวัด ภายใต้แนวคิด One Home : บ้านเดียวกัน อย่างเป็นเอกภาพ 3.2) การยกระดับการเป็นเจ้าภาพด้านสังคม 3.3) การพัฒนาระบบข้อมูลด้านสังคม 3.4) การพัฒนาศักยภาพการประสานงานภาคี (ภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม) 3.5) การสนับสนุนให้จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าภาพในการพัฒนาสังคม

 

        พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา กระทรวง พม. ได้ดำเนินภารกิจสำคัญต่างๆ ตามนโยบายกระทรวง พม. ประจำปีงบประมาณ 2558 – 2560 โดยเฉพาะ 1) เรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยรัฐบาลประกาศเป็นวาระแห่งชาติในปี 2558 2) การพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่ริมคลองริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแนวรถไฟฟ้า รวมทั้งโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงและโครงการ “ปทุมธานีโมเดล” 3) การเตรียมความพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุ ด้วยการจ้างงานและการตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) ทั่วประเทศ 4) การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการด้วยการจ้างงาน การเพิ่มเบี้ยความพิการจากเดิม 500 บาท/เดือน เป็น 800 บาท/เดือน และการส่งเสริมนักร้องนักดนตรีตาบอดในที่สาธารณะในนาม “ศิลปิน S2S” เป็นต้น 5) การพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน ด้วยการเพิ่มเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด (0-3 ปี) จากเดิม 400 บาท/เดือน เป็น 600 บาท/เดือน การพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก และการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ 6) การสร้างความเข้มแข็งของสตรีและครอบครัวด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่สตรีด้อยโอกาสที่เสี่ยงต่อการถูกล่อลวงสู่กระบวนการค้าประเวณี การพัฒนาเครือข่ายหญิงไทยในต่างประเทศและช่องทางการช่วยเหลือผ่านเว็บไซต์ yingthai.net 7) การพัฒนาระบบสวัสดิการสังคม ด้วยการจัดระเบียบขอทาน คนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศและการขยายผลโครงการ “ธัญบุรีโมเดล” 8) การพัฒนาบทบาทประชาคมและสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ด้วยการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการอาเวียนด้านสังคม 9) การส่งเสริมพลังประชารัฐ ด้วยการดำเนินงานของคณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคม (E6) ระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม และ 10) การพัฒนาและปฏิรูปองค์กร ด้วยการพัฒนาระบบและการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการกระทรวง พม. และการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายด้านสังคม จำนวน 10 ฉบับ อาทิ พ.ร.บ. ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2558 พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 พ.ร.บ. ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 และ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 เป็นต้น

 

        “สำหรับนโยบายกระทรวง พม. ประจำปีงบประมาณ 2561 หรือ นโยบาย 9 – 5 – 5 ขอความร่วมมือคณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการระดับส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวง พม. ได้นำนโยบายดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ ด้วยการร่วมกันขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งร่วมกันสร้างการรับรู้และความเข้าใจนโยบายดังกล่าวแก่บุคลากรทุกระดับ เพื่อให้เกิดการมี ส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินภารกิจของกระทรวง พม. โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายเป็นสำคัญ ซึ่งนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสเข้าถึงบริการของรัฐต่อไป” พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย

 

ที่มาของข่าว สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก