ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

กรมวิชาการเกษตร จับมือ สกว. พัฒนาบุคลากรระดับปริญญาเอกสาขาสำคัญและขาดแคลน เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ Thailand 4.0

วันที่ลงข่าว: 19/06/17

         นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการร่วมให้ทุนพัฒนาบุคลากรระดับปริญญาเอก ระหว่างกรมวิชาการเกษตร และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในการดำเนินการ "โครงการร่วมให้ทุนพัฒนาบุคลากรระดับปริญญาเอก” เพื่อสนับสนุนความร่วมมือในงานวิจัย และพัฒนานักวิจัยระดับปริญญาเอก เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบวิจัยด้านการเกษตรของประเทศ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานของภาครัฐแห่งแรกที่จะได้รับการสนับสนุนจาก สกว. ภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างกรมวิชาการเกษตร และ สกว. ในโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก ปี 2560 - 2579 ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษกเพื่อหน่วยงานภาครัฐ ซึ่ง สกว. ให้การสนับสนุนทุนพัฒนาบุคลากรให้แก่กรมวิชาการเกษตรเป็นระยะเวลา 5 ปี จำนวนปีละ 10 ทุน รวม 50 ทุน ทุนละประมาณ 2 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าโดยรวมกว่า 100 ล้านบาท

         ทั้งนี้ นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวว่า"นโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเป้าหมายที่จะให้มีการส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรของประเทศ ให้สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นและหนี้สินลดลง โดยได้วางแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย อาทิ การพัฒนาศูนย์เพิ่มประสิทธิภาพการเกษตร (ศพก.) 882 ศูนย์ Agri-Map การทำเกษตรแปลงใหญ่ การผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพมาตรฐาน การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันสินค้าเกษตร การใช้ทรัพยากรอย่างสมดุลและยั่งยืนไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การพัฒนาบุคลากรก็จำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันพัฒนาเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer และพัฒนาสถาบันเกษตรกรให้เป็น Smart Group โดยเฉพาะการพัฒนา Smart Officer เป็นปัจจัยสำคัญและมีความจำเป็น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร จึงได้เร่งพัฒนาบุคลากรเพื่อทดแทนและรองรับการพัฒนาการเกษตรไปสู่ Thailand 4.0 ซึ่งภายใต้ความร่วมมือโครงการนี้จะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาการเกษตรของประเทศเป็นไปอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”

ซึ่งดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจสำคัญในการวิจัยและพัฒนาด้านการผลิตพืช และเครื่องจักรกลการเกษตร กำลังอยู่ในภาวะขาดแคลนบุคลากรที่มีความชำนาญในสาขาที่สำคัญ รวมทั้งเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการพัฒนาด้านการเกษตรและด้านเศรษฐกิจตามนโยบาย Thailand 4.0 จำนวน 20 สาขา เช่น การปรับปรุงพันธุ์พืช อนุกรมวิธานพืช เทคโนโลยีชีวภาพ การเกษตรแม่นยำ การผลิตพืชในโรงเรือน เกษตรกลวิธานขั้นสูง วิทยาการหุ่นยนต์ เทคโนโลยีเซนเซอร์ นาโนเทคโนโลยี และแบบจำลองการประเมินผลผลิตและพยากรณ์การผลิตขั้นสูง เป็นต้น ซึ่งความร่วมมือดังกล่าว จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการสร้างนักวิจัยทดแทนในสาขาที่กรมวิชาการเกษตรขาดแคลน และรองรับการพัฒนาการเกษตรไปสู่ Thailand 4.0 ที่สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล และนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นอกจากนี้ ศาสตรจารย์ น.พ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติโครงการเมื่อปี 2539 มีเป้าหมายพัฒนานักวิจัย เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบวิจัย ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยการจัดสรรทุนพัฒนาบุคลากรเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมาได้ได้ให้ทุนไปแล้ว 4,503 ทุน ผลิตดุษฎีบัณฑิตแล้วกว่า 2,900 คน ขณะนี้ ครม. มีมติให้ดำเนินโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก ระยะที่ 2 ปี 2560 - 2579 ภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาบุคลากรระดับปริญญาเอกในสาขาวิชาใหม่ ๆ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก มีเป้าหมายผลิตบุคลากรทั่วไปผ่านมหาวิทยาลัย จำนวน 7,500 คน ยุทธศาสตร์ที่ 2 โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษกอาเซียน 6 เพื่อผลิตนักวิจัยให้กับประเทศในภูมิภาคอาเซียน เป้าหมายคือนักศึกษาอาเซียนทีมาศึกษาในมหาวิทยาลัยของประเทศไทย จำนวน 1,390 คน และยุทธศาสตร์ที่ 3 โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษกเพื่อหน่วยงานรัฐ เพื่อผลิตบุคลากรระดับปริญญาเอกให้กับหน่วยงานภาครัฐที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัย จำนวน 3,500 คน

ที่มาของข่าว สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก