ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

รายงานขยายประเด็นวันนี้ ยังอยู่ที่เรื่องสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งวันนี้เป็นตอนสุดท้าย ที่จะนำเสนอเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมของไทย ในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์และมีคุณภาพ โดยครอบคลุมทุกมิติ

วันที่ลงข่าว: 06/06/17

        ประเทศในอาเซียนกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ข้อมูลปี 2559 ไทยมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป หรือผู้สูงอายุกว่า 16 ล้านคน และคาดหมายว่า ในปี 2564 ประเทศไทย จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยองค์การสหประชาชาติ คาดหมายสถานการณ์ผู้สูงอายุในอาเซียน ว่าในปี 2583 ประเทศไทย จะมีผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 32-33 ของประชากรทั้งหมดของประเทศ ซึ่งจะกลายเป็นประเทศ ที่มีส่วนแบ่งของจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุดในภูมิภาค ดังนั้นแล้วประเทศไทยจะสามารถทำอะไรได้บ้าง หรือต้องเตรียมตัวอย่างไร เพื่อให้การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็นไปอย่างมีคุณภาพ

        ก่อนอื่นเลย ต้องทำความเข้าใจว่า การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ไม่ได้เกี่ยวข้องแต่เพียงตัวผู้สูงอายุเท่านั้น แต่เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับทุกคน การปฏิรูปนโยบายที่ครอบคลุมในวงกว้างและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม จะเป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ปัญหา ทั้งการปรับสมดุลของชีวิตการทำงานและครอบครัว ตลอดจนนโยบายในช่วงชีวิตการทำงาน ที่จะต้องสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ การปฏิรูปแรงงานและนโยบายด้านภาษี เพื่อสนับสนุนชีวิตการทำงานที่ยาวนานและมีประสิทธิภาพ ซึ่งรัฐบาลตระหนักเรื่องนี้เป็นอย่างดี โดยบรรจุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้ขับเคลื่อนและได้จัดทำแผนผู้สูงอายุ พร้อมบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยนายสมคิด สมศรี อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาการทำงานของแต่ละหน่วยงานไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่จากนี้การขับเคลื่อนแผนผู้สูงอายุ จะเน้นให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งมิติด้านสุขภาพ มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสังคมและมิติด้านสภาพแวดล้อม ซึ่งมีทั้งมาตรการระยะยาวและมาตรการระยะเร่งด่วน

        (“เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญผู้สูงอายุอย่างยิ่ง ก็จะมีมาตรการระยะยาว มาตรการระยะสั้นก็ภายใน 1 ปีนี้ เป็นมาตรการเร่งด่วน คือ มีมติ ครม. เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 รองรับสังคมผู้สูงอายุ 4 มาตรการ ที่เราทราบกันดี คือ มาตรการการจ้างงานผู้สูงอายุ มาตรการการสร้างที่อยู่อาศัยให้กับผู้สูงอายุ มาตรการสินเชื่อสำหรับผู้สูงอายุ และมาตรการการออมภาคบังคับสำหรับผู้สูงอายุ อันนี้เป็นมาตรการระยะสั้น คือ เร่งด่วน”)

         ส่วนมาตรการระยะยาวในแผนผู้สูงอายุนั้น จะมีการขับเคลื่อนงานไปสู่ท้องถิ่น โดยการหาพื้นที่สำหรับผู้อายุในแต่ละพื้นที่ โดยส่วนที่เล็กที่สุด คือ ระดับตำบล ซึ่งในระยะเริ่มแรก จะใช้ศูนย์พัฒนาชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำนวน 878 แห่งทั่วประเทศ เป็นสถานที่นำร่อง รวมถึง โรงเรียนผู้สูงอายุ ของกรมการปกครอง กว่า 600 แห่ง ในการพัฒนาเป็นสถานสงเคราะห์ระดับเล็กที่สุดขึ้นมารองรับบุคคลที่อยู่กับครอบครัวไม่ได้ หรือครอบครัวไม่สามารถดูแลได้ ซึ่งระหว่างนี้ จะมีการอบรมอาสาสมัคร หรือ แคร์คีฟเวอร์ ประจำอยู่ตามศูนย์ต่างๆ เพื่อให้ได้มาตรฐานตามที่รัฐบาลกำหนด

        (“ถ้าพูดกันง่ายๆ ก็จะเกิดเป็นสถานสงเคราะห์ระดับเล็กที่สุดขึ้นมา ก็คือ บุคคลที่อยู่กับครอบครัวไม่ได้ ครอบครัวไม่สามารถดูแลได้ ท้องถิ่นเอามาดูแลเอง ก็เป็นโรงเรียนผู้สูงอายุ ก็เป็นเนิซซิ่งโฮม แต่ว่าจะเป็นขนาดเล็กที่สุด มาตรฐานเราอาจกำหนดไว้ไม่เกิน 10 คน มีแคร์คีฟเวอร์ 2 คน อันนี้คือการวางแผนในยุทธศาสตร์ 20 ปี ก็จะครอบคลุมทั้งประเทศ”)

         นอกจากมาตรการด้านต่างๆ ของรัฐแล้ว ยังมีแนวทางขับเคลื่อนในเชิงประชารัฐ ด้วยการส่งเสริมให้ภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดตั้งสถานที่สำหรับผู้สูงอายุในระดับใหญ่ขึ้น จนอาจเรียกเป็น ซีเนียร์คอมเพล็กซ์ในอนาคต เพื่อให้การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกระดับ

ที่มาของข่าว สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก