ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

จ.มหาสารคาม “KICK OFF” พัฒนาอุตสาหกรรม โค กระบือ ตักสิลาครบวงจร รองรับตลาดอาเซียนและพัฒนาอาหารเกษตรปลอดภัย สร้างความมั่งคงและรายได้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน

วันที่ลงข่าว: 01/06/17

       วันนี้ (31 พ.ค. 60) ที่หอประชุมอาคารวัฒนธรรม สถาบันขงจื๊อ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นางไพเราะ รอยตระกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานเปิดงาน “KICK OFF” โครงการพัฒนาอุตสาหกรรม โค กระบือ ตักสิลาสู่อาเซียน ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม โค กระบือ ตักสิลาครบวงจรรองรับตลาดอาเซียน และการพัฒนาอาหารเกษตรปลอดภัย ภายใต้แผนปฏิบัติราชการประจำปีกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ประจำปีงบประมาณ 2560 ตามแผนบูรณาการการสร้างเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยมีตัวแทนกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมอาชีพปศุสัตว์จาก 206 กลุ่ม จาก 13 อำเภอ เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน เพื่อรับฟังข้อมูลทิศทางการพัฒนา และการขอสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. การแลกเปลี่ยนข้อมูลจากกลุ่มเกษตรกรต่างๆ ทั้งด้านการเลี้ยงการลดต้นทุน และสร้างโอกาสในการแข่งขันอุตสาหกรรมโค กระบือ ทั้งในและต่างประเทศ

        นายปฏิวัติ คุณดิลกพจน์ ปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ปัจจุบันการเลี้ยงโคเนื้อส่วนใหญ่ยังคงเป็นเกษตรกรรายย่อยที่ต้องรับภาระทั้งความจำกัดของพื้นที่เลี้ยง ราคาพันธุ์โคเนื้อที่ซื้อมาเลี้ยงมีราคาแพงขึ้น อาหารสัตว์ราคาแพงและขาดแคลนพืชอาหารสัตว์คุณภาพดี รวมทั้งประสบปัญหาราคาขายหน้าฟาร์มต่ำ ผลตอบแทนทางการเงินได้เฉพาะค่าแรงงานตนเอง หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ เกษตรกรซึ่งเป็นรากฐานของแผ่นดินทำธุรกิจแล้วมีรายได้ไม่สมเหตุสมผล ไม่มีความมั่งคงยั่งยืนในการประกอบอาชีพอาจทยอยล้มเลิกกิจการ จนเกิดผลกระทบเชิงจิตวิทยาในวงกว้างยากแก่การฟื้นฟูได้

         สำหรับกิจกรรม “KICK OFF” โครงการพัฒนาอุตสาหกรรม โค กระบือ ตักสิลาสู่อาเซียน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิต สร้างโอกาสในการแข่งขันอุตสาหกรรมโคกระบือตักสิลา เร่งเพิ่มผลผลิตโคกระบือที่ทีคุณภาพให้เพียงพอตามความต้องการและกลไกการตลาด ส่งเสริมให้จังหวัดมหาสารคามเป็นศูนย์กลางการผลิตและกระจายสินค้าโค กระบือ และผลิตภัณฑ์ตักสิลาสู่ตลาดภายในประเทศและอาเซียน รวมทั้งสร้างรายได้และพัฒนาอาชีพให้เกษตรกรมีความมั่งคงสู่วิถียั่งยืนต่อไป

ที่มาของข่าว สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก