ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

มุมมองทูตไทยประจำอาเซียน โอกาสที่กว้างไกลกว่า′พรมแดนไทย′

วันที่ลงข่าว: 21/08/13

หมายเหตุ ′มติชน′ - 46 ปี นับจากการลงนามก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 จากวันนั้นมาถึงวันนี้ อาเซียนก้าวมาไกล และกำลังมุ่งหน้าไปสู่การรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้า ในโอกาส "วันอาเซียน" มติชนได้พูดคุยกับท่านทูตสุวัฒน์ จิราพันธุ์ เอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ถึงปัญหาและภารกิจที่ท้าทายบนเส้นทางสู่ประชาคมอาเซียนที่เรากำลังมุ่งหน้าไป

 

การทำงานมีปัญหาและอุปสรรคมากหรือไม่

 

ปัญหามีอยู่พอสมควร แต่คงต้องมองเป็นด้านๆ ไป ในด้านการเมือง ต้องยอมรับว่าความโดดเด่นของอาเซียนทำให้มหาอำนาจสนใจจึงเข้ามามีบทบาท แต่อาเซียนก็ต้องยึดมั่นความเป็นปึกแผ่นของอาเซียนเพื่อยืนยันความเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนความร่วมมือให้ได้ ความจริงแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนก็มีระดับความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจที่ต่างกัน บางประเทศก็กลายเป็นคู่กรณีกับมหาอำนาจบางประเทศ อาทิ กรณีทะเลจีนใต้ 

 

ความยากลำบากคือทำอย่างไรจึงจะมีการประสานท่าทีของอาเซียนเอง แน่นอนว่าทุกประเทศมีข้อจำกัดเรื่องการเมืองภายในและผลประโยชน์แห่งชาติ ซึ่งความแตกต่างก็เป็นธรรมดาที่จะทำให้เกิดปัญหาขึ้น แต่ไทยในฐานประเทศผู้ประสานงานอาเซียน-จีนในขณะนี้ก็ใช้ความพยายามที่จะทำหน้าที่ตรงนี้ แต่ข้อเด่นคือไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน และเราไม่ใช่คู่กรณีในปัญหานี้ ทั้งยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศอื่นๆ ดังนั้น การทำหน้าที่ของไทยจึงไม่มีประเด็นแอบแฝง แต่ทำเพื่อประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่ายเพื่อให้ประชาคมการเมืองและความมั่นคงของอาเซียนเป็นไปด้วยดี

 

ต่อมาคือเรื่องสิทธิมนุษยชน เราต้องยอมรับว่ารูปแบบการปกครองของชาติสมาชิกแตกต่างกัน ระดับการพัฒนาประชาธิปไตยแม้แต่ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยในอาเซียนด้วยกันก็ยังมีความแตกต่างกัน ความตระหนักรู้ของประชาชนในเรื่องสิทธิเสรีภาพก็แตกต่างกันด้วย แม้อาเซียนจะประสบความสำเร็จในการรับรองปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แต่ก็ถือเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งเท่านั้น เพราะต้องมีการพัฒนาต่อไปให้ดีขึ้นและแต่ละประเทศสมาชิกก็ต้องมีวิวัฒนาการของตนเองในเรื่องสิทธิมนุษยชนต่อไป 

 

 

 

ในเรื่องสิทธิมนุษยชนจะมองว่าเป็นปัญหาไหมก็เป็นปัญหา แต่ถ้าเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ต้องถือว่าอาเซียนมีความก้าวหน้าในการผลักดันให้ประชาชนมุ่งไปในการพัฒนาสิทธิมนุษยชนของตนเอง ดังนั้น ต้องมุ่งไปด้วยกันทั้งในระดับประเทศและองค์กรอาเซียนโดยรวม ทั้งนี้ มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกันว่ากลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียนยังไม่ได้เปิดประเด็นไปสู่การไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่เท่าที่พูดคุยกันเราเชื่อว่าวันหนึ่งควรจะไปถึงตรงนั้นหรือไม่ จะได้เป็นประโยชน์มากขึ้น แต่ทั้งหมดนั้นต้องใช้เวลา

 

ในด้านเศรษฐกิจ ประเด็นหลักๆ คือความพยายามในการทำตลาดเสรีและฐานการผลิตร่วมซึ่งมีความคืบหน้าไปมากพอสมควรคือราว 73% จากแผนงานที่มีอยู่ แต่ก็ได้ฟังเสียงสะท้อนจากทางปฏิบัติว่าในความเป็นจริงยังมีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีอยู่ ซึ่งเกือบจะเรียกได้ว่าทุกประเทศก็มี ถือเป็นภารกิจสำคัญของทูตประเทศนั้นๆ ว่าจะทำอย่างไรให้เป็นไปตามความตกลงที่เกี่ยวข้อง 

 

อย่างไรก็ดีในภาพรวม การสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นไปในทางที่ดีและส่งผลในทางบวก ตัวอย่างที่เห็นได้คือทำให้เกิดความสนใจจากประเทศนอกภูมิภาค การรวมตัวกันของอาเซียนสร้างคุณค่าในแง่การเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรมากกว่า 600 ล้านคน และมีมูลค่าทางตลาดถึง 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ประเทศนอกภูมิภาคสนใจที่จะเข้ามาลงทุนเพราะเห็นอนาคตของประชาคมอาเซียน

 

ความจริงการเปิดเสรีในอาเซียนทำมานานแล้วตั้งแต่อาฟต้า แต่ในปี 2558 จะขยายให้มากขึ้น รวมถึงพยายามร่วมมือเพื่ออำนวยความสะดวกในการค้า อาทิ พยายามให้มี Single Window ให้กระบวนการศุลกากรสะดวกขึ้น การเคลื่อนย้ายเงินทุนทำได้ง่ายขึ้น และอนุญาตให้ชาติสมาชิกอาเซียนด้วยกันถือครองหุ้นในบริษัทได้เกิน 50% ซึ่งคาดว่าในปี 2558 จะมีความชัดเจนมากขึ้น

 

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนค่อนข้างถูกจับตามองมากเพราะมีผลกระทบโดยตรงและจับต้องได้มากกว่าความร่วมมือในเสาอื่นๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าความร่วมมือด้านอื่นๆ ของอาเซียนไม่สำคัญ เพราะถ้าการเมืองไม่นิ่งหรือมีประเด็นปัญหาด้านความมั่นคงมันก็จะดึงความสนใจในการพัฒนาประเทศไปได้และจะส่งผลกระทบกับความพยายามที่จะช่วยให้ประชาชนอาเซียนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 

 

การสร้างความเชื่อมโยงในอาเซียนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจมาก เพราะในการสร้างประชาคมอาเซียนสิ่งที่จะทำให้เกิดผลกระทบชัดเจนมากคือต้องมีความเชื่อมโยงระหว่างกัน การเดินทางไปมาหาสู่กันรวมถึงการเคลื่อนย้ายสินค้าทำได้สะดวก การสร้างความเชื่อมโยงในอาเซียนเป็นการต่อยอดโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่แต่ละประเทศมีอยู่ โดยเข้าไปเติมสิ่งที่ขาดเพื่อให้อาเซียนทั้งหมดสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ ขณะนี้ยังพูดกันไปไกลถึงการเชื่อมโยงอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาอื่น อาทิ จน อินเดีย ทั้งทางรถไฟและรถยนต์ หรือการเชื่อมโยงกับประเทศสมาชิกอาเซียนที่เป็นหมู่เกาะ ซึ่งจะมีการดำเนินการให้ครบวงจรทั้งหมด

 

ไม่ใช่แค่การเชื่อมโยงทางการเดินทางเท่านั้น อาเซียนยังพูดถึงการเชื่อมต่อกฎระเบียบ ปัจจุบันปัญหาที่พบและถูกพูดถึงเหมือนกันหมดคือถนนหนทางดีแต่ไปติดขัดที่ด่านพรมแดนนาน อาเซียนก็ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรให้การผ่านแดนคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้ต้องพิจารณาให้รอบด้านเพราะต้องดูทั้งเรื่องการบริหารจัดการและต้องมีความรัดกุมเพราะต้องคำนึงถึงความมั่นคงด้วย เพราะต้องยอมรับว่าการสร้างความเชื่อมโยงในอาเซียนไม่ได้มีเพียงด้านบวกอย่างเดียว แต่มีผลในแง่ลบด้วยเช่นกัน

 

ในส่วนของเสาสังคมและวัฒนธรรม เป้าหมายที่อาเซียนพยายามเน้นคือผู้ที่จะได้ประโยชน์จากการรวมตัวกันของอาเซียนคือประชาชน เราจะทำอย่างไรเพื่อสร้างประชาคมที่ประชาชนทั้ง 10 ประเทศรู้สึกร่วมกันในการเป็นอาเซียน การสนับสนุนให้มีการไปมาหาสู่ระหว่างประชาชนมากขึ้นก็เพื่อต้องการให้มีความรู้สึกร่วมดังกล่าว เราไม่ได้ลดคุณค่าของความเป็นชาติแต่ให้มีความรู้สึกของการอยู่ร่วมกันในอาเซียนมากขึ้น

 

@สิ่งที่คนยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนคืออะไร

 

ทุกคนทราบว่าเป้าใหญ่คือการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน แต่บางครั้งหน่วยงานเฉพาะด้านอาจมองไม่เห็นภาพใหญ่ของประเทศ บางครั้งมองว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นสำคัญที่สุดเลยทำให้เกิดปัญหาขึ้นจนส่งผลให้การรวมตัวในภาพใหญ่ล่าช้า แต่ถ้าอธิบายให้เห็นภาพใหญ่เขาจะเข้าใจมากขึ้น นอกจากนี้ปฏิสเธไม่ได้ว่าการรวมตัวกันของอาเซียนจะทำให้มีทั้งผู้เสียโอกาสและได้โอกาส แต่ขึ้นกับว่าภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบในทางลบจะสามารถปรับเปลี่ยนวิธีคิดหรือวิธีในการดำเนินชีวิตได้มากน้อยแค่ไหน

 

สิ่งที่คนยังเข้าใจผิดคือมักคิดว่าไทยไม่ตระหนักรู้หรือรู้เรื่องประชาคมอาเซียนน้อยกว่าประเทศอื่นซึ่งไม่ใช่ เพราะการรับรู้และตื่นตัวของไทยต้องถือว่าอยู่ในระดับต้นๆ แต่ทุกคนอาจนึกว่าในปลายปี 2558 สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการเป็นประชาคมอาเซียนอย่างสมบูรณ์ซึ่งไม่ใช่ เพราะปลายปี 2558 จะเป็นเสมือนหลักไมล์สำคัญอีกอันหนึ่งของอาเซียนในการเดินไปสู่ประชาคมซึ่งยังต้องมีพัฒนาการต่อเนื่องต่อไป ขณะนี้ผู้นำอาเซียนได้สั่งให้มีการเตรียมการว่าหลังปี 2558 อาเซียนจะทำอย่างไรต่อไปและจะมีอะไรเพิ่มเติมขึ้นมาอีกหรือไม่

 

ที่สำคัญเราไม่อยากให้มองว่าการรวมกันเป็นประชาคมอาเซียนเป็นการแข่งขันของประชาชนในประเทศนั้นประเทศนี้ แต่อยากให้มองว่าเป็นการร่วมมือและเสริมซึ่งกันและกันในสิ่งที่อีกฝ่ายขาดมากกว่า ความร่วมมือกันของอาเซียนเป็นอะไรที่มากกว่า 1+1 เป็น 2 แต่เป็นการดึงเอาศักยภาพร่วมกันของอาเซียนไปสู่การจัดการความสามารถที่สูงขึ้นและใช้การรวมตัวกันเป็นพลังที่มากขึ้นสำหรับอาเซียน ขณะเดียวกันยังเป็นโอกาสที่ทุกภาคส่วนจะสามารถมองไปข้างหน้าด้วยโลกทรรศน์ที่เปิดกว้างมากกว่าแค่ชายแดนประเทศไทยเท่านั้น

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 8 สิงหาคม 2556
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก