ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

แนวทาง... พัฒนาทักษะนักเรียน ก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

วันที่ลงข่าว: 21/08/13

เขียนได้อ่านข่าวกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำลังวางแผนปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งปัจจุบันนี้ประเทศไทยของเราใช้หลักสูตร พ.ศ.2551 ถ้าข่าวนี้เป็นจริง ก็ถือว่าหลักสูตรปี พ.ศ.2551 ใช้เพียงไม่กี่ปีก็กำลังถูกยกเลิกไป ผู้เขียนในฐานะเป็นครู และเป็นฝ่ายบริหารในโรงเรียนมัธยมศึกษามาเกือบ 40 ปี เห็นด้วยกับแนวคิดของ ศธ.

 

ซึ่งมีนักการศึกษาหลายคนมองว่าจากผลการจัดอันดับการศึกษาของไทยหลายๆ สถาบัน โดยเฉพาะสถาบันต่างประเทศ ประเมินว่าการศึกษาไทยมีแนวโน้มลดต่ำลงเรื่อยๆ ทั้งนี้ ไม่ต้องไปเทียบเคียงระดับโลก หรือระดับเอเชียเลย เอาในระดับอาเซียนด้วยกัน ก็ไม่แน่ใจว่าไทยสามารถไต่เพดานในระดับ 1 ถึง 5 ในอาเซียนได้หรือไม่

 

ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่งกับ ศธ.ในแนวคิดดังกล่าว เพราะสถานการณ์ของโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก และรวดเร็ว โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงใน 4 ด้าน คือ ด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษาและเทคโนโลยี และด้านสังคมวัฒนธรรม และจากการจัดอันดับการศึกษาของไทย สถาบัน IMD (International Lnstitute for management Development) พบว่า การศึกษาของไทยอยู่ลำดับ 47 จากทั้งหมด 58 ประเทศ ที่เข้ารับการประเมิน ซึ่งการประเมินมีหลายด้าน ผู้เขียนขอยกตัวอย่างพอสังเขป เช่น จำนวนคนไทยใช้อินเตอร์เน็ตเพียง 209 คน ใน 1,000 คน อยู่ลำดับที่ 53 ส่วนการจัดอันดับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยของเครือข่ายมหาวิทยาลัยโลก (Universitas 21) ด้านคุณภาพการศึกษา จาก 48 ประเทศ พบว่า ไทยอยู่ลำดับ 41 และลำดับที่ 8 ของอาเซียน ส่วนสิงคโปร์ได้อันดับ 1 ของเอเชีย และลำดับที่ 11 จาก 48 ประเทศ

 

ถ้าหากไปดูผลการประเมินนานาชาติของไทยแล้วน่าใจหาย เพราะไทยอยู่ลำดับที่ 50 ของการประเมิน PISA ซึ่งประเมินศักยภาพ และการใช้ความรู้ ทักษะที่เรียนมาใช้ในชีวิตจริงได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งใช้การประเมิน 3 ด้าน คือ การอ่าน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ซึ่งพบว่าไทยอยู่ลำดับ 50 จาก 65 ประเทศ

 

ทั้งหมดที่กล่าวข้างต้น พอจะมองเห็นได้ว่าการศึกษาไทยอยู่ในช่วงตกต่ำ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมองว่าการปฏิรูปหลักสูตรคงไม่ใช่โจทย์สุดท้ายของการศึกษาไทย ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก เช่น การปฏิรูปครู ปฏิรูปการบริหารจัดการ ปฏิรูปวิธีการสอน ปฏิรูปเทคโนโลยี เป็นต้น แต่ที่ขาดไม่ได้ของคนไทยทุกคน คือการเตรียมคนเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี 2558

 

ผู้เขียนมีโอกาสไปศึกษาดูงาน ณ ประเทศบรูไน ในปี 2555 และมีโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะท่านทูต อภิชาติ เพชรรัตนา ทูตประจำกรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน และที่โอกาสเยี่ยมเลขาธิการอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ท่านทั้ง 2 ได้ให้ข้อคิด และแนวทางในการพัฒนาคนของไทยไว้อย่างน่าสนใจมาก ซึ่งสอดคล้องกับหลักสากลที่ประเทศต่างๆ ในโลก ต้องเตรียมการพัฒนาคนโดยมุ่งเน้นพัฒนาทักษะ 5 ด้าน ดังนี้

 

 

 

1.การพัฒนาทักษะการสื่อสาร (Communication Skill) ในที่นี้หมายถึงการสื่อสารกับชาวต่างชาติ ซึ่งจะต้องใช้ในกรอบด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านวัฒนธรรม และด้านการศึกษา ก็คือภาษาอังกฤษ ผู้เขียนเป็นครู และผู้บริหารมานานร่วม 40 ปี มีข้อเสนอแนะว่า ควรเริ่มที่การบริหารจัดการด้านการเรียน การสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนเสียใหม่ เน้นไปที่การสอนของครู โดยให้เน้นการปฏิบัติการทางภาษาให้เข้มข้น คือ ฝึกพูด ฝึกปฏิบัติ และโต้ตอบทางภาษากับครูไทย กับครูต่างชาติ หรือกับนักเรียนด้วยกัน เมื่อนักเรียนกล้าที่จะพูดสื่อสารแล้ว ปัญหาการเรียนภาษาอังกฤษน่าจะลดลง 

 

ถ้าพูดภาษาเพื่อนบ้านอื่นๆ ยิ่งน่าห่วง อย่าลืมว่าประชากรของอาเซียนรวมแล้วประมาณ 600 ล้านคน พูดภาษามลายูราวๆ 300 ล้านคน ครึ่งหนึ่งของประชากร แต่น้อยนักในโรงเรียน และมหาวิทยาลัยต่างๆ เปิดสอนภาษามลายูอย่างจริงจัง สาเหตุหลักๆ น่าจะอยู่ที่คนไทยอคติกับภาษาประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ ภาษาลาว เขมร พม่า ที่อยู่ติดชายแดนไทย คนของประเทศเหล่านี้มาทำงานในไทยนับล้านคน เราก็สื่อสารไม่ได้ แต่เขากลับสื่อสารกันคนไทยได้ คิดแก้ไขปัญหาดังกล่าวน่าจะแก้ได้ คือ ลดอคติ หยุดหลงตนเอง ผู้ที่เกี่ยวต้องเปิดใจ เปิดตาและเปิดหู เปลี่ยนวิธีสอนในห้องเรียนของครู เน้นสอนนอกห้องเรียน ทำกิจกรรมกับนักเรียนประเทศเพื่อนบ้านให้มากขึ้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้มีโรงเรียนหลายโรงทำอยู่แล้ว และทำได้ดีทีเดียว ซึ่งสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานก็สนับสนุนเต็มที่ แต่ผู้เขียนคิดว่าอยู่ที่ผู้บริหารโรงเรียนบางโรงยังไม่เห็นความสำคัญของทักษะด้านนี้

 

 

 

2.การพัฒนาทักษะการคิด (Thinking Skill) การส่งเสริมทักษะการคิด ถ้าดูหลักสูตรปี 2551 เป็นหลักสูตรที่ส่งเสริมการคิด และวิเคราะห์ให้ผู้เรียนมากที่สุดหลักสูตรหนึ่ง แต่ปัญหาอยู่ว่าครูผู้สอนได้นำไปประยุกต์ใช้มากน้อยแค่ไหน มีผู้ใหญ่ทางการศึกษาหลายท่านให้ข้อคิดว่า ควรลดชั่วโมงเรียนลง ลดการเรียนในห้องเรียน และให้เวลาที่เหลือเด็กได้เรียนรู้นอกห้องเรียน ทำกิจกรรม ทำโครงงานต่างๆ กิจกรรมเหล่านี้สามารถส่งเสริมทักษะการคิดของผู้เรียนได้ดี (ศ.พิเศษ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ.) และทุกวันนี้เด็กไทยเรียนในชั้นเรียนมากเกินไป จึงไม่มีเวลาเรียนรู้ทักษะอื่นๆ ปัญหาซ้ำซ้อนผลสัมฤทธิ์ต่ำ เด็กไม่กล้าคิด กล้าแสดงออก กล้าแสดงความคิดเห็น มีมหาวิทยาลัย และโรงเรียนหลายแห่งเน้นการสอนในห้องเรียนเหมือนประถม มัธยม อาจารย์ยืนหน้าห้อง และบอกให้ผู้เขียนจดทีละวรรค ห้ามถาม ห้ามเถียง และห้ามคิดต่างจากครู-อาจารย์ (รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) 

 

ถ้าย้อนไปดูทักษะที่เกี่ยวข้องกับการคิดมากที่สุด คือ ทักษะการอ่าน ทักษะคณิตศาสตร์ และทักษะวิทยาศาสตร์ 3 ทักษะนี้ PISA นำมาประเมินนักเรียนระดับนานาชาติ พบว่า การอ่านของเด็กไทยคะแนนเฉลี่ย 421 อยู่ลำดับที่ 47-51 จาก 65 ประเทศ เด็กไทยนำทักษะการอ่านไปใช้ในชีวิตจริงร้อยละ 43 อยู่ลำดับ 59 ด้านคณิตศาสตร์คะแนนเฉลี่ยนานาชาติ 496 ของเด็กไทยอยู่ที่ร้อยละ 52.5 ต่ำกว่าระดับพื้นฐาน อยู่ลำดับที่ 50 และมีนักเรียนจากโรงเรียนสาธิตต่างๆ ที่มีคะแนนเทียบเคียงกับนานาชาติ ศธ.ลองให้ครูต่างๆ ไปดูงานสอนคณิตศาสตร์ในโรงเรียนสาธิตบ้างน่าจะดี เผื่อผลสัมฤทธิ์ด้านวิชาคณิตศาสตร์ได้ดีขึ้น สุดท้ายด้านวิทยาศาสตร์ พบว่า เด็กไทยต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยนานาชาติ อยู่ลำดับที่ 47-49 และการนำไปใช้ในชีวิตจริงอยู่ลำดับที่ 51 และยังพบว่านักเรียนจากโรงเรียนสาธิตมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับนานาชาติ

 

จะเห็นได้ว่าทักษะใน 3 วิชาที่มีส่วนในการส่งเสริมการคิดของนักเรียนในไทยต่ำกว่าสเกลทั้งสิ้น ผู้เขียนขอเสนอแนะว่าควรเอาจริงเอาจังกับ 3 วิชานี้ และควรมีโครงงานต่างๆ ให้เด็กได้คิด ได้ทำ เด็กก็จะมีประสบการณ์ในการคิดสร้างสรรค์งาน หลังจากนั้นแล้วนักเรียนก็จะคิดวิเคราะห์ผลที่เกิดขึ้นจากกระบวนการคิด

 

 

 

3.การพัฒนาทักษะการมีส่วนร่วม (Participation Skill) ทักษะการมีส่วนร่วม คือ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมภูมิใจ คนไทย สังคมไทยมักจะมีปัญหามาโดยตลอด ซึ่งตามโครงสร้างของหลักสูตรการศึกษาของไทยนอกจากในกลุ่มสาระทั้ง 8 สาระแล้ว แต่กลุ่มของกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เป็นกลุ่มหนึ่งที่เอื้อกับผู้เรียนเนื่องจากขาดกำลังครู หรือปัจจัยอื่นๆ ในการพัฒนาทักษะการมีส่วนร่วมของผู้เรียนนั้น ครูจะต้องเข้าใจก่อนว่า เป็นการเรียนรู้จากการกระทำ (learning by doing) ซึ่งเป็นพื้นฐานการพัฒนาผู้เรียน ด้านการเรียนรู้ที่ดึงความสามารถของผู้เรียนออกมา (active learning) ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการสอนมากขึ้น ครูจะต้องกระตุ้นให้ผู้เรียนแก้ปัญหามากขึ้น เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เรียกการเรียนรู้แบบนี้ว่าการเรียนรู้โดยการแก้ปัญหา (problemsolving) และเรียนรู้โดยการร่วมมือกัน (cooperative learning)

 

ผู้เขียนคิดว่าการพัฒนาทักษะการมีส่วนร่วม เป็นการเรียนรู้ที่ผู้เกี่ยวกับข้องควรขับเคลื่อนให้เป็นจริงเป็นจังมากกว่านี้ เพราะเป็นการพัฒนาคนด้านความรู้ ทัศนคติ และทักษะได้เป็นอย่างดี เพราะทักษะการมีส่วนร่วมเป็นการฝึกผู้เรียนได้ปฏิบัติจริง และทักษะนี้เป็นทักษะที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมากๆ

 

 

 

4.การพัฒนาทักษะในการแก้ปัญหา (Problem solving Skill) ด้านทักษะการแก้ปัญหา ผู้เขียนคิดว่าเป็นทักษะที่สำคัญมากทักษะหนึ่งของนักเรียนไทย เรามักจะได้ยินได้ทราบตามข่าวต่างๆ ว่าเด็กไทยประสบปัญหาทั้งในด้านครอบครัว ด้านส่วนตัว ด้านการเรียน แล้วนักเรียนเหล่านั้นตัดสินใจทำร้ายตนเองอยู่เสมอ ซึ่งที่จริงแล้วทุกคนมีปัญหาทั้งสิ้น แต่ขึ้นอยู่ว่าแต่ละคนจะนำปัญหาเหล่านั้นมาแก้ปมอย่างไร เด็กไทย หรือคนไทยพร้อมแล้วหรือยังที่เผชิญปัญหา และโดยเฉพาะพร้อมที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

 

ฉะนั้น ในโรงเรียนต่างๆ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกำหนดหลักสูตร หรือกิจกรรมที่ใช้กระบวนการการแก้ปัญหาสอดแทรก หรือบูรณาการใน 8 กลุ่มสาระ และเน้นย้ำครูผู้สอนให้เพิ่มทักษะการแก้ปัญหาให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ของนักเรียนด้วย ทักษะการแก้ปัญหา มี 2 แบบ ผู้เขียนขอเสนอแนะ ดังนี้

 

4.1 ปัญหาระยะสั้น คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ต้องอาศัยความสามารถ ไหวพริบ และการตัดสินใจที่แน่วแน่ ถูกต้อง แม่นยำ ซึ่งครูจะต้องกำหนดปัญหาแล้วให้นักเรียนคิดแก้ปัญหาดังกล่าวโดยใช้กระบวนการกลุ่ม หรือเดี่ยวก็ได้

 

4.2 ปัญหาระยะยาว คือ ปัญหาที่ต้องอาศัยหลักการ หรือรูปแบบแนวทางในการแก้ปัญหา ควรใช้กระบวนการกลุ่มในการจัดการเรียนรู้ใช้การมีส่วนร่วมในการแก้ไข และเวลาในการแก้ไขหรือตัดสินใจก็จะใช้เวลามากขึ้น 

 

นอกจากนั้นผู้เขียนใคร่ขอฝากให้ครู-อาจารย์ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องเน้นฝึกทักษะให้กับนักเรียน 3 ทักษะ คือ 1.ทักษะในการค้นหาข้อมูล ทักษะนี้นักเรียนจะต้องอ่านเป็นหลัก ซึ่งการอ่านของเด็กไทย คนไทยอยู่ในระดับต่ำมาก ครูจะต้องปลูกฝังให้นักเรียนมีพฤติกรรมอยากรู้ อยากเห็นปรารถนาจะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่หลากหลาย 2.ทักษะในการคิดเชิงวิเคราะห์ ผู้เรียนจะต้องเข้าใจสถานการณ์ด้วยการแยกส่วนประกอบออกมาเป็นส่วน มีการเรียบเรียงที่มาของปัญหา หรือสถานการณ์อย่างมีระบบ สามารถเปรียบเทียบคุณลักษณะ และองค์ประกอบที่แตกต่างได้ ลำดับความสำคัญก่อน และหลังได้อย่างมีเหตุมีผล 3.ทักษะการคิดเชิงหลักการ เป็นทักษะในการวิเคราะห์ปัญหา สามารถบอกถึงรูปแบบของการเกิดปัญหา หรือการเชื่อมโยงระหว่างสถานการณ์กับปัญหา ผู้เรียนจะต้องใช้เหตุและผลที่สร้างสรรค์มีหลักการ

 

 

 

5.การพัฒนาทักษะจิตสาธารณะ (Public mind Skill) ด้วยสภาพทางสังคมที่สับสนยุ่งเหยิงสลับซับซ้อน ผู้คนนิยมฟุ้งเฟ้อ เห็นแก่ตัว ยึดวัตถุนิยมเป็นปัจจัยในการดำรงชีวิต จนลืมสายใยของวัฒนธรรม และประเพณีดั้งเดิม ฉะนั้น การส่งเสริมและพัฒนาทักษะด้านจิตสาธารณะ ซึ่ง ศธ.ตระหนักด้านนี้มาโดยตลอด โดยบรรจุลงในหลักสูตรแกนกลางของการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 เรียกว่าคุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 ประการ คือ 1.รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ 2.ซื่อสัตย์สุจริต 3.มีวินัย 4.ใฝ่เรียนรู้ 5.อยู่อย่างพอเพียง 6.มุ่งมั่นในการทำงาน 7.รักความเป็นไทย 8.มีจิตสาธารณะ

 

ผู้เขียนมองว่าทักษะจิตสาธารณะเป็นอีกทักษะหนึ่งที่โรงเรียน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญ โดยเฉพาะ ศธ.ซึ่งโชคดีที่ ศธ.ได้ดำเนินการแล้ว โดยผ่านหลักสูตร 2551 แต่ปัญหามีอยู่ว่าขั้นตอนนำมาปฏิบัติให้คุณลักษณะ 8 ประการข้างต้น มีผลต่อนักเรียนมากน้อยเพียงใด เพราะอย่าลืมว่าโครงสร้าง ชั่วโมงเรียนของไทย มี 1,200 ชั่วโมง/ปี มัธยมต้น จะเน้นเนื้อหาทางวิชาการมากกว่าเนื้อหาจิตสาธารณะ เด็กไทยถูกวางโครงสร้างการเรียน ให้เรียนหนัก เรียนมาก เรียนในโรงเรียนวันละ 8-9 ชั่วโมงแล้วยังไม่พอ ยังต้องไปเรียนพิเศษเลิก 3 ทุ่ม 4 ทุ่ม จึงมีคนกล่าวเชิงตลกว่าเด็กไทยเข้าสู่ภาวะเรียนมาก ฉลาดน้อย แต่นักเรียนในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ฯลฯ ประเทศเหล่านี้จะเลิกเรียนประมาณ 14.00 น. ของทุกวัน แต่นักเรียนของเขาจึงมีคนกล่าวว่า เรียนน้อย แต่ฉลาดมาก

 

ผู้เขียนคิดว่าผู้บริหาร และครูยังเป็นบุคคลสำคัญในการส่งเสริมทักษะนี้ ครูต้องสอดแทรกทักษะนี้ในเนื้อหา และกิจกรรมทุกชั่วโมงเรียนของเด็กอย่างจริงจัง ถ้าทำได้ เพราะทักษะจิตสาธารณะเป็นพฤติกรรมของนักเรียนที่ทำให้มีคุณธรรม จริยธรรมที่ดีงาม มีน้ำใจ พร้อมที่จะแบ่งปันความสุขให้กับผู้อื่น โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน

 

การปลูกฝังทักษะจิตสาธารณะผู้เขียนขอเสนอแนวทางการประเมินผู้เรียนให้กับครู-อาจารย์นำไปใช้กับผู้เรียน ดังนี้

 

1.ต้องเป็นผู้ที่ปฏิบัติตนเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ไม่นิ่งดูดาย

 

2.เป็นผู้ไม่เห็นแก่ตัว ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ไม่เอาเปรียบผู้อื่น พร้อมเคารพสิทธิเสรีภาพผู้อื่น

 

3.เป็นผู้ที่เข้าใจผู้อื่น ไม่ดูถูกและทับถมผู้อื่น ไม่ซ้ำเติมผู้อื่น

 

4.เป็นผู้มีใจกว้าง ยอมรับผู้ฟังผู้อื่น และแสวงหาความรู้ใหม่ๆ อย่างเสมอ

 

5.เป็นผู้ที่คาดการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นและสามารถหาแนวทางการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ 

 

ท้ายสุดนี้ ผู้เขียนมั่นใจว่าการพัฒนาคนใน 5 ทักษะข้างต้น จะเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างคนรุ่นใหม่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 และเข้าสู่มาตรฐานสากล

 

 

คอลัมน์ มติชนมติครู โดย ณรงค์ ขุ้มทอง ประธานกรรมการสถานศึกษา ร.ร.นวมินทราชูทิศ ทักษิณ ร.ร.หาดใหญ่พิทยาคม

 

 

 

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 5 สิงหาคม 2556
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก