ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

เตรียมรับ AEC อาชีวะไทย-ลาว-เวียดนาม จัดหลักสูตร 1 วุฒิบัตร ทำงานได้ 3 ประเทศ

วันที่ลงข่าว: 02/08/13

        ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC เช่นเดียวกับประเทศสมาชิกอีก 10 ประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้แก่แรงงานในหมู่ประเทศสมาชิกหลังจากที่มีการเปิดตลาดเสรีแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานสายอาชีพซึ่งหลายประเทศกำลังมีปัญหาขาดแคลนอยู่ในขณะนี้ อย่างไรก็ตามปัญหาหนึ่งซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการสมัครเข้าทำงานในต่างประเทศก็คือวุฒิการศึกษาของแต่ละประเทศ ซึ่งมีการจัดหลักสูตรที่ลักลั่นกันจึงทำให้บริษัทที่อยู่ในอีกประเทศหนึ่งไม่สามารถรับเข้าทำงานได้ 

 ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) ของไทย จึงเร่งเตรียมความพร้อมด้วยการจัดหลักสูตรการศึกษาสายอาชีพร่วมกับระเทศพันธมิตรซึ่งเป็นสมาชิก AEC โดยเริ่มจากความร่วมมือแบบพหุภาคีระหว่างอาชีวะของไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเวียดนาม ซึ่งเมื่อนักศึกษาจบหลักสูตรแล้วจะสามารถนำประกาศนียบัตรและวุฒิการศึกษาดังกล่าวไปสมัครงานได้ทั้งในประเทศไทย ลาว และเวียดนาม

       

 

   ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการ กอศ.เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับ “นายหนูพัน อุตสา” อธิบดีกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาและกีฬา ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และ “ดร.กาว เวียด ยู๋ง” รองอธิการบดีฝ่ายต่างประเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีศึกษาแห่งเมืองวินห์ ประเทศสาธารณรัฐสังคมเวียดนาม ขณะเดินทางเยือนลาว และเวียดนามเมื่อเร็วๆ นี้ โดยได้มีข้อตกลงร่วมกันว่าทั้ง 3 ประเทศว่าจะประสานความร่วมมือในการจัดหลักสูตรการศึกษาเพื่อให้ผู้ที่จบหลักสูตรสายอาชีพในระดับ ปวส.จากทั้ง 3 ประเทศสามารถสมัครเข้าทำงานได้ทั้งในประเทศไทย ลาว และเวียดนาม 

        

           “ ทั้ง 3 ประเทศจะมีการสอนวิชาสายอาชีพร่วมกัน 1 สาขาอาชีพ ซึ่งจะเป็นอาชีพใดอาชีพหนึ่งที่กำลังขาดแคลนแรงงานในตอนนี้ ซึ่งก็คงหนีไม่พ้น สาขาไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ช่างยนต์ ช่างกลโรงงาน และสาขาไอที โดยในต้นเดือน ส.ค.ผู้แทนจากทั้ง 3ประเทศจะร่วมหารือกันอีกครั้งที่กรุงเทพฯ เพื่อตกลงกันว่าจะเลือกสาขาวิชาใด จากนั้นก็จะมีการกำหนดคุณสมบัติว่าการจะประกอบวิชาชีพนั้นๆ ได้ในทั้ง 3 ประเทศจะต้องมีทักษะอย่างไร และดำเนินการปรับหลักสูตรและวุฒิการศึกษาของแต่ละประเทศให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน พร้อมทั้งคัดเลือกและเตรียมความพร้อมให้เด็กที่จะเข้ารับการศึกษาในโครงการทั้งทักษะด้านวิชาชีพและทักษะทางภาษา ซึ่งตามแผนงานคาดว่าจะเริ่มเปิดการเรียนการสอนพร้อมกันทั้งในไทย ลาว และเวียดนามได้ในปี 2557 และเด็กรุ่นแรกจะสำเร็จการศึกษา พร้อมทั้งสามารถนำประกาศนียบัตรและวุฒิการศึกษาดังกล่าวไปสมัครงานในทั้ง 3 ประเทศ ได้ในปี 2559 นี้” ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าว

       

           อย่างไรก็ดี จากการหารือร่วมกันของผู้บริหารอาชีวศึกษาของไทย ลาว และเวียดนาม พบว่าปัญหาที่เหมือนกันของทั้ง 3 ประเทศในขณะนี้ก็คือขาดแคลนแรงงานในสาขาเดียวกัน อันได้แก่ สาขาไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ช่างยนต์ ช่างกลโรงงาน และสาขาไอที เนื่องจากมีเด็กมาเรียนในสาขาวิชาชีพดังกล่าวน้อย อีกทั้งค่านิยมในการศึกษา ซึ่งผู้ปกครองส่วนมากมองว่าการศึกษาในมหาวิทยาลัยจะทำให้บุตรหลานมีอนาคตที่ดีกว่าการศึกษาสายอาชีวะ จึงส่งผลให้เด็กเลือกเรียนในสายอาชีพน้อยกว่าที่ควรจะเป็น โดยประเทศลาว และเวียดนามนั้น มีเด็กเลือกเรียนสายอาชีพไม่ถึง 30% ส่วนไทยมีเด็กเรียนสายอาชีพ 36% ซึ่งก็ยังถือว่ายังน้อยอยู่ 

        

 

   ผู้บริหารอาชีวศึกษาทั้ง 3 ประเทศจึงพูดคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้เด็กมีคุณภาพและปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของตลาดแรงงาน และได้ข้อสรุปว่าวิธีที่ได้ผลก็คือการหาทุนให้เด็กได้เรียนฟรี และพยายามช่วยให้มีรายได้ระหว่างเรียน นอกจากนั้นอาชีวะทั้ง 3 ประเทศ ยังมีความร่วมมือกันในการแลกเปลี่ยนครูและนักเรียนเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการเรียนสายวิชาชีพให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้นอีกด้วย

 

  โดย..กฤตสอร  สิ่งคงสิน

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ASTV ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 1สิงหาคม 2556
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก