ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ชี้ภาษาแม่ต้องแข็งแรงก่อนเรียนภาษาที่สอง

วันที่ลงข่าว: 30/07/13

 ราชบัณฑิตยสถานจัดเสวนาแนะเรียนภาษาแม่ให้แข็งแรงก่อนเริ่มเรียนภาษาที่สอง ชี้ครอบครัวไทยยุคใหม่เข้าใจผิดที่เน้นพูดอังกฤษกับลูกตั้งแต่เล็กแต่กลับเป็นผลเสีย ทำให้อ่อนแอทั้งภาษาไทย และอังกฤษ "ทอดด์"เผยเรียนภาษาไทยจากคนไทยดีที่สุด พร้อมแนะรัฐบาลสนับสนุนเยาวชนและคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนเรียนรู้ภาษาถิ่นให้เข้มแข็ง และสามารถทำหน้าที่ทูตท้องถิ่นได้อย่างดี

          วานนี้ (29 ก.ค.)ที่ราชบัณฑิตยสถาน ได้มีการจัดงานวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี 2556 โดยมีการอภิปรายหัวข้อ “อนาคตภาษาไทยในประชาคมอาเซียน” ซึ่งดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจจัดทำเนื้อหาด้านภาษาและวัฒนธรรมอาเซียน กล่าวว่า ภาษาไทยในปัจจุบันจะไม่เหมือนกับภาษาไทยเมื่อ 20 ปีก่อนแล้วเพราะภาษาเป็นสิ่งมีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งการเรียนรู้ภาษาที่สำคัญที่สุด จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับภาษาแม่ ซึ่งหมายถึงภาษาที่เราได้รับรู้มาตั้งแต่เกิด หากภาษาแม่แข็งแรงจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ภาษาอื่นได้อย่างดี อย่างไรก็ตามสมัยนี้บางครอบครัวอยากให้ลูกได้ภาษาอังกฤษตั้งแต่เล็กๆ จึงนิยมพูดกับลูกด้วยภาษาอังกฤษโดยไม่พูดภาษาไทย ซึ่งในกรณีนี้หากพ่อแม่มีความรู้ภาษาอังกฤษไม่เพียงพอ จะทำให้เด็กอ่อนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

          ดร.นิตยา กล่าวต่อไปว่า สำหรับเหตุผลที่เด็กไทยไม่นิยมเรียนภาษาในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น ตนมองว่าเป็นเพราะภาษาอังกฤษจะมีผลกระทบต่อชีวิตและการทำงานในอนาคต ลักษณะเดียวกันกับที่ประเทศเพื่อนบ้านของเรานิยมเรียนภาษาไทยเพราะจะต้องใช้ในการทำงาน อย่างไรก็ตามปัจจุบันจำนวนอาจารย์ผู้สอนภาษาอาเซียนมีครบทั้ง 10 ภาษา โดยกระจายอยู่ในสถาบันการศึกษาทุกระดับทั้งในระบบและนอกระบบทั่วประเทศแล้ว และในส่วนของราชบัณฑิตยสถานก็ส่งเสริมการเรียนทุกภาษาอย่างถูกต้องไม่ได้เจาะจงเฉพาะภาษาไทย โดยขณะนี้ได้มีการจัดทำหลักเกณฑ์การทับศัพท์คำในภาษาอาเซียนเป็นภาษาไทยแล้ว อาทิ ภาษาเวียดนาม มลายู และขณะนี้กำลังจัดทำภาษาพม่า

          “ส่วนเรื่องการใช้ภาษาของเด็กวัยรุ่นปัจจุบันที่มักประดิษฐ์คำใหม่ๆ ในการสื่อสารสังคมออนไลน์ เหล่านี้ถือเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่อยากขอให้ใช้ให้ถูกกาลเทศะ เช่น ถ้าเป็นเรื่องทางการก็ควรใช้ภาษาทางการ แต่หากเป็นการแชทในสื่อออนไลน์ก็สามารถใช้คำที่พิมพ์สะดวกและเป็นที่เข้าใจกันในกลุ่มได้” ดร.นิตยา กล่าว

          นายจักรกฤษณ์ ศรีวลี รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ในการฝึกภาษาต่างประเทศนั้น ตนเห็นด้วยที่จะต้องมีภาษาแม่ที่แข็งแรงก่อน เพื่อจะสามารถเชื่อมโยงการออกเสียงในภาษาต่างๆ ว่ามีความคล้ายหรือแตกต่างกันกับภาษาไทย อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้วคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่คนไทยจะต้องใช้อย่างน้อย 2 ภาษา คือ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาราชการในกลุ่มอาเซียน แต่หากต้องการให้ภาษาไทยเป็นที่รู้จักในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยนั้น คงต้องขึ้นอยู่กับขนาดเศรษฐกิจของประเทศว่ามีความสำคัญต่อภูมิภาคเพียงใด อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาไม่เคยพูดถึงประเด็นการให้ภาษาไทยเป็นภาษากลางในอาเซียน เพราะภาษาของทุกประเทศต่างก็มีความสำคัญเท่าเทียมกัน

          นายทอดด์ ทองดี พิธีกรรายการทีวี กล่าวว่า ตนเห็นด้วยว่าภาษาแม่จะต้องเป็นเสาหลักในการเรียนรู้ภาษาต่างๆ และในฐานะที่เป็นชาวต่างชาติที่เรียนรู้ภาษาไทย ตนอยากเห็นการสนับสนุนภาษาท้องถิ่นให้เข้มแข็ง เพราะถือเป็นภาษาแม่ของคนในแต่ละพื้นที่ซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะในจังหวัดที่ติดชายแดนเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน จะมีภาษาที่ใช้สื่อสารกันระหว่างพรมแดนได้ นับเป็นประโยชน์ในทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ นอกจากนี้การเรียนภาษาไทยที่ดีที่สุด คือการเรียนจากคนไทย ดังนั้นคนไทยในเขตพื้นที่ชายแดนจึงถือเป็นทูตวัฒนธรรมที่ดีที่สุด ตนอยากเห็นการพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ต่างๆ ให้รู้รักภาษาแม่ของท้องถิ่นตนเอง และขยายผลด้วยการส่งเยาวชนไปซึมซับวัฒนธรรมของชาติอาเซียนเพื่อให้กลายเป็นผู้นำของคนในรุ่นต่อไป.

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ออนไลน์ วันที่ 30 กรกฎาคม 2556
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก