ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สังคมออนไลน์ และการสร้างประชาธิปไตยในอาเซียน

วันที่ลงข่าว: 21/06/13

 

ปัจจุบันสังคมออนไลน์ และการใช้อินเตอร์เน็ตเป็นสื่อที่แพร่หลายในทุกประเทศทั่วโลก ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียนเองนั้น หลายกลุ่มก็ได้มีการใช้สังคมออนไลน์ หรือ อินเตอร์เน็ตในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน ตั่งแต่นักการเมืองก็ใช้เพื่อสื่อสารกับประชาชนที่สนับสนุนตนเอง ดารานักร้องก็ใช้ในการสื่อสารกับแฟนคลับ ผู้มีหัวการค้าหน่อยก็ใช้สังคมออนไลน์ในการค้าขาย นอกจากนี้ในประเทศอาเซียนเรายังพบได้บ่อยด้วยว่ามีการใช้สังคมออนไลน์ในการติดต่อสื่อสารเพื่อสร้างเครือข่ายทางการเมืองหรือเป็นพื้นฐานในการสร้างประชาสังคม (civil society) ที่สำคัญ เพื่อต่อต้าน หรือเรียกร้องความเป็นธรรม และสิทธิในด้านต่างๆจากรัฐบาลของประเทศตน

 

เป็นที่ทราบกันดีว่าความแตกต่างในทางการเมืองการปกครองของประเทศสมาชิกอาเซียนนั้นถือเป็นจุดอ่อนที่สำคัญขององค์กรระดับภูมิภาคนี้ บางประเทศก็มีการปกครองแบบประชาธิปไตย ในขณะเดียวกันก็ยังมีอีกหลายประเทศ ที่ปกครองโดยรัฐบาลเพียงพรรคเดียว เช่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา และสิงคโปร์ เป็นต้น ความแตกต่างทางระบบการเมืองการปกครองดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และแสดงออกทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการรับข้อมูลหรือเข้าไปแสดงความเห็นทางการเมืองในระบบอินเตอร์เน็ต และสังคมออนไลน์

 

 

ในบางประเทศสมาชิกอาเซียน ภาครัฐมีนโยบายชัดเจนเพื่อควบคุมการแสดงความเห็นทางการเมืองผ่านอินเตอร์เน็ตและสังคมออนไลน์อย่างเข้มขัน แต่ในขณะเดียวกันในบางประเทศ เช่นอินโดนีเซีย ก็ไม่ได้ปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและการแสดงออกทางการเมืองโดยผ่านสื่ออินเตอร์เน็ตของประชาชนในประเทศมากนัก

 

ถึงแม้ว่าประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศจะมีการควบคุมการใช้อินเตอร์เน็ต และสังคมออนไลน์ของประชาชนอย่างมาก หากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในสังคมประชาธิปไตยของภูมิภาคอื่น แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่า อัตราการใช้อินเตอร์เน็ตตามรายงานของ Internet World Stats พบว่าในปี ค.ศ. 2012 เอเชียมีอัตราการใช้อินเตอร์เน็ตสูงที่สุดในโลก ถึงร้อยละ 44.8 และ 10 ประเทศแรกในเอเชียที่ใช้อินเตอร์เน็ตสูงสุดรองจากจีนนั้น 5 ประเทศเป็นสมาชิกอาเซียน เรียงตามลำดับ คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไทย และมาเลเซีย  นอกจากนี้ถ้าดูอัตราการใช้ Facebook ทั่วโลกแล้ว อินโดนีเซียมีผู้ใช้ Faceboook เป็นจำนวนมากรองจาก สหรัฐอเมริกา บราซิล และอินเดีย ปรากฏการณ์การใช้อินเตอร์เน็ตดังกล่าวดูค่อนข้างไปในทิศทางตรงกันข้ามกับสถานการณ์การควบคุมการใช้อินเตอร์เน็ตของรัฐบาลอาเซียนบางประเทศ!!!

 

นอกจากนี้สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนที่การใช้โทรศัพท์มือถือเมื่อซัก 5-6 ปีที่แล้วยังอยู่ในวงจำกัดและเครือข่ายในการติดต่อสื่อสารยังไม่มีประสิทธิภาพดีเท่าที่ควร แต่ปัจจุบันกลับมี 3G หรือ 4G ใช่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการขยายตัวของอินเตอร์เน็ตและสังคมออนไลน์ในภูมิภาคที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว

 

การขยายตัวดังกล่าวเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนในภูมิภาคได้ติดต่อสื่อสารกันสะดวกและรวดเร็วขึ้น ในประเทศสมาชิกอาเซียนโดยเฉพาะประเทศที่ระบบการปกครองยังไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มที่ และการรวมตัวกันในที่สาธารณะเกิน 5 คน หรือการประท้วงเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายนั้น อินเตอร์เน็ตหรือสังคมออนไลน์ถูกใช้เพื่อเป็นช่องทางในการสร้างเครือข่ายประชาสังคม หรือ civil societyเพื่อปลุกระดมมวลชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้กับกลุ่มตนเองและประชาชนในประเทศ 

 

เมื่อประมาณต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กลุ่มที่ต้องการสนับสนุนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของผู้ที่รักเพศเดียวกันกว่า 1,000 คน ได้สื่อสารกันผ่านสังคมออนไลน์ภายใต้ชื่อกลุ่ม Flash Mob และออกมาขี่จักรยานพร้อมทั้งสวมใส่เสื้อผ้า หรือ ถือธงที่มีสัญลักษณ์สายรุ้งไปรอบๆ สวนสาธารณะลีไทโทะ เมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม เพื่อเป็นการแสดงออกถึงการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของเพศที่สามต่อรัฐบาลทหารของเวียดนาม 

 

ในประเทศเวียดนามนั้นยังคงมีการปกครองแบบรัฐบาลเผด็จการโดยพรรคคอมมิวนิสต์ การรวมตัวกันของประชาชนเกิน 5 คนในที่สาธารณะถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ดังนั้นการแสดงออกเช่นนี้จึงเป็นการท้าทายรัฐบาลทหารเลยทีเดียว บทให้สัมภาษณ์ของ นายลี กวัค บิน หัวหน้ากลุ่ม Flash Mob ต่อนิตยสาร Financial Times ได้กล่าวว่า การออกมาแสดงออกดังกล่าวไม่ได้ต้องการท้าทายรัฐบาลแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการสะท้อนความต้องการของกลุ่มต้นไปยังรัฐบาลให้เห็นความสำคัญและเปิดโอกาสให้เพศที่สามสามารถแสดงออกในสังคมได้อย่างอย่างเสรีบ้างเท่านั้น

 

นอกจากการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพโดยผ่านเครือข่ายออนไลน์แล้ว อินเตอร์เน็ตในประเทศเวียดนามยังถูกใช้เพื่อตรวจสอบการทำงานและความโปร่งใสของรัฐบาลอีกด้วย ดังเห็นได้จาก เมื่อเดือน ตุลาคมปีที่แล้วซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่มีให้เห็นไม่บ่อยนักในประเทศที่ยังปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ที่นายกรัฐมนตรีของเวียดนาม นายเหวียน เติ้น สุง ออกมาขอโทษต่อความผิดพลาดในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่โปรงใส ปัญหาเงินเฟ้อที่ทวีความรุนแรง รวมทั้งปัญหาการคอรัปชั่นอันเกิดจากผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้บริหารประเทศ ซึ่งนำมาสู่การเขียนข้อความประท้วงในอินเตอร์เน็ตของประชาชนหลายกลุ่ม และการออกมาประท้วงเพื่อให้รัฐบาลของนายเหวียน เติ้น สุง ออกมาแสดงความรับผิดชอบ 

 

นอกจากเวียดนามแล้ว ในประเทศมาเลเซีย สังคมออนไลน์ก็ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการจัดตั้งกลุ่มประชาสังคมเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลด้วยเช่นกัน กลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจคือ กลุ่ม Bersih เริ่มจัดตั้งขึ้นโดยผ่านการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตระหว่างประชาชนหลายกลุ่มหลายเชื้อชาติ เพื่อตรวจสอบการเลือกตั้ง 

 

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ผ่านมา กลุ่ม Bersih ก็ช่วยกันออกมาตรวจสอบการเลือกตั้งอย่างเต็มที่ แม้จะไม่สามารถหยุดยั้งการโกงการเลือกตั้งได้อย่างสำเร็จมากนัก แต่อย่างน้อยก็เป็นการรวมตัวกันระหว่างประชาชนหลายเชื้อชาติ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นโดยเฉพาะในประเทศที่ความแตกแยกทางเชื้อชาติส่งผลต่อระบบการเมืองการปกครองของประเทศ 

 

ในบ้านเราเองการใช้สังคมออนไลน์เพื่อจัดตั้งกลุ่มประชาสังคมก็มีอยู่ให้เห็นบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทางการเมืองเพื่อสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง กลุ่มต่อต้านการคอรัปชั่น หรือกลุ่มที่ต่อต้านหรือสนับสนุนนโยบายต่างๆของภาครัฐ ดิฉันมองว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนบางประเทศแล้วนั้น บ้านเรายังมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยเฉพาะผ่านสื่อออนไลน์มากกว่าหลายประเทศในภูมิภาคเดียวกัน 

 

แม้การใช้สื่ออินเตอร์เน็ตและสังคมออนไลน์ในสมาชิกอาเซียน จะเป็นแนวทางหนึ่งในการกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน และเป็นช่องทางให้ประชาชนเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของตนเอง อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่าการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวอาเซียนโดยผ่านสื่อออนไลน์โดยเฉพาะในประเทศที่ยังไม่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ ยังจำกัดอยู่เพียงประเด็นที่ไม่เป็นภัยคุกคามอำนาจรัฐ และไม่เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศมากนัก เช่นในประเทศเวียดนามเป็นการเรียกร้องในเรื่องของสิทธิเพศที่สาม  มาเลเซียเรียกร้องให้เกิดการตรวจสอบการเลือกตั้ง ในเมียงม่าเรียกร้องให้ออกกฎหมายปกป้องสิทธิผู้พิการ หรือในอินโดนีเซียเรียกร้องในให้ภาครัฐคุ้มครองผู้มีรายได้น้อยในด้านสุขภาพ และการศึกษา เป็นต้น

 

Activists ที่ทำงานในประเทศที่มีการปกครองแบบอำนาจนิยมในเอเชียส่วนใหญ่ ตระหนักถึงข้อจำกัดของตนเองในการปลุกระดมประชาชน นายลี กวัค บิน หัวหน้ากลุ่ม Flash Mob ในเวียดนามเองได้กล่าวไว้ว่า กลุ่มของเขาพยามกระตุ้นให้เกิดสิทธิเสรีภาพของเพศที่สามในสังคมเวียดนาม และสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชนกลุ่มน้อยของประเทศ แต่ก็ยังไม่เคยเข้าไปปลุกระดมให้ประชาชนต่อต้านรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์แต่อย่างใด 

 

แม้ข้อเรียกร้องของประชาชนส่วนใหญ่นั้นอาจเป็นเพียงแค่การส่งสารถึงรัฐบาลเท่านั้น และอาจยังไม่มีอิทธิพลเพียงพอที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายของประเทศ แต่อย่างน้อยสังคมออนไลน์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่อาจนำมาซึ่งการพัฒนาสู่ระบอบประชาธิปไตยของประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน เพราะสังคมออนไลน์นั้นไม่ใช่เป็นเพียงแค่ช่องทางที่ประชาชนจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้ ประชาชนเองได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารของประเทศเพื่อนบ้านด้วยเช่นกัน 

 

การแลกเปลี่ยนข้อมูลและข่าวสารซึ่งกันและกันไม่เพียงแค่ส่งผลให้ประชาชนชาวอาเซียนรู้จักกันมากขึ้น แต่ยังอาจช่วยให้ประเทศที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ทั้งทางการเมืองและสังคมนำสิ่งที่ได้รู้ได้เห็นจากประเทศเพื่อนบ้านไปปรับใช้ในการพัฒนาประเทศตนเอง ต่อไป

 

 

ดร. พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์ (punchada.sir@mahidol.ac.th)

มหาวิทยาลัยมหิดล

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์ วันที่ 17 มิถุนายน 2556
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก