ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

กศน.เพื่อนเรียนรู้: ของฟรีมีในโลก'กศน.อินเตอร์'ภาษาอังกฤษเพื่อคนไทย ก้าวสู่อาเซียน

วันที่ลงข่าว: 12/06/13

          "ที่จริงแล้วผมไม่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษเลย แต่ด้วยอาชีพขายของที่ระลึกหน้าพิพิธภัณฑ์บ้านเชียง ทำให้พบปะกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทุกวัน ก็พอจะพูดคุยได้บ้าง ที่มาลงเรียนกับ กศน.นี้ก็เพื่อให้ความรู้แน่นขึ้นตอนนี้สามารถสื่อสารและแนะนำเส้นทางให้นักท่องเที่ยวได้แล้ว"

          นายชาตรี ตะโจปะรัด นักศึกษา กศน.ภาคอินเตอร์ (English Program) อำเภอหนองหาน จ.อุดรธานี เล่าถึงประสบการณ์ดีๆ ซึ่งเป็นผลจากการเรียนภาษาอังกฤษกับ กศน.

          ถือว่าประสบความสำเร็จเห็นภาพชัดเจน กับการดำเนินนโยบายเตรียมพร้อมพลเมืองสู่ประชาคมอาเซียน ปี 2558 ที่นายประเสริฐ บุญเรือง เลขาธิการ กศน. ได้มอบหมายให้สำนักงาน กศน. จังหวัดทั่วประเทศ เปิดสอนหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ภาคภาษาอังกฤษ (English Program) อย่างน้อยจังหวัดละ 1 ห้องเรียน ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษ ที่เป็นภาษากลางในการสื่อสารกับเพื่อนบ้านอาเซียน

          แต่ทว่าที่สำนักงานกศน.จังหวัดอุดรธานี ที่นี่อาจมีความพร้อมกว่าจึงขอทำงานแบบดับเบิลขันอาสาเปิดห้องเรียนภาคภาษาอังกฤษ ใน2 อำเภอ คือ กศน.อำเภอ เพ็ญ และกศน.อำเภอหนองหาน

          ว่าที่ร้อยตรีสมปอง วิมาโร ผอ.สำนักงาน กศน. จังหวัดอุดรธานี กล่าวว่าหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษจะเรียน 2 ปี 4 เทอม แล้วก็จบ ม.ปลาย หรือ ม.6 และจะรับเพียง 30 คน ตามงบประมาณที่มีอยู่ เพราะเราจัดให้เรียนฟรีโดยนักศึกษาไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม สโลแกนของจังหวัดอุดรธานี คือ เมืองน่าอยู่ ศูนย์กลางลุ่มน้ำโขงจึงชัดเจนว่าในลุ่มแม่น้ำโขงก็จะมีประเทศจีนพม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งถือว่าจังหวัดอุดรธานีเป็นตัวกลางเชื่อมโยงได้ทุกประเทศ และเมื่อครั้งในอดีตก็มีฐานทัพอเมริกัน มาอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนหนึ่งผู้หญิงไทยก็เป็นภรรยาของทหารอเมริกัน ทำให้ที่อุดรธานีใช้ภาษาอังกฤษได้ดีระดับหนึ่ง ดังนั้น การเตรียมที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ของจังหวัดอุดรธานีในเรื่องของภาษาจึงค่อนข้างง่าย

          "อำเภอหนองหาน ได้จัดการเรียนการสอนภาคภาษาอังกฤษที่ตำบลบ้านเชียง เพราะบ้านเชียงเป็นแหล่งมรดกโลกที่มีนักท่องเที่ยวและนักศึกษาที่ต้องการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับอารยธรรมซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาศึกษามรดกโลก ดังนั้นหากคนในพื้นที่ไม่สามารถ ใช้ภาษาสื่อสารดีในระดับหนึ่งก็จะทำให้เข้าใจยากและขาดโอกาสที่สำคัญที่เราจะเผยแพร่มรดกโลกของเราให้เขาเข้าใจได้" ว่าที่ร้อยตรีสมปอง กล่าว

          ด้านผู้ปฏิบัติจนเกิดผลผอ.กศน.อำเภอหนองหาน "นางนวลฉวี ภูดิน" สะท้อนว่า การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอันดับแรกที่มีความจำเป็นคือการจัดการศึกษาที่นอกเหนือจากตำราเรียนแล้ว เรื่องเทคโนโลยี ก็เป็นเรื่องที่สำคัญตนจึงจัดให้กศน.ตำบลทุกแห่งเป็นศูนย์ไอซีทีทั้งหมด โดยได้รับความร่วมมือจาก อบต.ทุกตำบล ซึ่งในส่วนของการจัดการเรียนการสอนภาคภาษาอังกฤษ ก็เป็นความโชคดีของจังหวัด

          อุดรธานี เพราะที่อุดรมีเขยฝรั่งเยอะ มองไปทางไหนก็มีแต่ฝรั่ง ซึ่งที่ผ่านมา กศน.หนองหานก็จัดหลักสูตรสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารระยะสั้นแล้ว 2-3 คอร์ส แต่เราต้องการความยั่งยืนจึงได้จัดหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน

          ภาคภาษาอังกฤษ โดยนักศึกษาจะมีอยู่ 3 กลุ่มคือ พ่อค้า แม่ค้า ภรรยาชาวต่างชาติ และยังมีอาสาสมัครที่เป็นชาวต่างชาติ ที่มีภรรยาคนไทยมาช่วยสอนด้วย

          อย่างนางรุ้งนภา พลเชียงดี เจ้าของร้านค้าหน้าพิพิธภัณฑ์บ้านเชียง สาวอุดรฯ วาสนาดีมีสามีเป็นชาวออสเตรเลีย บอกว่า มาเรียนภาษาอังกฤษเพื่ออนาคตข้างหน้า ปกติอยู่ที่บ้านก็จะคุยกับแฟนไม่ค่อยรู้เรื่องได้พื้นๆ ศัพท์ลึกๆ พูดไม่ได้ แต่พอมาเรียนแล้วคุยกันรู้เรื่องขึ้นมากกว่าเดิม

          ส่วนห้องเรียนอินเตอร์ที่ กศน.อำเภอเพ็ญก็ได้รับเสียงตอบรับดีไม่แพ้กัน มีนักศึกษาเข้าเรียน กว่า 32 คน โดยนายสมัย แสงใส ผอ.กศน.อำเภอเพ็ญ บอกว่า นักศึกษาที่มาเรียนภาคภาษาอังกฤษ มีหลายระดับที่จบปริญญาตรีแล้วก็มี มาเรียนเพราะอยากได้วุฒิภาคภาษาอังกฤษ นอกนั้นส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษาที่จบม.3 ของ กศน. ซึ่งการจัดการเรียนการสอนของ กศน.อำเภอเพ็ญ จะสอนแบบคู่บัดดี้ คือเพื่อนช่วยเพื่อน การทำโครงการก็ต้องช่วยกันทำ ถ้าคนหนึ่งไม่มาเรียนอีกคนหนึ่งต้องมาเพื่อจะได้ไปสอนกันได้

          ขณะเดียวกันครูก็ต้องเป็นคู่บัดดี้ด้วยเพราะครูก็ต้องลงไปเป็นพี่เลี้ยงให้ทุกกลุ่มทั้งนี้ในพื้นที่อำเภอเพ็ญ มีประชาชนสนใจต้องการมาเรียนหลักสูตรนี้มาก จึงขออาสาจัดและจะสอนให้จบหลักสูตร ก่อนถึงจะรับรุ่นต่อไป ซึ่งเทอมนี้ได้มอบนโยบายให้ครูกศน.ทุกตำบล ทุกคนไปจัดสอนแทรกภาษาอังกฤษ เพราะเห็นว่าผลสัมฤทธิ์เพิ่มขึ้นมาก

          หลักสูตรดีแถมเรียนฟรี ใครๆ ก็อยากเรียนขนาดน้องนางบ้านนาอย่าง "สุปราณีธาตุมี" แม้จะมีอาชีพทำนาเป็นหลัก แต่เธอมองไปไกลถึงอนาคตวันหน้า "มาเรียนเพราะอยากได้ความรู้เพิ่ม อย่างน้อยก็จะได้พูดกับชาวต่างชาติได้ เพราะพี่เขยเป็นชาวต่างชาติ พี่สาวก็บอกให้มาเรียน จะได้คุยกันรู้เรื่องซึ่งก็เป็นโอกาสดีด้วย เรียนโดยไม่ต้องเสียเงิน และก็เป็นคนชอบเรียนรู้อยู่แล้ว แถมยังได้เคล็ดลับกลับไปสอนลูกได้ผลดีจริงๆ"

          ...รู้แล้วบอกต่อ ประชาชนที่สนใจอยากเรียนภาษาอังกฤษ กับ กศน.อินเตอร์ สามารถสอบถามได้ที่ สำนักงาน กศน.ทั่วประเทศ

 

 

โดย : วารินทร์ พรหมคุณ

       

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 12 มิถนายน 2556
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก