ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ศธ.ตั้งศูนย์อาเซียนศึกษาชวนพูดอังกฤษ โวเป็นแหล่งเรียนรู้ทันสมัยบริการสืบค้นข้อมูล

วันที่ลงข่าว: 15/05/13

 

นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนของกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงผลการประชุมเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ได้รับทราบรายงานจาก 5 องค์กรหลักและหน่วยงานในกำกับของ ศธ. ถึงแนวทางการดำเนินที่แต่ละองค์กรหลักจะเร่งเดินหน้าเพื่อขับเคลื่อนการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน มีรายละเอียดดังนี้

 

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้กำหนดว่าจะเน้นการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ ภาษาประเทศเพื่อนบ้าน และการสร้างความรู้พื้นฐานอาเซียน ความรู้เกี่ยวกับประเทศสมาชิกอาเซียน และความหลากหลายทางวัฒนธรรมของอาเซียน ขณะที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จะเร่งจัดทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติและการเชื่อมโยงกรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติ กับกรอบมาตรฐานคุณวุฒิของอาเซียน ซึ่งล่าสุด จัดทำแผนการดำเนินงานในการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ ตามมติ ครม. 8 มกราคม 2556 เรียบร้อยแล้ว และเร็วๆ นี้ มีแผนจะจัดประชุมนานาชาติเพื่อหาแนวทางการพัฒนากรอบคุณวุฒิอาเซียนร่วมกับ 10 ประเทศในอาเซียน จากนั้นจะประชุมเชิงปฏิบัติการกำหนดแนวทางการนำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ เพื่อเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์จังหวัดใน 4 ภูมิภาค พร้อมทั้งจัดทำโครงการนำร่องเพื่อเป็นต้นแบบดำเนินการ ในส่วนสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) จะรับผิดชอบอำนวยความสะดวกด้านกฎระเบียบต่างๆ การจัดกิจกรรมระหว่างประเทศ รวมทั้งโครงการแลกเปลี่ยนครูและเยาวชนอาเซียน โดยในช่วงเดือนธันวาคม 2556 จะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practices) ของประเทศต่างๆ ในอาเซียนร่วมกัน ส่วนสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะมุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมด้านแรงงานรองรับการเคลื่อนย้ายของ 7 วิชาชีพ และ 32 ตำแหน่งงาน รวมทั้งการผลิตพัฒนาบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน

 

ผู้ช่วย รมต.ศธ. กล่าวต่อว่า ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ดูแลเรื่องการผลิตและพัฒนาครู กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา (TQF:HEd) และการเตรียมความพร้อมของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการเป็น “เมืองการศึกษานานาชาติ” ซึ่งปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยของไทยที่เปิดสอนหลักสูตรนานาชาติแล้ว 1,017 หลักสูตร แยกเป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี 344 หลักสูตร ปริญญาโท 394 หลักสูตร ปริญญาเอก 249 หลักสูตร และหลักสูตรฝึกอบรม 30 หลักสูตร พร้อมทั้งจะเสนอของบประมาณปี 2557 ให้มหาวิทยาลัย 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นมหาวิทยาลัยนำร่องภายใต้โครงการเมืองการศึกษานานาชาติ

 

ส่วนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จะไปดูแลแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสม เช่น แก้ไขกฎระเบียบกับชาวต่างชาติที่เป็นครูผู้สอนในไทย การต่ออายุวีซ่าซึ่งจากเดิมให้เพียง 1 ปี เป็น 2 ปี เช่นเดียวกับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชาวต่างชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกฎหมายอื่นๆ ด้วย เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการพิจารณาสัญชาติของผู้ถือครองที่ดิน สัดส่วนผู้ถือหุ้นสถานศึกษาเอกชนให้เพิ่มสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติจาก 49% เป็น 51%, พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542, พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 และระเบียบกระทรวงฯ ว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานของโรงเรียนเอกชนนานาชาติฯ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการเปิดเสรีทางการศึกษาทั้งในกลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศอื่นๆ

 

“เร็วๆ นี้ จะมีการตั้งศูนย์อาเซียนศึกษา (ASEAN Study Center) ที่ส่วนกลางบริเวณอาคารของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัย มีแท็บเล็ตให้บริการค้นคว้าข้อมูลฟรี พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก อาหาร เครื่องดื่มให้บริการแบบครบวงจร ขณะเดียวกันจะมีการขยายไปยังภูมิภาคด้วย โดย กศน.จะเป็นผู้ดำเนินการภารกิจหลักดังกล่าวนี้ร่วมกับ สพฐ. ทั้งนี้ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ ศธ.จะจัดงาน Go to ASEAN ที่เมืองทองธานี เพื่อแสดงผลงานและกิจกรรมในการขับเคลื่อนเตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน พร้อมกันนี้จะเปิดตัวแคมเปญ Speak English Now! และรถยนต์อาเซียน (ASEAN Bus) โดยจะเชิญตัวแทนจาก 10 ประเทศอาเซียนเข้าร่วมงานด้วย” นางพวงเพ็ชร กล่าว

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์บ้านเมืองออนไลน์ วันที่ 15 พฤษภาคม 2556
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก