ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

บันทึกอาเซียน | ASEAN Diary : รางวัลสื่อป่าพรุอาเซียน 2013 “ป่าพรุเพื่อชีวิต”

วันที่ลงข่าว: 17/04/13

 

บันทึกอาเซียน กับ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล  

 

 

 

 

วันที่ 21 มีนาคม 2013 เป็น “วันป่าโลก” (World Forestry Day) ศูนย์สิ่งแวดล้อมโลก (The Global Environment Centre - GEC) ร่วมกับสำนักเลขาธิการอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา และคณะวนศาสตร์คาบสมุทรมาเลเซีย, มหาวิทยาลัยมาเลเซีย วิทยาเขตปาหัง (Forestry Department of Peninsula Malaysia in Universiti Malaysia Pahang (UMP), Pekan campus) โดยการสนับสนุนจากโครงการป่าพรุอาเซียน และ โครงการของสหภาพยุโรปว่าด้วยเรื่องป่าพรุเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (International Fund for Agricultural Development - IFAD / Global Environmental Facility -GEF / ASEAN Peatland Forests Project - APFP, and EU-SEApeat Project) ร่วมกันประกาศโครงการประกวดข่าวสารชิงรางวัลสื่อป่าพรุอาเซียน เรียกชื่อรางวัลนี้ว่า “ป่าพรุเพื่อชีวิต” (ASEAN Peatland Media Award “Peat for Life”)

 

การประกวดผลงานข่าวอาเซียน “ป่าพรุเพื่อชีวิต” นี้แยกรางวัลเป็นสองประเภท คือ : สื่อสิ่งพิมพ์ ได้แก่หนังสือพิมพ์และนิตยสาร

 

(2) สื่อใหม่ หรือ New Media หมายถึงสื่อประสมในรูปแบบ internet website/weblog ซึ่งจะมีสื่อผสมผสานทั้งข่าวสาร ภาพนิ่งและภาพวิดีโอ

 

แม้จะไม่มีรางวัลสำหรับสื่อโทรทัศน์ แต่การผลิตสื่อภาพยนตร์หรือวิดีโอลงใน website/weblog ก็ย่อมทำได้อยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ถึงกับจะต้องผลิตรายการโทรทัศน์โดยตรง ส่วนสื่อประเภทวิทยุกระจายเสียงนั้นไม่มีในโครงการประกวดข่าวป่าพรุครั้งนี้

 

เนื้อหาสาระในรายงานข่าวต่างๆครอบคลุมหลากหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับป่าพรุในอาเซียน ตั้งแต่เรื่องสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ เรื่องเศรษฐกิจ สังคม วิถีชุมชน  การพัฒนาอย่างยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ การอนุรักษ์ป่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การศึกษาวิจัย ฯลฯ

 

บุคคล หรือ องค์กร ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ จะได้เงินสด US$ 3,600 และได้พักแรมที่ Frangipani Langkawi Resort ประเทศมาเลเซีย เป็นมูลค่า US$ 1,000

 

เปิดรับสมัครเพื่อการประกวดชิงรางวัลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึง 31 ธันวาคม 2013 นี้ ท่านที่สนใจสามารถดูรายละเอียดทั้งหมดที่ http://www.aseanpeat.net

 

ป่าพรุในอาเซียนมีเป็นพื้นที่มากกว่า 60 ล้านไร่ มีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์และความหลากหลายทางชีวภาพในภูมิภาค เพราะเป็นป่าชุ่มน้ำที่มีพืชและสัตว์นานาพันธุ์ ความอุดมสมบูรณ์ของป่าพรุมีผลดีต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนเป็นอย่างสูงหากได้รับความรู้เรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ในยามแล้ง ป่าพรุขาดน้ำหล่อเลี่ยงก็ก่อให้เกิดปัญหาไฟป่าพรุที่ยากแก่การจัดการดับได้อย่างฉับพลัน เพราะเศษซากพืชและสัตว์ต้นไม้ใบไม้ที่ทับถมกันมาเป็นเวลายาวนาน 1,000-7,000 ปี อยู่ใต้ดินลึกเป็นดินที่มีความอ่อนหยุ่นยวบ คราใดที่เกิดไฟป่า ไฟใต้ดินใต้ป่าพรุจะเผาไหม้ยาวนาน เป็นปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนในอาเซียนเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะจากป่าอินโดนีเซียซึ่งมีป่าพรุมากที่สุดในอาเซียน ข้ามพรมแดนเข้ามาในสิงคโปร์ มาเลเซีย และประเทศไทยทางภาคใต้ ประเทศเหล่านี้รวมทั้งประเทศไทยด้วย ล้วนมีปัญหาไฟป่าในประเทศตนเองเป็นประจำ ทำให้อาเซียนต้องมีความตกลงว่าด้วยเรื่องมลภาวะจากหมอกควันข้ามพรมแดนอาเซียน (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution)

 

ป่าพรุในประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้และภาคตะวันออก ป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีเนื้อที่ประมาณ 125,520 ไร่ การจัดการป่าพรุในประเทศไทยเป็นที่รับรองกันทั่วไปในอาเซียนว่าทำได้ดีทั้งในด้านการศึกษาวิจัย การบริหารจัดการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการศึกษาวิจัยและอนุรักษ์ตามพระราชดำริที่พรุโต๊ะแดง ถือเป็นแบบอย่างที่ดีและประเทศไทยก็มักจะได้รับการเชิญให้ไปช่วยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับมิตรประเทศในอาเซียนอยู่เสมอ ๆ

 

ข้อมูลป่าพรุในประเทศไทย: http://chm-thai.onep.go.th/chm/Inlandwater/data/peat%20survey/index.html

 

สมเกียรติ อ่อนวิมล

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันพุธที่ 17 เมษายน 2556
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก