ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

โอกาสธุรกิจท่องเที่ยวไทยในอาเซียน - เออีซีกับ ม.หอการค้าไทย

วันที่ลงข่าว: 01/04/13

 

ใกล้ถึงจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญที่คนไทยและประเทศร่วมอาเซียนอีก 9 ประเทศ กำลังมุ่งหน้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบในปี 58 ทุกภาคธุรกิจ กำลังจับจ้องจุดเปลี่ยนผ่านนี้ จะกลายเป็น ’โอกาส“ หรือเป็น  ’วิกฤติ“ ต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเข้มแข็ง และสร้างรายได้มหาศาลให้ประเทศ จนกลายเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ  

 

ณ วันนี้ต้องยอมรับว่า เพื่อนร่วมอาเซียนอีก 9 ประเทศของไทยล้วนแต่มีจุดแข็งในเรื่องการท่องเที่ยวไม่แพ้ไทย มีสถานที่ท่องเที่ยวที่ยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และมีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีศิลปวัฒนธรรมสวยสดงดงาม หลายคนเป็นห่วงว่า จะกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยหรือไม่  

 

“ดร.สุทธาวรรณ จีระพันธุ์” ผู้อำนวยการหลักสูตรซีอีโอ-เอ็มบีเอ สาขาการจัดการ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ฉายภาพโอกาสธุรกิจท่องเที่ยวไทยในอาเซียน ผ่านรายการเศรษฐกิจติดจอทางช่องเดลินิวส์ทีวีว่า ทิศทางการท่องเที่ยวในแถบประเทศอาเซียน มีการขยายตัวที่สูงมาก มีนักท่องเที่ยวเดินทางในอาเซียนกว่า 80 ล้าน เดินทางเข้ามาในไทยกว่า 20 ล้านคน ซึ่งนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในไทยที่ได้รับความนิยม  จะเป็น 2 ลักษณะ คือ เดินทางมาท่องเที่ยวในเชิงสุขภาพ โดยไทยเป็นประเทศอันดับ 2 ของเอเชีย ที่ชาวต่างชาติเลือกที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในเชิงสุขภาพ รองจากประเทศสิงคโปร์ และประเทศอินเดีย อยู่ในอันดับ 3  

 

สำหรับสาเหตุที่ชาวต่างชาติมักเดินทางมาไทย เนื่องจากมองว่า คนไทยมีความสะอาด มีการให้บริการที่ดี และที่สำคัญคือ มีความคุ้มค่าในการรักษา และหลังจากรักษาแล้ว ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง เช่น ภูเก็ต กระบี่ เชียงใหม่ โดยส่วนใหญ่ เดินทางกันมาเป็นครอบครัว ทำให้สร้างรายได้ดีมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวในกลุ่มตะวันออกกลาง โดยมูลค่าตลาดการท่องเที่ยวในเชิงสุขภาพ แต่ละปีสูงมาก โดยทั่วโลกมีมูลค่าตลาดกลุ่มนี้สูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท และไทยมีมูลค่าตลาด 70,000 ล้านบาท และตอนนี้ประเทศมาเลเซีย กำลังสนใจเข้ามาส่งเสริมธุรกิจในกลุ่มนี้เช่นกัน 

 

ส่วนการท่องเที่ยวอีกประเภท คือ การท่องเที่ยวในเชิงศิลปวัฒนธรรม จากจุดนี้เอง ในปีที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ร่วมมือกันคัดผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวทั้ง 2 ลักษณะ ไปจับคู่ทางธุรกิจร่วมกับผู้ประกอบการในประเทศเมียนมาร์ เนื่องจากมองว่า ไทยและเมียนมาร์ มีความใกล้ชิด และการทำธุรกิจไม่ควรเป็นคู่แข่งกัน ควรสร้างเครือข่ายร่วมกัน เช่น หากเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย ก็จัดเป็นแพ็กเกจทัวร์ เดินทางไปถึงเมียนมาร์ด้วย เช่น กรุงเทพฯ– ย่างกุ้ง

 

ทั้งนี้จากการติดตามผลประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะเราเน้นผู้ประกอบการตัวจริง โดยครั้งนั้นมีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วม 70 ราย โดยเป็นผู้ประกอบการ 25 ราย ที่เหลือเป็นผู้ติดตาม ไปร่วมกับผู้ประกอบการเมียนมาร์ ซึ่งขณะนี้ยังมีการติดต่อดำเนินธุรกิจร่วมกัน    

 

อย่างไรก็ตามจากผลความสำเร็จดังกล่าว ทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งมีเครือข่ายทั้งหอการค้าไทย หอการค้าจังหวัดต่าง ๆ หอการค้าในประเทศต่างๆ สมาคมต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะร่วมกับสสว.  ดำเนินโครงการความร่วมมือเพิ่มศักยภาพในอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ (เวล เนสส์) ในกลุ่มสมาชิก เออีซี  โดยจะเริ่มจากกลุ่มประเทศที่มีความใกล้ชิดกัน คือ ไทย เมียนมาร์ กัมพูชา  ลาว เวียดนาม  เพื่อมาสร้างเครือข่ายร่วมกันในการทำธุรกิจร่วมกัน

 

ยกตัวอย่างเช่น การทำทัวร์ 3–4 ประเทศร่วมกัน ซึ่งจะทำให้ลูกค้ามีความคุ้มค่าในการซื้อจากผู้ประกอบการกลุ่มนี้ โดยของไทยจะเน้นจุดศูนย์กลางในภาคต่าง ๆ ที่มีสนามบินบินไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต และอุดรธานี รวมทั้งจัดงานจับคู่ทางธุรกิจระหว่างประเทศต่าง ๆ ให้ช่วยเหลือกัน  โดยหน้าที่ของมหาวิทยาลัย จะเป็นผู้อบรมให้ความรู้  จัดกลุ่มธุรกิจที่จะไปจับคู่กับผู้ประกอบการประเทศอื่น  

 

สำหรับกลุ่มเป้าหมายในอุตสาหกรรมเวล เนสส์ จะเป็นอุตสาหกรรมในภาพรวมในเรื่องทั้งการท่องเที่ยวและสุขภาพ เช่น กลุ่มโรงพยาบาล คลินิกเฉพาะทาง สถานพักฟื้น สถานฟื้นฟูสุขภาพ แพทย์แผนไทยแพทย์ทางเลือก ศูนย์สุขภาพ สปา ความงาม อาหารเสริม ธุรกิจไอที โรงแรม รวมถึงโฮมสเตย์ การท่องเที่ยว ล่าม บริษัททัวร์ มัคคุเทศก์ร้านอาหาร ร้านค้าสินค้าพื้นเมืองเชิงศิลปวัฒนธรรม ของที่ระลึก หัตถกรรม และโอทอป สถานที่ท่องเที่ยว การขนส่งโดยสารและโลจิสติกส์ สายการบิน รถทัวร์ รถเช่า ธนาคาร การประกันเดินทาง

 

ดร.สุทธาวรรณ  ยังได้บอกถึงจุดแข็งของไทยที่ได้เปรียบประเทศอื่น คือ  ไทยมีทำเลที่ตั้งที่ดี  เป็นจุดศูนย์กลาง มีการให้บริการที่ต่างชาติชื่นชอบ ทั้งสปา โรงแรม  มีอาหารหลากหลาย  มีสมุนไพรต่าง ๆ มีโครงสร้างพื้นฐาน  ระบบธนาคาร ที่อำนวยความสะดวก  มีสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ มีที่มีชื่อเสียง  ส่วนสิ่งที่ไทย ต้องเร่งปรับตัว คือ ภาษาอังกฤษ เป็นเรื่องสำคัญมาก  การศึกษาความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมของกลุ่มประเทศในอาเซียน การทำสินค้าและบริการต่าง ๆ เป็นมาตรฐาน เช่น อาหารฮาลาล ทุกธุรกิจควรมีเว็บไซต์เป็นภาษาอังกฤษ ช่องทางการติดต่อการซื้อขาย และข้อมูลข่าวสาร และตอนนี้ไทยเริ่มขาดแคลนนางพยาบาล 

 

“เราไม่ควรมองประเทศเพื่อนบ้านเราเป็นคู่แข่ง ถ้าหากเราเปลี่ยนมุมมองจากคู่แข่ง มาให้ความร่วมมือสร้างเครือข่ายร่วมกัน เพื่อผลักดันธุรกิจไปร่วมกัน เชื่อว่า ต่อไปประเทศไทยจะไม่ใช่มีนักท่องเที่ยวแค่ 20 ล้านคนแล้ว จะขยายตัวได้อีกหลายเท่าตัว” ดร.สุทธาวรรณ ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้.

 

จิตวดี เพ็งมาก

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ออนไลน์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก