ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

บันทึกอาเซียน : 45 ปี ประเทศไทย กับ อาเซียน [6] โดย สมเกียรติ อ่อนวิมล

วันที่ลงข่าว: 29/03/13

 

การเป็นประธานอาเซียน พ.ศ. 2551-2553 : การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14

 

ปีพุทธศักราช 2551 เป็นปีสำคัญสำหรับประเทศไทยในเรื่องงานที่เกี่ยวข้องกับอาเซียน เป็นปีที่วาระการเป็นประธานอาเซียนของสิงคโปร์จะสิ้นสุดลงในวันที่ 7 สิงหาคม 2551/2008 แล้วจากนั้นก็จะถึงวาระของไทย ในบทบาทประธานอาเซียน รอบปีปฏิทินของอาเซียน เริ่มนับวันแรกของปีที่วันเกิดอาเซียนเป็นวันแรกของปี คือวันที่ 8 สิงหาคม ของทุกปี การทำหน้าที่ประธานอาเซียนจะหมุนเวียนกันในหมู่รัฐสมาชิกทั้ง 10 ตามลำดับอักษรชื่อประเทศเป็นภาษาอังกฤษ สิงคโปร์ จึงจะต้องส่งต่อหน้าที่ประธานอาเซียนให้กับประเทศไทยได้รับภารกิจอันสำคัญนี้ต่อ ในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป

 

รัฐบาลไทย กระทรวงการต่างประเทศ และ กระทรวงทบวงกรม อื่นๆ ตลอดจนประชาชนชาวไทยเตรียมต้อนรับโอกาสพิเศษสุดนี้ล่วงหน้า นานนับปีแล้ว ประเทศไทย ประชาชนชาวไทยพร้อมต้อนรับอาเซียนกลับสู่มาตุภูมิ ด้วยความยินดีปรีดาเป็นที่สุด

 

วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2551 จึงเป็นวันเริ่มต้นปีแห่งการเป็นประธานอาเซียน ของไทย ตามวาระ 1 ปี

 

หากแต่ว่าการประกาศใช้กฎบัตรอาเซียนในปีนี้ทำให้การนับรอบปีปฏิทินของอาเซียนเปลี่ยนไปเป็นปีปฏิทินสากล โดยถือเอาวันที่ 1 มกราคม เป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ของอาเซียน ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงได้ทำหน้าที่ประธานอาเซียนจากวันที่ 8 สิงหาคม ไปถึง 31 ธันวาคม 2551 รวม 5 เดือน แล้วต่อไปนับปีใหม่กันใหม่โดยเริ่มที่วันที่ 1 มกราคม ทำให้ไทยได้ทำหน้าที่ประธานอาเซียนต่อไปจนสิ้นปี คือวันที่ 31 ธันวาคม 2552 รวมเวลาที่ได้เป็นประธานอาเซียนนานเป็นพิเศษ และเป็นครั้งเดียวเท่านั้นในประวัติศาสตร์อาเซียน และประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นจะไม่มีโอกาสแบบนี้อีกแล้ว ดั่งที่ไทยได้เป็นประธานอาเซียนเกิน 1 ปี ไปถึง 5 เดือน

 

โอกาสที่ไทยจะช่วยทำประโยชน์ให้กับอาเซียน ในฐานะประธาน จึงมีมากเป็นพิเศษ

 

ปีที่ไทยเป็นประธานอาเซียน เป็นจังหวะเวลาเดียวกันกับที่ตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน มาถึงวาระของไทยเป็นครั้งที่สอง หลังจากที่คุณแผน วรรณเมธี เป็นคนไทยคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน อันเป็นวาระหมุนเวียนตามลำดับชื่อประเทศ ระหว่างปี 1984-1986 มาแล้ว รัฐบาลไทย ส่ง ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นคนไทยคนที่สอง ให้ไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน วาระ 5 ปี จากปี 2008 ถึง 2012 การได้คนไทยเป็นเลขาธิการอาเซียน ในปีที่ไทยเป็นประธานอาเซียนด้วย รวมทั้งเป็นปีที่อาเซียนประกาศใช้กฎบัตรอาเซียนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 42 ปีของอาเซียน จึงเป็นการเริ่มต้นปีประธานอาเซียนของไทยอย่างพร้อมสรรพสมบูรณ์

 

กฎบัตรอาเซียน ลงนามโดยผู้นำรัฐบาลรัฐสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ปี ค.ศ. 2007 ที่สิงคโปร์ และเมื่อรัฐสมาชิกให้สัตยาบัน โดยผ่านกระบวนการรัฐสภาในแต่ละประเทศครบถ้วนแล้วในปลายปีถัดมา ในฐานะประธานอาเซียน ประเทศไทยจึงได้ไปจัดงานเฉลิมฉลองวันมีผลบังคับใช้กฎบัตรอาเซียนอย่างเป็นทางการ วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551/ค.ศ. 2008 โดยจัดงานที่สำนักเลขาธิการอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา

 

การทำหน้าที่ประธานอาเซียนของไทย เริ่มงานใหญ่คือการจักการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง 1 มีนาคม 2552/2009 ประเทศไทยประสบผลสำเร็จเป็นอย่างสูง มีความตกลง รับรอง และการประกาศผลงานและแนวทางสู่อนาคตของอาเซียนมากมายหลายเรื่อง ผู้นำ 10 ชาติสมาชิกอาเซียน มาร่วมประชุมกันภายใต้แนวคิดหลักของงานที่ประเทศไทยกำหนดให้ว่า “กฎบัตรอาเซียน เพื่อประชาชนอาเซียน” นับเป็นปีแรกในประวัติศาสตร์อาเซียน ที่มีการประกาศให้กฎบัตรอาเซียน มีผลบังคับใช้เสมือนกฎหมายสูงสุดของอาเซียน นับตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2008 / 2551 เป็นต้นไป จากนี้ไปอาเซียนจะทำงานร่วมกันโดยยึดกฎระเบียบอันเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นกรอบเชิงสถาบันที่จะทำให้อาเซียนทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่ และยึดประชาชนพลเมืองอาเซียนเป็นศูนย์กลาง อันจะนำไปสู่การสร้างประชาคมอาเซียนได้ตามเป้าหมายในปี 2015

 

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2009 หนึ่งสัปดาห์ก่อนการประชุมสุดยอดที่ชะอำ-หัวหิน ประเทศไทยก็เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศสมาชิกอาเซียนที่ภูเก็ต ซึ่งตกลงเร่งกระบวนการร่วมมือทางการเงินตามความริเริ่มเชียงใหม่แบบหลายฝ่ายร่วมกัน เพื่อต้านกระแสวิกฤติการเงินโลกด้วย โดยให้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งเป็นประเทศคู่ร่วมเจรจาในกรอบ “อาเซียน + 3” เป็นการพิเศษ และเร่งความร่วมมือกับสถาบันการเงินระหว่างประเทศต่างๆให้รวดเร็วอีกด้วย

 

อาเซียน และประเทศไทย ในฐานะประธานอาเซียน เรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบการเงินระหว่างประเทศอย่างเร่งด่วน เพื่อจะได้เอาใจใส่ดูและผลประโยชน์ของประเทศที่กำลังเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้น และประเทศที่อยู่ระหว่างกำลังพัฒนา ไปพร้อมๆกัน

 

ในระดับโลก อาเซียนเห็นพ้องต้องกับกับกลุ่ม 20 ประเทศอำนาจทางเศรษฐกิจในการที่จะต้องปฏิรูปตลาดและสถาบันการเงินระหว่างประเทศ และประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนก็จะได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดของกลุ่ม 20 ประเทศ หรือ G-20 ที่กรุง London ในวันที่ 2 เมษายน ปี 2009

 

ฯพณฯ กษิต ภิรมย์, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (2551-2554) กล่าวในการให้สัมภาษณ์ประกอบบทความนี้เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2553 ดังนี้:

 

“บทบาทองค์รวมของอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศ จะเป็นที่สหประชาชาติ หรือกลุ่ม G-20 เราก็พยายามให้อาเซียนมีการร่วมมือกันในประเด็นปัญหาของโลกหรือที่เรียกว่า global issues ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เราก็มีบทบาทนำในเรื่องดึงสหประชาชาติ ดึงมิตรประเทศ ประชาคมโลก เข้ามาช่วยเหลือเรื่องภัยพิบัตินากีสในประเทศพม่า เราพยามที่จะให้มีการประสานท่าที ว่าด้วยการแก้ไขประเด็นปัญหาภัยพิบัติ ที่เรียกว่า disaster management จนนำไปสู่การจัดตั้งศูนย์อาเซียนที่จาการ์ตา ที่อินโดนีเซีย และในขณะเดียวกันเราก็ได้ประกาศแล้วที่จะใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นที่ที่จะให้มีปฏิบัติการในระดับโลก ว่าด้วยการช่วยเหลือแก้ไขประเด็นปัญหาทางด้านภัยพิบัติ รวมทั้งเป็นที่ที่จะให้มีการฝึกอบรม เราพยายามให้อาเซียนร่วมกันมีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศทางด้านส่งเสริมสันติภาพ ที่เรียกว่า peace keeping หรือในเรื่องการปราบปรามโจรสลัด ตอนนี้เรามีเรือรบอยู่ใกล้ๆกับ Somalia สองลำ และเราก็เริ่มทยอยส่งทหารไปที่ Sudan ในกรณีปัญหา Darfur ต่าก็ไม่ใช่ที่ไทย เราจะทำเองเท่านั้น แต่ไทยก็อยากให้อาเซียนร่วมกันทำ และในอนาคตก็อาจจะร่วมกันเป็นกองกำลังสันติภาพ ติดธงสีฟ้าของสหประชาชาติ แต่่ว่ามีทหารร่วมกันจากอินโดนีเซีย จากมาเลเซีย จากไทย ก็ดี ก็เป็นทิศทางที่เราได้เพาะเชื้อไว้ ในการที่จะมีการร่วมให้อาเซียนมีบทบาทนำ ไม่ใช่เพียงแค่ลงมติร่วมกันที่สหประชาชาติ แต่ให้มีผลงานในการปฏบัติเป็นชิ้นเป็นอันในเรื่องการช่วยเหลือด้านการกู้ภัย ทางด้านมนุษยธรรม ทางด้านการรักษาความปลอดภัย ความมั่นคงของโลก แล้วร่วมกันในการที่จะปราบปรามพวกอาชญากรรมข้ามชาติด้วย”

 

ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14 ไทยผลักดันเรื่องความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงทางพลังงาน ทำให้อาเซียนมุ่งมั่นเตรียมพร้อมในการเร่งเพิ่มปริมาณการผลิตและการกระจายผลผลิตอาหาร โดยจัดการในเรื่องทรัพยากรและเทคโนโลยีให้พอเพียง และจะพัฒนากลไกตลาดมิให้เป็นอุปสรรคบิดเบือนการค้าสินค้าประเภทอาหาร ทำให้อาเซียนต้องเร่งความพยายามในการจัดตั้งองค์กรที่จะเป็นกลไกถาวร ที่เรียกว่า“กองทุนอาเซีัยน +3 สำรองข้าวในยามฉุกเฉิน” (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve - APTERR)

 

ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14 ที่ ชะอำ-หัวหิน ย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือด้านพลังงาน เพื่อเป็นการประกันความมั่นคงและยั่งยืนทางพลังงานที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ผ่านกระบวนการพัฒนา อนุรักษ์ และการแสวงหาแหล่งพลังงงานที่หลายหลายขึ้น ตลอดจนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสภาวะแวดล้อมให้กว้างขวางมากขึ้น เอกสารสำคัญที่ลงนามกันที่ชะอำ-หัวหิน ก็คือ “ความตกลงว่าด้วยความมั่นคงทางพลังงาน” (ASEAN Petroleum Security Agreement - APSA)

 

สมเกียรติ อ่อนวิมล

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก