ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

บันทึกอาเซียน : 45 ปี ประเทศไทย กับ อาเซียน [5] โดย สมเกียรติ อ่อนวิมล

วันที่ลงข่าว: 29/03/13

 

ในด้านสังคมและวัฒนธรรม ประเทศไทยร่วมมือกับอาเซียนแต่แรกเริ่ม นับแต่วันประกาศปฏิญญากรุงเทพ ก่อตั้งอาเซียน ประเทศไทยสนับสนุนให้อาเซียนสร้างความยุติธรรมและความมั่นคงทางสังคมคู่ขนานไปกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สนับสนุนการคงอัตลักษณ์ประจำชาติไว้ขณะที่จะต้องร่วมมือกันสร้างอัตลักษณ์อาเซียน จึงได้มีความร่วมมือทางสังคมและวัฒนธรรมในอาเซียนอย่างแข็งขันต่อเนื่องโดยตลอด

 

การส่งเสริมการศึกษาเรื่องอาเซียน ประเทศไทยสนับสนุนมาแต่แรกเริ่มอาเซียน ดังปรากฏในปฏิญญากรุงเทพ ปี 1967/2510 มาในปี 1995 ครั้งที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 5 ที่กรุงเทพฯ ปฏิญญาที่ประชุมสุดยอด 1995 ก็ประกาศว่า:

 

“อาเซียนจะต้องปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยกระบวนการพัฒนามนุษย์ เพื่อให้บรรลุศักยภาพสูงสุด มีขีดความสามารถที่จะช่วยและสร้างความก้าวหน้าให้กับสังคมในฐานะสมาชิกในสังคมที่มีผลงานและมีความรับรับผิดชอบ”

 

ประเทศไทยในฐานะสมาชิกอาเซียน เห็นว่าการศึกษา วิทยาศาสตร์ และ เทคโนโลยีเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนามนุษย์ ปฏิญญาที่ประชุมสุดยอด 1995 ประกาศว่า:

 

“อาเซียนจะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อให้ทันกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในโลก เพื่อจะได้มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่เหนือกว่าในเวทีเศรษฐกิจโลก”

 

อาเซียน จะต้องลงทุนในเรื่องทรัพยากรมนุษย์ สร้างขีดความสามารถเชิงสถาบันเพื่อการศึกษา วิจัย ฝึกอบรม การถ่ายทอดเทคโนโลยี  การสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายสถาบันการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ประเทศไทยสนับสนุนให้อาเซียนสร้างความตระหนักรู้ในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะในเหล่าเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพื่อปลูกฝังสำนึกในเรื่องจิตวิญญาณและอัตลักษณ์อาเซียน ใช้เทคโนโลยีรูปแบบต่างๆผ่านสื่อมวลชน การสื่อสารอื่น ผ่านกระบวนการศึกษา และการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในหมู่พลเมืองอาเซียน ประเทศไทยส่งเสริมเรื่องการศึกษาตามที่ประกาศในปฏิญญาที่ประชุมสุดยอดอาเซียนปี 1995 ต่อไปว่า อาเซียนจะต้องกำจัดการไม่รู้หนังสือให้หมดสิ้นไป และเดินหน้าสร้างสังคมที่มีการศึกษา มีความรอบรู้ดีกว่าเดิม ผ่านความร่วมมือเพื่อการพัฒนาการศึกษาต่างๆ แบบสหสาขาวิชาการ และให้พลเมืองอาเซียนได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยทั่วหน้ากันเป็นอย่างน้อยในด้านศิลปะ และ วัฒนธรรม

 

ปฏิญญาจากที่ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 5 ที่กรุงเทพฯประกาศว่าอาเซียนจะต้องพยายามอนุรักษ์และส่งเสริมมรดกทางศิลปะ และ วัฒนธรรม ให้เป็นส่วนแนบแน่นของชีวิต และจิตวิญญาณของอาเซียน เพื่อให้บรรลุซึ่งเป้าหมายนี้ อาเซียนจะต้องพยายามหล่อหลอมสรรค์สร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการแสดงออกเชิงสร้างสรรค์ในค่านิยมและวัฒนธรรม ทั้งตามแบบดั้งเดิม และที่เป็นงานร่วมสมัยของอาเซียน ขณะที่ยังคงยอมรับความเหมือนกันและความแตกต่างกันของวัฒนธรรมประเพณี อันเป็นแหล่งสร้างสรรค์ศิลปะอันยิ่งใหญ่

 

จากปี 1967/2510 ปี่ที่ราชอาณาจักรไทยเชิญชวน 4 มิตรประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาร่วมก่อตั้งอาเซียน โดยการประชุมปรึกษาหารือ และลงนาม บนแผ่นดินไทย ถึงปี 2007 / 2550 รวมเวลา 40 ปีเต็ม ไทยไม่เคยลดราในความพยามร่วมกับมิตรประเทศอาเซียน สร้างอาเซียนให้บรรลุเป้าหมายในการเป็นประชาคมหนึ่งเดียวกัน ให้เกิดความเจริญมั่งคั่ง สุขสมบูรณ์ สงบ สันติ สร้างชีวิตในประชาคมร่วมภูมิภาคเดียวกันให้เป็นสุขอย่างยั่งยืนสืบไป

 

สมเกียรติ อ่อนวิมล

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก