ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

บันทึกอาเซียน : 45 ปี ประเทศไทย กับ อาเซียน [3] โดย สมเกียรติ อ่อนวิมล

วันที่ลงข่าว: 29/03/13

 

แล้วสามปีข้างหน้าที่ว่านั้นก็มาถึงในปี 2538 ฯพณฯบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี คนที่ 21 ของไทยทำหน้าที่ประธานอาเซียน ประธานจัดงานการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 5 ในรอบ 28 ปี ของอายุอาเซียน เป็นการทำหน้าที่ประธานอาเซียนและหน้าที่เจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งแรกของไทย หลังจากที่ไทยเป็นเจ้าภาพริเริ่มการประชุมห้าชาติก่อตั้งอาเซียนเมื่อ 28 ปีก่อนหน้านี้ ราชอาณาจักรไทย ในฐานะประเทศผู้ให้กำเหนิดอาเซียน ต้องรอถึง 28 ปีกว่าโอกาสเป็นประธานอาเซียนจะมาถึง เพราะอาเซียนมีประเพณีการให้รัฐสมาชิกเป็นประธานอาเซียนเพื่อจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน เรียงลำดับและหมุนเวียนไปตามลำดับอักษรนำหน้าชื่อประเทศ และอาเซียนยังไม่พร้อมที่จะจัดการประชุมสุดยอดเป็นประจำทุกปี

 

การประชุมสุดยอดอาเซียน คือการประชุมระดับผู้นำประเทศหรือหัวหน้ารัฐบาล ได้แก่นายกรัฐมนตรี, ประธานธานาธิบดี, หรือประมุขของรัฐ (บรูไนดารุสซาลามมีองค์พระประมุขของรัฐคือสุลต่านแห่งบรูไน ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย) ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งสูงสุดยอดของฝ่ายบริหารประเทศ

 

การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 1 จัดที่บาหลี อินโดนีเซีย ปี 1976 หลังอาเซียนก่อตั้งไปแล้ว 9 ปี

 

ครั้งที่ 2 จัดที่ Kuala Lumpur ปี 1977 ปีต่อมาทันที

 

ครั้งที่ 3 ที่ Manila ปี 1987  ห่างกันถึง 10 ปี

 

ครั้งที่ 4  ปี 1992 ที่ Singapore หลังจากว่างเว้นไป 4 ปี

 

4 ปีถัดมาโอกาสการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนจึงเป็นของไทยเป็นครั้งแรก โดยจัดที่กรุงเทพมหานคร วันที่ 14-15 ธันวาคม 1995 เป็นการประชุมชุดยอดอาเซียนครั้งที่ 5 ในรอบ 28 ปี

 

ปี พ.ศ. 2538 เป็นปีมหามงคลสำหรับชาวไทยอีกด้วย เนื่องจากเป็นปีเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 50 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ฯพณฯนายกรัฐมนตรีบรรหาร ศิลปอาชา จึงได้กล่าวในสุนทรพจน์เปิดการประชุมว่าปี พ.ศ. 2538 นั้นเป็นปีแห่งความสุขสองเท่าสำหรับชาวไทย

 

ปีนี้เป็นปีที่อาเซียนต้อนรับเวียดนามเข้าร่วมสมาคม เป็นสมาชิกอาเซียนประเทศที่ 7 ล่าสุดและที่ประชุมได้รับสาส์นแสดงความยินดีและความปราถนาจะกระชับเพิ่มพูนความร่วมมือกับอาเซียนโดยตรงจากผู้นำสหพันธรัฐรัสเซีย สาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี หรือเกาหลีเหนือ

 

ผลงานสำคัญที่สุดของไทยในฐานะประธานและเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 5 นี้คือการผลักดันจัดการจนประสบความสำเร็จในการให้อาเซียนลงนามใน “สนธิสัญญาว่าด้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์” โดยรัฐบาลไทยสามารถเชิญนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ลาว และพม่า มาร่วมลงนามในสนธิสัญญาด้วย แม้จะยังมิได้เข้าเป็นสมาชิกอาเซียนก็ตาม

 

“สนธิสัญญาว่าด้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์” ทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดเป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ ครอบคลุมทุกประเทศในภูมิภาค (Brunei Darussalam, Cambodia, Indonesia, Lao, Malaysia, Myanmar, Philippines, Singapore, Thailand, Vietnam) ขยายอาณาบริเวณครอบคลุมเขตไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ในทะเลของทุกประเทศ การเป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์หมายถึงการห้ามพัฒนา ผลิต หรือครอบครองเป็นเจ้าของอาวุธนิวเคลียร์ ห้ามมิให้เป็นที่จอดพัก หรือขนส่งอาวุธนิวเคลียร์ผ่านอาณาเขต ห้ามการทดลอง หรือใช้อาวุธนิวเคลียร์ ห้ามมิให้ชาติอื่นนอกภูมิภาคเข้ามาใช้พื้นที่อาณาเขตเพื่อการพัฒนา ผลิต นำเข้ามาเก็บรักษา มีไว้ครอบครอง หรือได้อำนาจควบคุม เก็บรักษา หรือทดลองซึ่งอาวุธนิวเคลียร์ใดๆทั้งสิ้น ห้ามมิให้มีการทิ้งสารกัมมันตะรังสี หรือกากนิวเคลียร์ใดๆในอาณาเขตและในชั้นบรรยากาศ ไม่ว่าจะโดยรัฐในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือะเป็นรัฐอื่นๆนอกภูมิภาค

 

“สนธิสัญญาว่าด้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์” ต่อต้าน ขัดขวาง อาวุธนิวเคลียร์ทุกรูปแบบและทุกพื้นที่ในอาณาเขต แต่สนับสนุนการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ

 

ด้วยความริเริ่มจากไทย และการผลักดันของไทย โดยความร่วมมือเห็นชอบของรัฐสมาชิกอาเซียนและมิตรประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด จะปลอดอาวุธนิวเคลียร์ อันเป็นอาวุธที่มีพลานุภาพทำลายร้ายแรงที่สุดที่เป็นประดิษฐ์กรรมของมนุษยชาติ

 

การสร้างสันติภาพในอาเซียนเริ่มอย่างตรงทิศทาง มุ่งมั่น แน่นอน

 

ผลงานสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา เป็นครั้งแรกที่รัฐสมาชิกอาเซียนร่วมมือกันส่งเสริมการสร้างและปกป้องลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร  เครื่องหมายการค้า ผลงานการออกแบบอุตสาหกรรม แหล่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ข้อมูลที่ปกปิด และ แบบแผงวงจรรวมอิเลคทรอนิกส์

 

ถึงปีนี้ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการขยายผลเรื่องเขตการค้าเสรีอาเซียนก้าวหน้าไปตามลำดับ มีการลงนามในพิธีสารแก้ไขเพิ่มเติมความตกลงในเรื่องแผนงานการลดพิกัดอัตราภาษีศุลกากร โดยเฉพาะสินค้าทุน สินค้าที่เป็นผลผลิตอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตร แต่ก็ยังผ่อนปรนให้กับประเทศสมาชิกที่ยังต้องการเวลาฝนการปรับตัวด้วย

 

ในด้านความร่วมมือทางพลังงาน มีการแก้ไขความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานในอาเซียนที่ลงนามกันก่อนหน้าแล้วในปี 1986 ให้เร่งรัดความร่วมมือด้านพลังงานเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคให้ดีมากยิ่งขึ้น

 

ในสุนทรพจน์ปิดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 5 ซึ่งเป็นการจัดครั้งแรกของไทย ครั้งนี้ ฯพณฯนายกรัฐมนตรีบรรหารศิลปอาชา กล่าวว่า:

 

“การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 5 เป็นอีกหมุดหมายหนึ่งในเรื่องความร่วมมือในภูมิภาคของเรา อาเซียนตกลงกันว่าจะกำหนดทิศทางใหม่ เพื่อจะได้เป็นพลังหลักในการรักษาและส่งเสริม สันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค เราได้กำหนดแนวทางไว้ชัดเจนในการเร่งและผนึกกำลังกันให้แน่นเหนียวในความร่วมมือทุกสาขา เป้าหมายของเรานั้นชัดเจน นั่นก็คือ ชาติอาเซียนทั้งมวลยืนยันมั่นมุ่งที่จะสร้างสันติภาพและความเจริญมั่งคั่งให้กับประชนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแน่แท้ ปฏิญญาที่ประชุมสุดยอดที่กรุงเทพฯที่ลงนามกันไปเมื่อตอนบ่ายนี้เป็นเอกสารอันละเอียดสมบูรณ์ที่กำหนดทิศทางและอัตราความเร็วในการเดินทางสำหรับ กระบวนการร่วมมือในอาเซียน ดั่งนี้แล้ว ก็จะเป็นการช่วยนำทางให้อาเซียนก้าวไปสู่จุดแห่งความแข็งแกร่งในศตวรรษหน้า”

 

สมเกียรติ อ่อนวิมล

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก