ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

บันทึกอาเซียน : 45 ปี ประเทศไทย กับ อาเซียน [1] โดย สมเกียรติ อ่อนวิมล

วันที่ลงข่าว: 29/03/13

 

บทบาทไทยในอาเซียน ด้านการเมืองและความมั่นคง

 

วันที่ 8 สิงหาคม 2555/2012 เป็นวันที่สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations) หรือ “อาเซียน” (ASEAN) มีอายุครบ 45 ปี บริบูรณ์ ราชอาณาจักรไทย ในฐานะผู้ริเริ่มความคิดก่อตั้งอาเซียนได้ร่วมทำงานกับรัฐสมาชิกอาเซียนทั้งหลายมาด้วยความราบรื่นเป็นสวนใหญ่ และอาจมีการสะดุดบ้างในบางครั้งบนเส้นทางแห่งความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียน ที่นับวันจะมีบทบาทและมีน้ำหนักมากขึ้นในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในโลก

 

ผลงานชิ้นแรกที่ประเทศไทยทำให้กับอาเซียน คือการให้กำเหนิดอาเซียน บุคคลผู้ที่เป็นต้นกำเหนิดความคิดเรื่องอาเซียน ก็คือพันเอก (พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คนที่ 20 ของไทย รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ ฯพณฯนายกรัฐมนตรีจอมพลถนอม กิตติขจร เชิญรัฐมนตรีจากมิตรประเทศเพื่อบ้านในภูมิภาค 4 ประเทศมาร่วมประชุมหาทางรวมกลุ่มความร่วมมือกันในภูมิภาค อันจะนำไปสู่การก่อตั้งองค์กร หรือสมาคมของ 5 ประเทศร่วมกัน

 

เช้าวันพฤหัสบดีที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2510 ฯพณฯ S. Rajaratnam รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ เดินทางมาถึงสนามบินดอนเมือง กรุงเทพฯมหานคร เป็นคนแรก

 

ค่ำวันเดียวกัน ฯพณฯ Narciso Ramos รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐฟิลิปิินส์ เดินทางมาถึงเป็นคนที่สอง

 

เช้าวันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม ฯพณฯ Adam Malik รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย และ ฯพณฯ Tun Abdul Razak รองนายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐมาเลเซีย เดินทางมาถึงในเวลาใกล้เคียงกัน

 

ทันที ในวันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม รัฐบาลไทยก็เชิญรองนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย, รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ ไปพักที่บ้านพักรับรองเขาสามมุข บางแสนชลบุรี ส่วนรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียตามไปในวันรุ่งขึ้น ด้วยการเชื้อเชิญจากประเทศไทย รัฐมนตรีผู้เป็นตัวแทนของอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, และ สิงคโปร์ ประชุมหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ณ บ้านแหลมแท่น และพักแรมที่บ้านเขาสามมุข ชายหาดบางแสน จังหวัดชลบุรี ระหว่างบ่ายวันศุกร์ที่ 4  ถึง บ่ายวันอาทิตย์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2510 / ค.ศ. 1967 ในที่สุดก็สมารถตกลงกันได้ในหลักการก่อตั้งสมาคม 5 ชาติเพื่อความร่วมมือในภูมิภาค ความรู้สึกนึกคิดและอุดมการณ์ร่วมมกันที่ได้จาก 3 วันแห่งการหารือกันอย่างใกล้ชิด เป็นกันเอง ที่บางแสน ท่ามกลางบรรยากาศที่สงบ สวยงาม ร่มรื่น จึงเรียกว่า “The Spirit of Bangsaen” หรือ “จิตวิญญาณแห่งบางแสน”

 

จากบางแสน กลับกรุงเทพมหานคร แล้วในวันรุ่งขึ้น วันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม ก็มีประชุมต่ออย่างเป็นทางการ ณ กระทรวงการต่างประเทศ วังสราญรมย์

 

เวลา 10:50 เช้าวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 / ค.ศ. 1967 ณ กระทรวงการต่างประเทศ วังสราญรมย์ กรุงเพทฯ รัฐมนตรีทั้ง 5 ลงนามในเอกสารก่อตั้งสมาคม 5 ประเทศเพื่อความร่วมมือในภูมิภาค เรียกว่า

 

“ASEAN Declaration” หรือ “ปฏิญญาอาเซียน”

เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า

“Bangkok Declaration” หรือ “ปฏิญญากรุงเทพ”

 

ประเทศแรกร่วมก่อตั้ง มี 5 รัฐสมาชิก ที่มาร่วมประชุมและลงนามในปฏิญญาก่อตั้งอาเซียนกันที่ประเทศไทย คือ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สาธารณรัฐฟิลิปปินส์, สาธารณรัฐสิงคโปร์, และ ราชอาณาจักรไทย

 

วันที่ 8 สิงหาคม ปี 2510/1967 อันเป็นวันลงนามประกาศปฏิญญากรุงเทพก่อตั้งอาเซียน ถือเป็นเป็นวันกำเหนิดอาเซียน และมีการเฉลิมฉลองวันนี้ เรียกว่า “ASEAN DAY” หรือ “วันอาเซียน” เป็นประจำทุกปี ในทุกประเทศสมาชิก ประเทศไทย จึงได้ชื่อและได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศต้นคิดริเริ่มก่อตั้งอาเซียน เป็นผลงานชิ้นแรก และชิ้นสำคัญที่สุดของประเทศไทย ของประชาชนชาวไทย และ รัฐบาลไทย

 

ประเทศไทย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, และ สิงคโปร์ ถือเป็นประเทศผู้ร่วมก่อตั้งอาเซียน จากนั้นก็มีประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้ามาร่วมเป็นรัฐสมาชิกอาเซียนอีก 5 ประเทศ คือ:

 

บรูไน ดารุสซาลาม เข้าเป็นสมาชิกอาเซียน วันที่ 8 มกราคม 1984

สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม วันที่ 28 กรกฎาคม 1995

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว วันที่ 23 กรกฎาคม 1997

สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า วันที่ 23 กรกฎาคม 1997

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและราชอาณาจักรกัมพูชา เข้าเป็นสมาชิกอาเซียน เป็นสองประเทศล่าสุดในวันเดียวกัน ค่อวันที่ 30 เมษายน 1999

 

เหลือเพียง Timor Leste หรือ ติมอร์ตะวันออก เพียงประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีสถานภาพเป็นประเทศผู้ได้รับเชิญเข้าร่วมสังเกตุการณ์การประชุม แต่ยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกอาเซียน

 

สี่ทศวรรษแรกของอาเซียน ที่ประเทศไทยได้ริเริ่มบุกเบิกนำทาง ประเทศไทยมีบทบาทสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ๆ และร่วมกิจกรรมอันกว้างขวางหลากหลาย จรรโลงความร่วมมือในภูมิภาค จนอาเซียนเติบโต ก้าวหน้า สามัคคี รุ่งเรือง ต่อเนื่องมา

 

บทบาทไทยในอาเซียน ด้านการเมืองและความมั่นคง

 

การที่ประเทศไทยริเริ่มก่อตั้งอาเซียนในปี 1967 เป็นจุดเริ่มของความมั่นคงทางการเมืองไม่เพียงแต่ในหมู่รัฐสมาชิกทั้ง 5 เท่านั้น หากแต่เป็นการเริ่มก่อร่างสร้างความร่วมมือเพื่อความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยส่วนรวมด้วย ทันทีหลังจากการประกาศปฏิญญากรุงเทพ ก่อตั้งอาเซียนในวันที่ 8 สิงหาคม 1967/2510 แล้ว งานเริ่มแรกที่ตกลงกันก็คือ:

 

1. ให้มีคณะกรรมการประจำพิจารณาข้อเสนอบางประการเกี่ยวกับความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่นการท่องเที่ยว การขนส่งทางเรือและการประมง และวีธีทางที่จะขยายการค้าในส่วนภูมิภาค

 

2. ประกาศวัตถุประสงค์ของอาเซียน 7 ประการ:

 

1) เพื่อเร่งรัดความเจริญ ทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางสังคม และการพัฒนาทางวัฒนธรรม ในส่วนภูมิภาค เพื่อเสริมรากฐานสำหรับประชาชนที่มีความรุ่งเรืองและสันติสุขแห่งสหประชาชาติ

(2) ส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค โดยเคารพแน่วแน่ในความยุติธรรมและหลักแห่งเนติธรรมในการดำเนินความสัมพันธ์และกฎบัตรสหประชาชาติ

(3) ส่งเสริมความร่วมมือจริงจังในด้านเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม วิชาการวิทยาศาสตร์และการ บริหาร

(4) จัดให้มีความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในรูปของการอำนวยความสะดวกทางการฝึกอบรมและวิจัย ด้านการศึกษา, วิชาชีพ, วิชาการ, และการบริหาร

(5) ร่วมมือเพื่อประโยชน์ในการเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม

(6) ส่งเสริมการศึกษา

(7) ดำรงไว้ซึ่งความร่วมมืออย่างใกล้ชิดและมีประโยชน์กับองค์การระหว่างประเทศส่วนภูมิภาคที่มีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกัน

 

40 ปีแรกของอาเซียน ประเทศไทยมีบทบาทนำอาเซียนไปสู่ความมั่นคงทางการเมือง ด้วยการยึดมั่นในการทำงานเพื่อวัตถุประสงค์หลักทั้ง 7 ข้อนี้อย่างต่อเนื่อง  ยังผลให้อาเซียนบรรลุความตกลงเรื่องสันติภาพและความมั่นคงทางการเมืองในภูมิภาคอาเซียนหลายเรื่อง:

 

1. ปฏิญญาว่าด้วยเขตแห่งสันติภาพ อิสรภาพ และความเป็นกลาง (ปฏิญญากัวลาลัมเปอร์) กัวลาลัมเปอร์, 27 พฤศจิกายน 2514 [Zone of Peace, Freedom and Neutrality Declaration (Kuala Lumpur Declaration), Kuala Lumpur, 27 November 1971]

 

2. ปฏิญญาว่าด้วยมิตรไมตรีอาเซียน (มิตรไมตรีบาหลี I) บาหลี, 24 กุมภาพันธ์ 2519 [Declaration of ASEAN Concord (Bali Concord I), Bali, 24 February 1976]

 

3. สนธิสัญญาว่าด้วยสัมพันธไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, บาหลี, 24 กุมภาพันธ์ 2519 [Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia, Bali, 24 February 1976]

 

4. สนธิสัญญาว่าด้วยเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, กรุงเทพฯ, 15 ธันวาคม 2538 [Treaty on the Southeast Asia Nuclear Weapon-Free  Zone, Bangkok, 15 December 1995]

 

5. วิสัยทัศน์อาเซียน 2020, กัวลาลัมเปอร์, 15 ธันวาคม 2540 [ASEAN Vision 2020, Kuala Lumpur, 15 December 1997]

 

6. ปฏิญญาว่าด้วยมิตรไมตรีอาเซียน II (มิตรไมตรีบาหลี II) [Declaration of ASEAN Concord II(Bali Concord II), Bali, 7 October 2003]

 

7. ปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคีรัฐในทะเลจีนใต้, พนมเปญ, 4 พฤศจิกายน 2545 [Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea, Phnom Penh, 4 November 2002]

 

8. กฎบัตรสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้,(กฎบัตรอาเซียน) สิงคโปร์, 20 พฤศจิกายน 2550 [Charter of the Association of Southeast Asian Nations (ASEAN Charter), Singapore, 20 November 2007]

 

9. การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมือง และ ความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 2537 [ASEAN Regional Forum - ARF, 1994 ]

 

บทบาทไทยในอาเซียนด้านการเมืองและความมั่นคง ขยายกรอบกว้างออกไปครอบคลุมภาคพื้นทวีปเอเชียทั้งหมดและประเทศชายฝั่งมหาสมมุทรแปซิฟิก ด้วยการเวทีเจรจาหารือใหม่เรียกว่า “การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก” หรือ “ASEAN Regional Forum “ เรียกย่อว่า ARF ด้วยความคิดริเริ่มจากประเทศไทย ประเทศอื่นๆที่มิใช่สมาชิกอาเซียนแต่อยู่ในภูมิภาคที่เกี่ยวข้องเชื่อมต่อกันและมีผลประโยชน์ที่ควรจะต้องหารือร่วมกันจึงได้รับเชิญเข้าร่วมกับอาเซียนในการประชุมประจำปีระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ โดยการประชุมครั้งแรกนั้นประเทศไทยเป็นเจ้าภาพและเป็นประธานจัดการประชุมที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2537 | 1994 ต่อมาไทยก็เป็นประธานจัดการประชุมอีกครั้ง ในการประชุม ARF ครั้งที่ 7  วันที่ 27 กรกฎาคม 2543 สมาชิก ARF ณ ปี 2554 มี 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน กับ สหภาพยุโรป และ ประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกอีก16 ประเทศ ดังนี้:

 

Australia

Bangladesh

Brunei Darussalam

Cambodia

Canada

China

European Union

India

Indonesia

Japan

Democratic Peoples' Republic of Korea

Republic of Korea

Laos

Malaysia

Myanmar

Mongolia

New Zealand

Pakistan

19. Papua New Guinea

20. Philippines

21.Russian Federation

22.Singapore

23.Sri Lanka

24.Thailand

25.Timor Leste

26.United States

27.Vietnam

 

หากนับจำนวนรัฐสมาชิกของสหภาพยุโรปซึ่งมี 27 ประเทศ ในปี 2011 รัฐสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศอื่นอีก 16 ประเทศ กรอบความร่วมมือ ARF มีประเทศที่เกี่ยวข้องรวมกันถึง 53 ประเทศผ่านกรอบความร่วมมือในที่ประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมือง และ ความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกประเทศไทยได้ร่วมกับสมาชิก ARF สร้างบรรทัดฐานใหม่ของการทูตเชิงป้องกัน ทำทั้งงานประชุมร่วมมือในภาครัฐระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูง และทั้งภาควิชาการ ARF ทำงานใน 3 ขั้นตอน

 

ขั้นตอนที่ 1 การส่งเสริมมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ

ขั้นตอนที่ 2  การพัฒนาการทูตเชิงป้องกัน 

ขั้นตอนที่ 3 การพัฒนากลไกสำหรับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง

 

ประเทศไทยทำงานเป็นแกนหลักในกิจกรรมต่างๆของ ARF รวมทั้งเรื่องการป้องกันการก่อการร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเกิดเหตุการณ์ วันที่ 11 กันยายน 2001 (9/11) นอกจากนั้นก็มีเรื่องการรักษาสันติภาพในภูมิภาค, การบรรเทาภัยพิบัติในเอเชีย-แปซิฟิก, การโน้มน้าวเกาหลีเหนือให้เข้าร่วมประชุมกับ ARF เพื่อความสงบสันติในภูมิภาคเอเชียตะวันออก, รวมถึงกิจกรรมกลุ่มประชุมก่อนและหลังการประชุมใหญ่ ARF ว่าด้วยมาตรการสร้างความมั่นใจระหว่างรัฐด้วยกัน [Inter-sessional Group on Confidence-Building Measures (ISG-CBM)]

 

โปรดติดตามตอน [2] สัปดาห์หน้า

 

สมเกียรติ อ่อนวิมล

 

ข่าวประจำวัน : 17 August 2012

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก