ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

มทร.อีสานเปิดประตูสู่อาเซียน

วันที่ลงข่าว: 29/03/13

 

ศาสตร์ศิลป์ ถิ่นน้ำโขง มทร.อีสานเปิดประตูสู่อาเซียน

ในปี พ.ศ.2558 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยประชาคมอาเซียนได้วางเสาหลักสำคัญไว้ 3 เสา คือประชาคมความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน จากข้อมูลของกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนจะมุ่งเน้นให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดี ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีสิ่งแวดล้อมที่ดีและมีความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยเน้นการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจระหว่างประเทศสมาชิกในด้านความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ มรดกทางวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ระดับภูมิภาคร่วมกัน

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) ได้เล็งเห็นความสำคัญของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน จึงได้จัดโครงการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมภูมิภาคลุ่มน้ำโขงขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้ ณ บริเวณคุรุสัมมนาคาร มทร.อีสาน และลานกิจกรรมอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เพื่อให้ตัวแทนนักศึกษาจากทั้ง 6 ประเทศภูมิภาคลุ่มน้ำโขง นำโดยจีนตอนใต้ (ยูนนาน) พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย นำความหลากหลายและคล้ายคลึงกันในด้านเชื้อชาติ ศาสนา ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม สังคม และเศรษฐกิจ มาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เรียนรู้วิถีชีวิต และสร้างมิตรภาพที่ดีต่อกัน โดยใช้ศิลปวัฒนธรรมเป็นตัวเชื่อมโยง

นักศึกษาทั้ง 6 ประเทศได้ร่วมกันอภิปราย การเสวนาโดยผู้ทรงคุณวุฒิและตัวแทนนักศึกษาในหัวข้อต่างๆ เช่น ศาสตร์ศิลป์ ถิ่นน้ำโขง ศิลปวัฒนธรรมภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหัศจรรย์วัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง และเยาวชนกับการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมภูมิภาคลุ่มน้ำโขง นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการภาพถ่าย การประกวดวาดภาพของนักเรียนโรงเรียนต่างๆ และการแสดงด้านศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่น ซึ่งสร้างสีสันให้แก่งานเป็นอย่าง สุดท้ายมีพิธีบายศรีสู่ขวัญ และชมการแสดงทางวัฒนธรรมจาก 6 ประเทศ

ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง รักษาราชการแทนอธิการบดี มทร.อีสาน กล่าวว่า มทร.อีสานเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีภารกิจสำคัญนอกเหนือจากการเรียนการการสอนการวิจัยแล้ว เพื่อเป็นการสืบสานอนุรักษ์เผยแพร่ผลงานศิลปวัฒนธรรมให้ดำรงคงอยู่ตลอดไป มหาวิทยาลัยจึงเห็นว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงและเพิ่มความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ ทำให้นักศึกษาและประชาชนเกิดความรู้สึกที่ดีต่อกันเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตลอดจนการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยให้เป็นที่รู้จัก และเกิดความเข้าใจอันดีของประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

ด้าน ผศ.ชูชัย ต.ศิริวัฒนา รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มทร.อีสาน กล่าวว่า "โครงการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มทร.อีสานได้เชิญตัวแทน นักศึกษา และคณาจารย์ สถาบันละ 30 คน จาก 6 ประเทศ รวมประเทศไทย เข้าร่วมงานโดยมีจุดประสงค์เพื่อให้อาจารย์ นักศึกษาของ มทร.อีสาน และของมหาวิทยาลัยประเทศภูมิภาคลุ่มน้ำโขงได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตระหนักถึงคุณค่าด้านศิลปวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้ทำกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมกัน รวมทั้งเพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ชื่อเสียงของ มทร.อีสาน และเพื่อให้นักศึกษาของ มทร.อีสานเกิดความเข้าใจในการเป็นประชาคมลุ่มน้ำโขง"

นายธนากร พลทำ นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มทร.อีสาน กล่าวว่า “จากการพบปะเพื่อนๆ ที่มาจากประเทศต่างๆ รู้สึกดีและรับรู้ถึงความเป็นมิตร และได้เห็นศิลปวัฒนธรรมที่สวยงามของประเทศต่างๆ นอกจากนี้ยังได้รับมอบหมายให้ดูแลเพื่อนนักศึกษาจากประเทศจีนด้วย”

ด้าน น.ส.โศภา แซ่เอี้ยว นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ มทร.อีสาน กล่าวว่า " รู้สึกดีใจ ที่ได้ร่วมงานในครั้งนี้ โดยได้รับมอบหมายให้เป็นหนึ่งในผู้อภิปรายมหัศจรรย์ลุ่มแม่น้ำโขง เนื้อหาเกี่ยวกับ ภาษาของ 6 ประเทศลุ่มน้ำโขง และจากการพบปะกับเพื่อนๆ นักศึกษาจาก 5 ประเทศ รับรู้ถึงมิตรภาพที่เพื่อนๆ ได้มอบให้ แม้จะมีอุปสรรคทางการสื่อสารอยู่บ้างก็ตาม"

แม้จะเป็นเพียงก้าวแรกสำหรับการจัดโครงการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมภูมิภาคลุ่มน้ำโขง  ผลสัมฤทธิ์อาจจะยังไม่ปรากฏเป็นรูปธรรมในทันทีทันใด แต่ก็นับเป็นการเริ่มต้นที่ดี ที่ประเทศต่างๆ จะได้ใช้ศิลปวัฒนธรรม เพื่อเชื่อมโยงสานสัมพันธ์ประเทศภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และประเทศสมาชิก ในสมาคมอาเซียนเข้าไว้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

 

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก