ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ศธ.เต้นครูสอน"เออีซี"แค่แต่งกาย-ที่ตั้ง

วันที่ลงข่าว: 29/03/13

 

เนื้อหาอื่นไม่สอนอ้างนอกหลักสูตร "สมพงษ์"ชี้เปิดเสรีอาเซียนมีเด็กไทย20%ได้ประโยชน์

 

ผลตรวจราชการ ศธ.ชี้ชัดโรงเรียนเตรียมตัวให้นักเรียนรู้จักประชาคมอาเซียนน้อยมาก "บัณฑิต" เผยครูสอนแค่การแต่งกาย ที่ตั้งประเทศสมาชิก ซึ่งเป็นเนื้อหาหนึ่งในวิชาสังคมฯ ส่วนเนื้อหาเออีซีอื่นๆ ไม่สอน เพราะนอกหลักสูตร เสนอหน่วยงานต้นสังกัดแก้ปัญหาแล้ว ส่วน อ.สมพงษ์ชี้มีเด็กไทยได้ประโยชน์จากเออีซี 15-20% ที่เหลือ 80% ตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กด้อยโอกาส ที่ทั้งประเทศมีมากถึง 5 ล้านคน 

นายบัณฑิต ศรีพุทธางกูร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และสถานศึกษาในสังกัด ศธ.ต่างๆ พบสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ การเตรียมพร้อมนักเรียนเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในปี 2558 โดยเฉพาะครูผู้สอนที่พบว่าเตรียมตัวน้อยมาก อย่างที่สอนอยู่ก็เป็นเนื้อหาแค่วัฒนธรรมการแต่งกาย หรือภูมิประเทศที่ตั้ง ซึ่งมีสอนอยู่ในวิชาสังคมศึกษา

ดังนั้นจึงกำชับให้ทุกสถานศึกษา และ สพท.ที่ได้ตรวจเยี่ยม เร่งเสริมองค์ความรู้นอกตำราให้กับนักเรียน อย่างวัฒนธรรมต้องห้าม อาทิ ประเทศอินโดนีเซีย ห้ามลูบศีรษะเด็กผู้หญิงและผู้ชาย เพราะถือเป็นของสูง ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรรู้ เพราะวัฒนธรรมไทยถือเป็นการแสดงความเอ็นดู หรือวัฒนธรรมห้ามใช้นิ้วชี้ชี้ไปที่ตัวคน เพราะถือเป็นการดูหมิ่น และห้ามรับของด้วยมือซ้าย เพราะถือเป็นมือข้างที่สกปรก ซึ่งองค์ความรู้นอกตำราเรียนเหล่านี้จำเป็นสำหรับเด็กไทย เมื่อต้องเคลื่อนย้ายไปเรียนต่อหรือประกอบอาชีพในอนาคต

“จากการประเมินสถานศึกษาด้านการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของหน่วยงานต่างๆ อาทิ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ผู้ตรวจ ศธ. หรือ ศธ.ก็เห็นตรงกันว่า มีความคิดเรื่องนี้น้อยมาก และทุกครั้งที่ผมได้ไปเยี่ยมชมและพบเห็นจุดอ่อนในด้านนี้ ก็ได้ให้สถานศึกษาและเขตพื้นที่ฯ รีบแก้ไข แต่พบว่าพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงของครูผู้สอนมีน้อยมาก เพราะครูจะยึดแบบเรียนเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เพิ่มเติมความรู้นอกหลักสูตรให้เด็ก ซึ่งการเรียนที่ยึดแบบเรียนเพียงอย่างเดียว ก็จะตามหลังประเทศอื่นๆ อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ได้สรุปจุดอ่อนเสนอต้นสังกัดสถานศึกษาเหล่านี้พิจารณาปรับปรุงตามความเหมาะสมแล้ว” นายบัณฑิตกล่าว          

ด้าน รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษาคณะกรรมการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เปิดเผยว่า ตนคาดการณ์ว่าหลังจากเปิดเออีซีในปี พ.ศ.2558 จะมีเด็กไทยได้ประโยชน์ 15-20% ขณะที่เด็กอีก 80% อยู่ในสถานการณ์เสี่ยง โดยเฉพาะเด็กด้อยโอกาส ฐานะยากจน จะกลายเป็นเหยื่อ ซึ่งจากข้อมูลวงจรชีวิตเด็กด้อยโอกาสในพื้นที่ราบสูง พบว่า หัวหน้าครอบครัวมีฐานะยากจน เพราะจบการศึกษาต่ำกว่ามัธยม ขณะที่เด็กกลุ่มนี้ก็มีปัญหาทางสุขภาพที่ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อยและขาดสารไอโอดีน ทำให้มีไอคิวต่ำ รวมถึงปัญหาการเดินทางมาโรงเรียน สุดท้ายจึงหลุดจากระบบการศึกษา

ดังนั้น ทางแก้ปัญหาคือรัฐต้องสนับสนุนให้ได้เรียนฟรี 15 ปี พร้อมทั้งอุปกรณ์ ขณะที่หลักสูตรการเรียนการสอนควรเน้นการเรียนทักษะทางอาชีพและทักษะชีวิตเพื่อการมีงานทำ ดีกว่าเน้นทักษะทางวิชาการที่ยังไงก็แข่งขันสู้เด็กเมืองกวดวิชาไม่ได้ ทั้งนี้ ไม่ควรใช้ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต เป็นตัวตัดสินการประเมินวิทยฐานะครูเพียงอย่างเดียว เพราะแต่ละโรงเรียนมีการจัดการเรียนการสอนที่ต่างกัน จึงไม่ควรใช้ระบบวัดจากลู่เดียว ซึ่งเป็นการทำลายลูกหลานของเราโดยไม่รู้ตัว

ดร.ไกรยส ภัทราวาท นักวิเคราะห์นโยบายด้านการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. กล่าวว่า จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลวิจัยทางวิชาการ สสค. ในปี พ.ศ.2554 พบว่า ปัจจุบันเรามีเด็กที่ขาดโอกาสกว่า 5 ล้านคน หรือเฉลี่ย 900 คน/ตำบล ประกอบด้วย เด็กยากจน 3 ล้านคน พิการ 1.7 ล้านคน และอยู่ในพื้นที่ห่างไกลอีกหลายแสนคน ซึ่งหากไม่มีการแก้ปัญหาเด็กด้อยโอกาสจะส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึงปีละ 12,000 ล้านบาท/จังหวัด คำนวณจากรายได้ที่สูญเสียไปจากโอกาสในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน.

 

 

 

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 4 ตุลาคใ 2555
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก